ปริจเฉทที่ ๑ ชื่อจิตตสังคหวิภาค
หน้าที่
: 1 2
3 4 5 6 7
8 9 10 11 12
13 14 15 16 17
18 19 20 21 22
23 24 25
26 27 28 29 30 31 32
33 34 35 36 37 38 39
40 41 42 43 44 45 46
47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57
58 59 60 61 62 63 64
65 66 67 68 69 70 71
72 73 74 75
76 77 78 79 80 81
82 83 84 85 86 87 88 89
90 91 92 93 94 95 96 97 98 99 100
101 102 103 104 105 106 107 108
109 110 111 112 113 114 115 ค้นหาหัวข้อธรรม
โลกุตตรจิต
โลกุตตรจิต มาจากคำว่า โลก + อุตตร
+ จิต
โลก หมายถึงโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก(กามภูมิ)
รูปโลก(รูปภูมิ) และอรูป-โลก(อรูปภูมิ)
ก็ได้ อีกนัยหนึ่งคำว่า โลก
หมายถึงการเกิดดับก็ได้
อุตตร มีความหมายว่า เหนือ หรือ
พ้น
ดังนั้นโลกุตตรจิตจึงเป็นจิตที่เหนือโลกทั้ง
๓ เป็นจิตที่พ้นจากโลกทั้ง ๓
ซึ่งมิได้หมายความว่า
จิตนี้อยู่เหนือโลกหรือจิตนี้พ้นไปจากโลก
แต่หมายความว่า
จิตนี้มีอารมณ์ที่เหนือโลก
มีอารมณ์ที่พ้นจากโลก
คือโลกุตตร
จิตนี้มีนิพพานเป็นอารมณ์
ซึ่งนิพพานเป็นธรรมที่พ้นจากโลก
เป็นธรรมที่เหนือโลก
โลกุตตรจิตเป็นจิตที่พ้นจากการเกิดดับ
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า
จิตนี้ไม่ได้เกิดดับ
จิตนี้คงเกิดดับตามสภาพของจิต
แต่เป็นจิตที่มีอารมณ์อันพ้นจากการเกิดดับ
อารมณ์นั้นคือ นิพพาน
ซึ่งนิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีการเกิดดับ
ธรรมทั้งหลายในโลกทั้ง ๓
ย่อมเกิดดับทั้งสิ้น
แต่นิพพานเป็นธรรมที่ไม่เกิดดับเป็นธรรมที่พ้นจากการเกิดดับ
นิพพานจึงเป็นธรรมที่พ้นจากโลก
เป็นธรรมที่เหนือโลก
อีกนัยหนึ่ง
โลกุตตรจิตมีความหมายว่า
เป็นจิตที่กำลังประหารและประหารแล้วซึ่งกิเลส
หมายความว่าโลกุตตรกุสลจิตหรือมัคคจิตนั้นกำลังทำการประหารกิเลสอยู่
โลกุตตรวิบากจิตหรือผลจิต
เป็นจิตที่เสวยผลซึ่งมัคคจิตได้ประหารกิเลสนั้นแล้ว
เป็นการประหารได้อย่างเด็ดขาด
อันทำให้กิเลสนั้น ๆ
หมดสิ้นสูญเชื้อไปโดยสิ้นเชิง
จนไม่สามารถที่จะเกิดมาก่อความเศร้าหมองเร่าร้อนอีกต่อไปได้เลย
การประหารเช่นนี้แหละที่เรียกว่า
สมุจเฉทปหาน
โลกุตตรจิต มี ๘ ดวง คือ
โลกุตตรกุสลจิต ซึ่งเป็นประเภท
อริยมัคค ๔ และโลกุตตรวิบาก
ซึ่งเป็นผลของโลกุตตรกุสลจิตอีก
๔
จำง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า มัคคคือกุสล
ผลคือวิบาก ซึ่งหมายความว่า
มัคคจิตนั้นเป็นชาติกุสล
ผลจิตนั้นเป็นชาติวิบาก
มีข้อสังเกตว่าโลกุตตรจิตมีแต่โลกุตตรกุสลและโลกุตตรวิบาก
ไม่มีโลกุตตรกิริยาด้วยเลย
ที่โลกุตตรจิตไม่มีโลกุตตรกิริยานั้นเพราะโลกุตตรกิริยาถ้ามีก็คือ
มีโลกุตตรกุสลอันเกิดในสันดานพระอรหันต์
อันว่ามหากุสลหรือมหัคคตกุสลนั้น
สามารถเกิดได้บ่อยๆ
เกิดได้เนือง ๆ
ดังนั้นจึงเกิดในสันดานพระอรหันต์ได้เสมอ
เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นมหากิริยา
หรือมหัคคตกิริยาไป
ไม่เหมือนกับ มัคคจิต
ซึ่งเกิดได้เพียงมัคคละครั้งเดียวคือ
โสดาปัตติมัคคก็เกิดได้ครั้งเดียว
สกทาคามิมัคค อนาคามิมัคค
ตลอดจนอรหัตตมัคค
ก็เกิดได้มัคคละครั้งเดียวเท่านั้น
เพราะมัคคจิตนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อประหารกิเลสและประหารเป็นสมุจเฉทเสียด้วย
เมื่อได้เป็นถึงพระอรหันต์ซึ่งได้ประหารกิเลสจนหมดจดโดยสิ้นเชิง
ไม่มีกิเลสเหลือเลยแม้แต่น้อย
ก็ไม่ต้องมีมัคคจิตเกิดขึ้นมาประหารอะไรอีก
ดังนั้นจึงไม่มีโลกุตตรกิริยาจิต
จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ