The Wayback Machine - https://web.archive.org/web/20180403005429/http://abhidhamonline.org:80/aphi/p2/062.htm

ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71
ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

อนิยตโยคีเจตสิก

อนิยตโยคีเจตสิก คือเจตสิกที่ประกอบไม่แน่นอน หมายความว่าเจตสิก นั้นบางทีก็ประกอบ บางทีก็ไม่ประกอบ

อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิรตี(๓ ดวง) กรุณา มุทิตา มานะ ถีนะ มิทธะ ย่อมประกอบกับจิตเป็นครั้งคราว ไม่พร้อมกัน(ทั้ง ๑๑ ดวงนี้ เป็น อนิยตโยคีเจตสิก)

เจตสิกที่เหลือ (๔๑ ดวง) เป็น นิยตโยคีเจตสิก (ประกอบได้แน่นอน)

ต่อไปนี้จะได้กล่าวสังคหนัยของเจตสิก ตามสมควร

เจตสิกทั้ง ๕๒ ดวง จำแนกได้ ๒ ประเภท คือ อนิยตโยคีเจตสิก และนิยตโยคีเจตสิก

ก. อนิยตโยคีเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตไม่เสมอไป ไม่เป็นที่แน่นอนกล่าวคือ ประกอบเป็นครั้งคราวมีจำนวน ๑๑ ดวง ได้แก่ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ กรุณา มุทิตา มานะ ถีนะ และมิทธะ

ข. นิยตโยคีเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตเสมอ เป็นที่แน่นอนมี ๔๑ ดวงคือ เจตสิกที่เหลือจาก ๑๑ ดวงนั่นเอง

อนิยตโยคีเจตสิก ที่ว่าประกอบกับจิตไม่เสมอไป ไม่แน่นอน บางทีก็ประกอบ บางทีก็ไม่ประกอบ เป็นดังนี้

๑. อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ๓ ดวงนี้ ถ้าจะเกิดก็ต้องเกิดร่วมกันพร้อมกับโทสจิต และจะต้องเกิดทีละดวง คือทีละอย่างเท่านั้น เพราะอารมณ์ต่างกัน การประกอบเป็นครั้งคราวและทีละดวง เช่นนี้เรียกว่า นานากทาจิ

เวลาที่ริษยาสมบัติของผู้อื่น อิสสาเจตสิกก็เกิดร่วมกับโทสะ แต่มัจฉริยะและกุกกุจจะไม่เกิด เพราะอารมณ์คนละอย่างต่างกัน

เวลาที่เหนียวแน่นในสมบัติของตน มัจฉริยเจตสิกก็เกิดร่วมกับโทสะ แต่อิสสาและกุกกุจจะไม่เกิด

เวลาที่เศร้าใจ รำคาญใจ ในบาปที่ตนได้กระทำไปแล้ว หรือในการบุญที่ตนไม่ได้ทำ กุกกุจจะเจตสิกก็เกิดร่วมกับโทสะ แต่อิสสาและมัจฉริยะไม่เกิด

๒. วิรตี ๓ ดวง คือ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตะเจตสิก และ สัมมาอาชีวเจตสิก นั้น

ถ้าเป็นโลกีย์ ประกอบกับจิตที่เป็นมหากุสล ก็เป็นนานากทาจิ คือประกอบเป็นบางคราว และประกอบทีละดวง

เวลาที่เว้นวจีทุจริต ๔ คือ มุสาวาจา ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปวาจา ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ เวลานั้นสัมมาวาจาก็เกิด แต่สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ ไม่เกิด

เวลาที่เว้นกายทุจริต ๓ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ เวลานั้นสัมมากัมมันตะก็เกิด แต่สัมมาวาจาและสัมมาอาชีวะไม่เกิด

เวลาที่เว้นวจีทุจริต ๔ และเว้นกายทุจริต ๓ ที่รวมเรียกว่าเว้นทุจริต ๗ ที่เกี่ยวกับอาชีพเวลานั้นสัมมาอาชีวะเกิด แต่ถือว่าสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะไม่เกิด

แต่ถ้าเป็นโลกุตตรโดยประกอบกับโลกุตตรจิตแล้ว ก็เป็น นิยตเอกโต คือต้องประกอบแน่นอนและประกอบพร้อมกันทั้ง ๓ ดวง เพราะวิรตีนี้เป็นองค์มัคคมีหน้าที่ประหารกิเลส ถ้าวิรตีไม่เกิด มัคคจิตก็จะเกิดไม่ได้เลย

๓. กรุณาเจตสิก กับ มุทิตาเจตสิก ก็เป็นนานากทาจิ คือประกอบเป็นบางครั้งและทีละดวง

เวลาใดที่รับเอาทุกขิตสัตว์ คือสัตว์ที่กำลังได้รับทุกข์อยู่เป็นอารมณ์เกิดกรุณาสงสารต่อสัตว์นั้น ปรารถนาช่วยสัตว์นั้นให้พ้นทุกข์ กรุณาเจตสิกก็เกิดแต่มุทิตาเจตสิกไม่เกิด

เวลาใดที่รับเอาสุขิตสัตว์ คือสัตว์ที่กำลังมีความสุขอยู่เป็นอารมณ์แล้วก็พลอยปิติยินดีกับเขาด้วยเช่นนี้ มุทิตาเจตสิกก็เกิด แต่กรุณาเจตสิกไม่เกิด

๔. มานเจตสิก เพราะมีดวงเดียว ไม่มีพวก จึงเรียกว่าเป็น กทาจิ คือประกอบเป็นบางครั้ง (ไม่ใช่นานากทาจิ ซึ่งหมายความว่าประกอบเป็นบางครั้งและทีละดวง) มานเจตสิกนี้ถ้าจะเกิด ก็เกิดในโลภทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง

๕. ถีนเจตสิก และมิทธเจตสิก คู่นี้เป็น สหกทาจิ คือประกอบเป็นบางครั้งและพร้อมกัน หมายความว่า ถ้าจะประกอบก็ต้องประกอบด้วยกันพร้อมกันทั้งคู่ (ไม่ใช่ทีละดวง) หรือถ้าไม่ประกอบก็ไม่ประกอบทั้งคู่




สอบถาม ปัญหาธรรมะ ได้ที่ลานธรรมมูลนิธิ ค่ะ...
จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...