บารมีทั้ง ๑๐ ประการ

 

บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมต่อเนื่องกัน ไม่ขาดจากกันไปได้  และไม่จำต้องเริ่มบำเพ็ญทานก่อน ดังที่ท่านปรมัตถทีปนีฎีกาจารย์ ได้ขยายอรรถาธิบายของท่านอรรถกถาจารย์ว่า กุสลกรรมใดที่กระทำด้วย  สมฺปชานกต คือเกิดมีปัญญาแจ้งในผลบุญแล้ว บารมีทั้ง ๑๐ ทัส ย่อมบริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง โดยไม่จำต้อง คำนึงว่าต้องเริ่มด้วย ทานบารมีก่อน และได้ยก มหากปิชาดก คือ พญาวานรโพธิสัตว์ ที่ได้ช่วยชีวิตพราหมณ์หน่อเทวทัตนั้นมาประกอบด้วย   ดังมีเรื่องโดยย่อว่า

ในสมัยหนึ่ง พราหมณ์หน่อเทวทัต ได้ตามหาโคที่หาย จนหลงไปในป่าลึก หาทางออกไม่ได้ มีความหิวโหยเป็นกำลัง ไปพบต้นอินทผัมกำลังมีผลสุก จึงปีนขึ้นไปบนต้น เพื่อเก็บผลสุกมาแก้หิว ด้วยความรีบร้อน จึงพลัดตกจากต้นอินทผลัม และหล่นลงไปในเหวขึ้นมาไม่ได้  พญาวานรโพธิสัตว์ผ่านไปทางนั้น เห็นพราหมณ์ตกลงไปในเหวลึก ก็มีความสงสาร รับปากว่าจะช่วยให้ขึ้นมาจากเหว  และนำไปส่งให้พ้นป่าลึกจนถึงต้นทางที่จะกลับบ้าน ก่อนที่จะนำพราหมณ์ขึ้นมาจากเหว ด้วยปฏิภาณอันเฉียบแหลม ได้ลองกำลังของตน ด้วยการแบกก้อนหินที่มีน้ำหนักพอ ๆ กับพราหมณ์กระโดดดูก่อน เมื่อได้นำ
พราหมณ์ขึ้นจากเหวลึกได้แล้ว ก็มีความอ่อนเพลีย เพราะต้องใช้กำลังมาก  จึงขอให้พราหมณ์ช่วยพิทักษ์ตน เพื่อจักได้นอนเอาแรง สักงีบหนึ่ง แล้วล้มตัวหลับบนตักพราหมณ์
พราหมณ์กลับคิดร้าย หมายจะเอาเนื้อลิงไปกำนัลแก่ภรรยา ก็คว้าก้อนหินมาทุบศีรษะพญาวานรที่กำลัง
หลับอยู่บนตักของตน แต่ทุบพลาดไปไม่ถูกเหมาะ พญาวานรจึงไม่ถึงแก่ความตาย แต่ก็ศีรษะแตกเลือดไหลอาบ
ไปทั่วร่าง แม้กระนั้นพญาวานรก็มิได้มีจิตโกรธเคือง ทั้งไม่ละเลยวาจาสัตย์ที่ได้กล่าวไว้ คงนำพราหมณ์ออก
จากป่าลึกมาส่งจนถึงต้นทางที่จะกลับ
 
ชาดกเรื่องนี้ พึงเห็นได้ว่า พญาวานรโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบุญบารมีครบทั้ง ๑๐ ทัส กล่าวคือ
 


ลักษณะการบำเพ็ญเพียร

 

ประเภทของบารมี

     ความเมตตาปรานีต่อพราหมณ์ที่ตกอยู่ในเหวลึกนั้น ได้ชื่อว่า  เมตตาบารมี
     ก่อนที่จะนำพราหมณ์ขึ้นมาจากเหว พญาวานรได้ทดสอบกำลังของตนก่อนนั้น เป็นการใช้ปัญญา    
     เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ นับว่าได้สร้างสม
ปัญญาบารมี
     ด้วยปณิธานที่จะให้พราหมณ์ได้พ้นขึ้นมาจากเหว ต้องใช้ความเพียรไม่ใช่น้อย จึงเป็นการสร้าง วิริยบารมี
     การถูกทำร้ายในขณะที่กำลังหลับ และผู้ทำร้าย ก็คือผู้ที่ตนได้ช่วยด้วยความเมตตา และพากเพียร นั้นเอง   
     ถึงกระนั้นพญาวานรก็หาได้โกรธเคือง กลับอดทนต่อความเจ็บปวดไว้ได้  ดังนี้เป็น
ขันติบารมี
     การวางเฉยต่อเหตุการณ์ที่ผ่านไปเหมือนหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ได้ชื่อว่าเป็น อุเบกขาบารมี
     ได้นำพราหมณ์ออกจนพ้นจากป่า ทั้ง ๆ ที่เลือดตกยางออกเช่นนี้  
     เป็นการเสียสละเป็นการให้อภัยที่ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้
  ดังนี้เป็น  
ทานบารมี
     ตลอดเวลานับแต่ถูกทำร้ายเป็นต้นมา พญาวานรไม่ได้เอ่ยวาจาหรือแสดงกิริยาท่าทางส่อไป  
     ในทางตัดพ้อต่อว่าเลย คงรักษากายวาจาไว้ได้อย่างปกติ นับว่าเป็น
สีลบารมี
     ความไม่โกรธ ไม่ตัดพ้อต่อว่า คงรักษากายวาจาได้เป็นปกติ ก็เป็นอันว่าตลอดเวลานั้น พ้นจากกิเลสกาม  
     อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง
จึงเป็น
เนกขัมมบารมี
     ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าอย่างแน่นอน ในอันที่จะนำส่งพราหมณ์ให้พ้นจากป่า เช่นนี้เป็น อธิฏฐานบารมี

     การกระทำที่สมกับวาจาที่ได้ลั่นไว้ว่า จะช่วยให้ขึ้นจากเหว พาส่งให้พ้นจากป่านั้น เรียกว่า

สัจจบารมี