วันมาฆบูชา   

วันมาฆบูชา เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อพระธรรม มาฆะเป็นชื่อของเดือน มาฆบูชาย่อมาจากคำว่า "มาฆปูรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓

ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๔ เหตุที่เกิดวันมาฆบูชาขึ้นเนื่องจาก เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ ในตอนต้นพุทธกาล ถึงวันมาฆบุรณมีดิถีเพ็ญแห่งมาฆมาส ซึ่งตรงกับวันทำพิธีศิวราตรีของพวกพราหมณ์ พระสงฆ์ที่ไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมือง ราชคฤห์ พระองค์จึงประทานโอวาทปาติโมกข์ การประชุมครั้งนี้เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า  การประชุมพร้อมกัน ๔ ประการ อันได้แก่

1. พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการอุปสมบทจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
2. พระอรหันต์สาวกที่เข้ามาร่วมประชุมที่เวฬุวนารามมีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูป
3. พระอรหันต์สาวกทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อนเลย
4. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์

นอกจากนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเทศน์โอวาทปาติโมกข์ในที่ ประชุมสงฆ์ ซึ่งเป็นมหาสังฆนิบาต คือ ประชุมสงฆ์หมู่ใหญ่ ใจความของโอวาทปาติโมกข์นั้น ก็คือแสดงหัวข้อคำสอนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๓ ประการคือ.

สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทุกชนิด ๑

กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำแต่ความดี ๑

สจิตฺตปริโยทปนํ การทำใจให้ผ่องแผ้ว ๑

พิธีนี้ชื่อเรียกเป็น ๒ อย่าง คือ มาฆบูชาบ้าง จาตุรงคสันนิบาตบ้าง ดังเหตุผลที่ กล่าวมาแล้ว ในวันเช่นนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่ พระสงฆ์ที่ประชุมกัน ในตอนบ่ายที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์นับว่า เป็นวัน ประดิษฐาน พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
 

การที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเลือกเอากรุงราชคฤห์เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธศาสนานั้น น่าจะเห็นว่า เพราะพระองค์ทรงเห็นความมั่นคงของพระศาสนาแล้ว

เนื่องด้วยพระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใส เพราะการตั้งสมาคมต้องอาศัยความนิยมนับถือของประชาชนเป็นใหญ่ เมื่อมีผู้นิยมนับถือแล้ว    สมาคมที่ตั้งขึ้นก็เจริญ   หากไม่มีผู้นิยมนับถือก็ย่อมเสื่อม   ฉะนั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใสแล้วก็มั่นใจว่าจะเจริญ          

อีกประการหนึ่งก็ต้องการจะอาศัยกำลังของพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยเพราะสมาคมที่ตั้งขึ้นแล้วจะดำรงยั่งยืนอยู่ได้ ต้องได้รับความอุปถัมภ์บำรุงเพียงพอ ถ้าขาดผู้อุปถัมภ์ก็หมดกำลัง ตั้งอยู่ไม่ได้ต้องเลิกล้มไป อย่างเดียวกับวัดวาอาราม หรือสมาคมต่างๆในบัดนี้ เมื่อพอใจได้ว่า จะไม่ล้ม ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานั้น     พอจะชี้ให้เห็นถึงการที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเลือกประดิษฐานพระพุทธศาสนาใน กรุงราชคฤห์ เป็นครั้งแรก

  ด้วยเหตุที่วันนี้เป็นวันสำคัญ เป็นวันประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้มั่นคงถาวร ตราบเท่าวันนี้ จึงได้จัดเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญ พระราชกุศลสืบๆ กันมาเป็นประจำตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ตลอดมา การพระราชกุศล ของพระมหากษัตริย์นั้นปรากฏในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนมีดังนี้.

 "เมื่อถึงวันมาฆเวลาเช้า พระสงฆ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงค์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้วจึงให้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบ ทรงจุดเทียนตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่มเท่าจำนวนพระอรหันต์ที่มาประชุม ครั้งนั้น มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง

แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์   เป็นเทศนาทั้ง ภาษามคธ และภาษาไทย  เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่างๆ เทศน์จบ พระสงฆ์ที่สวด ๓๐ รูปนั้นรับสัพพีเป็นเสร็จการ"


อนึ่ง วันมาฆะนี้
   ถ้าถึงคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสที่ใด ๆ เช่นพระพุทธ บาท  พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงทำมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆขึ้น อีกส่วนหนึ่งต่างหาก นอกจากในพระบรมมหาราชวัง" นี้เป็นการกุศลส่วนของ พระมหากษัตริย์

   ส่วนที่พุทธศาสนิกชนอื่นๆ  จะบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆะนี้ มีประเพณีว่าให้นำ ดอกไม้ธูปเทียนไปในวัดพอได้เวลาพระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน ยืนหันหน้าตรงต่อพระสถูป หรือพระปฏิมา บรรดาฆราวาสก็ยืนตั้งแถวให้เป็นระเบียบอยู่หลังพระสงฆ์ จุดธูป เทียนที่เตรียมไป ยืนตรงประนมมือถือเครื่องสักการะ พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในที่ประชุมนั้น กล่าวนำคำบูชา แล้วทั้งหมดว่าตามด้วยความตั้งใจแน่วแน่ตรงต่อวัตถุที่เคารพบูชานั้น.

 

 

 


  โอวาทปาติโมกข์ : คือหลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา (โอวาทปาติโมกข์ที่ว่านี้ เป็นคนละอย่างกับพระปาฏิโมกข์หรือศีล ๒๒๗ ข้ออันเป็นพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ และพระภิกษุต้องลงโบสถ์ฟังทุกวันพระกึ่งเดือน )  ซึ่งโอวาทปาติโมกข์ที่พระบรมศาสดาแสดงในวันนี้ ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ หรือเป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา เลยทีเดียว

หลักธรรมดังกล่าว แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ
 หลักธรรม ๓    อุดมการณ์ ๔      และวิธีการ ๖
 
 

ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสเป็นพระคาถา  รวม ๓ พระคาถากึ่ง  ดังนี้

พระคาถาที่ ๑  ขอเปรียบได้กับ อุดมการณ์ ๔ คือ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา  นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺ

พระคาถาที่ ๒  ขอเปรียบกับ หลักธรรม ๓ คือ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ  เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ

พระคาถาที่ ๓  ขอเปรียบกับ วิธีการ ๖ คือ

อนูปวาโท อนูปฆาโต   ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ

กึ่งพระคาถา

อธิจิตฺเต จ อาโยโค    เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ


ใจความแห่งพระปาติโมกข์นั้น มีดังนี้

  ในพระคาถาที่ ๑ พระองค์ทรงแสดงถึงคุณธรรมคือขันติ ความอดทนอดกลั้น ว่าเป็นเครื่องอุดหนุนให้บุคคลบรรลุบรมธรรมคือพระนิพพาน พร้อมทั้งทรงแสดงลักษณะของบุคคลผู้เป็นบรรพชิตหรือสมณะไว้ว่า บุคคลผู้ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้ลำบาก ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตหรือสมณะ ดังนั้น ความอดทน-ความไม่เบียดเบียน-ความสงบ และพระนิพพาน จัดเป็นอุดมการณ์ของผู้ปวารณาตนเป็นพุทธมามกะทีเดียว

  ในพระคาถาที่ ๒ พระองค์ทรงแสดงถึงหลักคำสอนที่สำคัญซึ่งเป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสาวกได้นำไปใช้เป็นหลักในการเผยแพร่และสั่งสอนไว้ ๓ ประการคือ

๑. เว้นจากทุจริต คือการประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ( ไม่ทำชั่ว )
๒. ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ( ทำแต่ความดี )
๓. ทำจิตใจของตนให้หมดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง ( ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว )

 

            
   

ในพระคาถาที่ ๓ กับอีกครึ่งพระคาถา พระองค์ทรงแสดงถึงปฏิปทา ข้อสำหรับปฏิบัติตนของพระสงฆ์สาวก ประการ คือ

๑. ห้ามมิให้ว่าร้ายผู้อื่น
๒. ห้ามมิให้เบียดเบียนผู้อื่น
๓. ต้องสำรวมในพระปาติโมกข์ คือไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทบัญญัติ
๔. ต้องรู้จักประมาณในการแสวงหาและในการบริโภคใช้สอย
๕. ควรอยู่ในสถานที่อันสงบเงียบ เพื่อ
๖. ประกอบความเพียรในอธิจิต

การชำระจิตให้ปราศจากนิวรณธรรมูปกิเลส มีกามฉันท์เป็นต้น เพื่อให้เกิดมีสมาธิและปัญญา รู้เท่าทันความเป็นจริง ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในที่สุด


 "การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำแต่ความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใส"

สำหรับหลักการ ๓ ที่กล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ที่สอนหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชน ส่วนอุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหลักครูหรือหลักของผู้สอนคือวิธีการที่จะนำไปปรับปรุงตัวให้เป็นกัลยาณมิตรทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งผู้ใดปฏิบัติได้นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังจะช่วยเผยแพร่พระศาสนาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
 

 

 

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันมาฆบูชา

 

1. ทำบุญใส่บาตรในตอนเช้า ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา

2. ตอนเย็น เมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดจะตีระฆังสัญญาณให้พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือลานพระเจดีย์ ภิกษุอยู่แถวหน้า สามเณรอยู่แถวต่อจากพระสงฆ์ ท้ายสุดเป็น อุบาสก อุบาสิกา ทุกคนถือดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมมา พร้อมกันแล้วเจ้าอาวาสจุดธูปเทียน ทุกคนปฏิบัติตาม  แล้วหันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียน  เจ้าอาวาสนำกล่าว  นโมสามจบ จากนั้นนำกล่าวคำถวายดอกไม้ ธูปเทียน ทุกคนว่าตามจบแล้วเดินเวียนขวา  ตลอดเวลาพึงระลึกพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ จนครบสามรอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัดเตรียมไว้

3. ประดับธงชาติที่อาคารบ้านเรือน