มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
เลขที่ ๖๖/๑๑ ถ. พุทธมณฑลสาย ๔ ต. ศาลายา อ. พุทธมณฑล จ. นครปฐม โทร . ๔๔๑๙๙๕๘
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
๑. เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรมปิฎก๒. เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ด้านสาธารณกุศล
มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีมูลเหตุมาจาก อาจารย์บุญมีเมธางกูร ผู้ซึ่งเป็นกรรมการธรรมศึกษา ของพุทธสมาคม แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับผิดชอบงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่สมาชิกของสมาคมและประชาชน ท่านได้พิจารณาว่า พระอภิพรรมปิฎกนั้นมีคุณค่าและสาระประโยชน์แก่ชีวิตของผู้ศึกษาอย่างยิ่ง ท่านมีเจตนาที่จะเผยแพร่ พระอภิธรรม ออกสู่ประชาชนให้กว้างขวาง จึงเริ่มก่อตั้งโรงเรียนบรรยายพระอภิธรรมขึ้น ณ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๗๖ เป็นต้นมา โดยจัดให้มีการแสดงปาฐกถาทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้งเช้าและบ่าย โดยเชิญอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ พระชาญบรรณกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิจากที่ต่างๆ ไปเป็นวิทยากรบรรยายสับเปลี่ยนกันไป แต่การเผยแพร่ความรู้ด้านพระอภิธรรมช่วงนั้นไม่สะดวก เนื่องจากพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยมีงานหลายด้าน จึงไม่อาจส่งเสริมการสอนพระอภิธรรมได้อย่างจริงจัง อาจารย์บุญมี ได้ปรึกษากับคณาจารย์และนักศึกษาหลายท่าน ซึ่งทุกท่านต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์สมควรตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อเผยแพร่พระอภิธรรมโดยตรง จึงได้ดำเนินการเพื่อขออนุญาตจัดตั้งมูลนิธิ "อภิธรรมมูลนิธิ" เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ตามใบอนุญาต เลขที่ ต.๓๒/๒๕๐๐
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สถานที่ทำการของอภิธรรมมูลนิธิอยู่ที่บ้านเลขที่ ๓๐๑ ข้างวัดดุสิตตาราม (เสาประโคน) อ. บางกอกน้อย จ. ธนบุรี แต่การบรรยายพระอภิธรรมยังคงใช้สถานที่ของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย นับแต่นั้นมางานเผยแพร่พระอภิธรรมได้ก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ มีผู้สนใจรับฟังการบรรยายมาก แต่ยังขาดสถานที่ปฏิบัติธรรมคณะกรรมการจึงได้ดำริให้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น คือ สำนักปฏิบัติวิปัสสนาอ้อมน้อย ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน จ. สมุทรสาคร ในที่ดินจำนวน ๕ ไร่ (บริจาคโดย คุณสด สังขพิทักษ์) ปัจจุบันได้ขยายเพิ่มเติมเป็น ๒๐ ไร่
ต่อมาพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยซึ่งได้ดำเนินการอยู่ ณ ที่ทำการของมหามกุฏราชวิทยาลัย ต้องย้ายที่ทำการมาตั้งอยู่ที่ ถ. พระอาทิตย์ เนื่องจากมหามกุฏราชวิทยาลัยต้องการใช้สถานที่เพื่อดำเนินกิจการเพิ่มขึ้น อภิธรรมมูลนิธิก็ได้ย้ายมารวมอยู่ด้วย เพราะกิจการบรรยายปรมัตถธรรมซึ่งเป็นเสมือนงานเผยแพร่ธรรมะแขนงหนึ่งของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย แต่มีอภิธรรมมูลนิธิเป็นผู้ดำเนินงานด้านนี้
ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ พุทธสมาคมมีความประสงค์จะสร้างหอประชุม จึงต้องรื้อสถานที่บรรยายธรรม พระอาจารย์บุญมีและคณะกรรมการจึงได้พยายามหาสถานที่บรรยายธรรมแห่งใหม่ คือ ศาลาโรงธรรมโพธิ์ลังกา วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จาก พระกิตติวุฑโฒภิกขุ แห่งวัดมหาธาตุ นำความขึ้นกราบเรียนท่านเจ้าคุณเทพสุธี รองเจ้าอาวาส และท่านเจ้าคุณรัตนเวที เลขานุการของสมเด็จพระวันรัต แห่งวัดพระเชตุพนฯ เป็นสถานที่บรรยายธรรมในวันเสาร์-อาทิตย์ หากวันใดตรงกับวันธรรมสวนะ ก็ให้ย้ายไปบรรยาย ณ ศาลารายข้างวิหารพระพุทธไสยาสน์ อภิธรรมมูลนิธิจึงได้ย้ายเข้ามาบรรยายในสถานที่นี้ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา
อภิธรรมมูลนิธิได้อาศัยศาลาโรงธรรมโพธิ์ลังกาเป็นที่บรรยายพระอภิธรรมเป็นเวลา ๔ ปี ปรากฏว่ามีผู้สนใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้สถานที่บรรยายธรรมไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ที่สนใจ สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ผู้อุปการะมูลนิธิเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่ดำเนินการโดยเฉพาะเป็นสัดส่วน จึงได้กรุณาอนุญาตให้สร้างอาคารอภิธรรมมูลนิธิขึ้นในบริเวณที่เก็บถังน้ำมันในเขตสังฆาวาส และท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพยมุนี (หลวงพ่อเมี้ยน) ยังได้กรุณาออกหนังสือเชิญร่วมกุศลสร้างโรงเรียนพระอภิธรรม รวมทั้งบริจาคปัจจัยเพื่อก่อสร้างอีกจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนเริ่มต้น
วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ อภิธรรมมูลนิธิจึงได้ย้ายมาดำเนินการ ณ อาคาร "มงคลทิพยอภิธรรมมูลนิธิ" เนื่องจากสถานที่แห่งนี้มีบริเวณกว้างขวางจึงสามารถดำเนินการสอนพระอภิธรรมได้ครั้งละหลายห้องเรียน โดยอาจารย์บุญมีและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ทำให้การศึกษาพระอภิธรรมมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างก้างขวางกว่าเดิมมาก อาจารย์บุญมีมีความปรารถนาที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านพระอภิธรรม มูลนิธิที่ดำเนินการอยู่เริ่มคับแคบไม่สามารถรองรับประชาชนผู้สนใจที่นับวันจะเพิ่มขึ้นได้ คณะกรรมการจึงมีมติให้จัดหาสถานที่แห่งใหม่ซึ่งกว้างขวางร่มรื่นเหมาะที่จะเป็นสถานที่สอนปริยัติและปฏิบัติ เพื่อเป็นสมบัติของมูลนิธิเอง บรรดาสานุศิษย์และประชาชนจึงได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินบริเวณ ต. ศาลายา จ. นครปฐม (ตรงข้ามพุทธมณฑลสถาน) และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ลง วัดพระเชตุพนฯ ได้ติดต่อขอสถานที่คืน อภิธรรมมูลนิธิจึงได้ก่อสร้างสถานที่บรรยายธรรมแห่งใหม่ ณ สถานที่ที่ได้จัดซื้อไว้ และได้ย้ายมาดำเนินงานอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ เลยที่ ๖๖/๑๑ ถ. พุทธมณฑลสาย ๔ ต. ศาลายา อ. พุทธมณฑล จ. นครปฐม ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา
จากการทุ่มเทชีวิตให้กับงานเผยแพร่พระอภิธรรมมาโดยตลอด ท่านได้พิจารณาเห็นการควรว่า หากท่านอยู่ในเพศบรรพชิตคงจะช่วยทำให้การเผยแพร่พระอภิธรรมดำเนินไปได้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยุ่ ท่านจึงปวารณาตัวบวชตลอดชีวิตเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาเพียงประการเดียว จึงได้อุปสมบท ณ วัดศรีประวัติ อ. บางกรวย จ. นนทบุรี มีท่านพระอาจารย์มหาแสวง โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้รับฉายาว่า "พระภิกษุบุญมี เมธังกุโร" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ภายปลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้พำนักอยู่ ณ สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย เพื่อดำเนินการเผยแพร่พระอภิธรรมอย่างจริงจัง คือ การเขียนตำราและการบรรยายธรรมตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย อภิธรรมมูลนิธิ (พุทธมณฑลสาย ๔) และออกรายการเพื่อนคู่คิดทางวิทยุกระจายเสียง ๑ ป.ณ. ตลอดจนได้พยายามวางนโยบายเตรียมงานเพื่อเผยแพร่พระอภิธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ เพื่อที่พระภิกษุเหล่านั้นจะได้นำความรู้ทางด้านอภิธรรมไปเผยแพร่แก่ประชาชนต่อไป จากการทุมเทกำลังกายและกำลังใจให้กับงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย และด้วยวัยที่มากขึ้น ทำให้ท่านเจ็บป่วยอาพาธต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แม้สุขภาพของท่านไม่สู้จะแข็งแรง แต่ท่านไม่เคยย่อท้อยังคงเพียรดำเนินงานเผยแพร่พระอภิธรรมมาโดยตลอด เป็นเหตุให้ท่านต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกหลายครั้ง จนมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ สิริอายุได้ ๘๔ ปี
หลังจากที่พระอาจารย์บุญมีมรณภาพแล้ว อาจารย์บุษกร เมธางกูร ธิดาซึ่งได้ร่วมดำเนินงานเคียงคู่กับบิดามาโดยตลอด จากการที่ได้รับการถ่ายทอดและคลุกคลีอยู่กับการเผยแพร่พระอภิธรรมของบิดามาแต่เยาว์วัย ทำให้อาจารย์บุษกรมีความเข้าใจงานของบิดาได้อย่างลึกซึ้ง จึงเป็นผู้สืบสานเจตนารมณ์ของท่านผู้เป็นบิดา โดยรับหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิ และเป็นอาจารย์สอนธรรมะ อีกทึ้งยังได้ก่อตั้งชมรมผู้ปฏิบัติธรรมขึ้น จนเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ เชิญไปเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายธรรมะอยู่เนืองๆ
นอกจากนึ้นมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิยังได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์มหาแสวง โชติปาโล เจ้าอาวาสวัดศรีประวัติ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระครูศรีโชติญาณ และท่านเจ้าคุณพระเมธีวรญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความเมตตาเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ ทั้งยังให้ความช่วยเหลือแก่ มูลนิธิฯ โดยพระอาจารย์มหาแสวง ดำเนินงานด้านการเผยแพร่พระอภิธรรม มีการจัดการบรรยายธรรมทุกวันเสาร์- อาทิตย์ ณ สำนักปฏิบัติวิปัสสนาอ้อมน้อย
นับตังแต่ก่อตั้งมูลนิธิตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จวบจนกระทั้งปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี กิจการของมูลนิธิได้ดำเนินมาด้วยดีโดยตลอด ก็ด้วยความตั้งใจจริงของท่านผู้ริเริ่มอาจารย์บุญมี เมธางกูร และกิจการจะยังคงดำเนินต่อไปด้วยดีด้วยความตั้งมั่นของทายาทธรรม อาจารย์บุษกร เมธางกูร