จดมายเหตุในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูศรีโชติญาณ  ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕  ณ  เมรุวัดศรีประวัติ


วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. อาจารย์บุษกร เมธางกูร ได้นำ
คณะศิษย์บางส่วนจากมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิเดินทางไปยังวัดศรีประวัติ เพื่อตระเตรียมความ
พรักพร้อมเกี่ยวกับหนังสือที่จะต้องใช้แจกให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพฯที่จะมีขึ้น
ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๕
 
มูลนิธิพุทธางกูร ได้เป็นเจ้าภาพพิมพ์หนังสือผลงานของหลวงพ่อแสวงชื่อ  ทางสายเอก
จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม

มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ  ได้เป็นเจ้าภาพพิมพ์หนังสือเรื่อง คนตายแล้วไปเกิดได้อย่างไร
จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม

ทั้งนี้เพื่อเป็นกตัญญูกตเวทิตาธรรมและอาจาริยบูชาแก่หลวงพ่อแสวงผู้มีอุปการคุณยิ่งแก่
ทั้งสองมูลนิธิ
  วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ตั้งแต่เวลาเช้าศิษย์จากมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิได้ทยอยกันไปที่วัดศรีประวัติเพื่อช่วยกันทำโบว์รวมทั้งจัดชุดหนังสือของมูลนิธิและหนังสือที่จัดพิมพ์โดยลูกศิษย์ท่านอื่นๆเพื่อแจกในงานนี้เช่นเดียวกัน และเนื่องจากลูกศิษย์ที่ไปจากมูลนิธิได้เดินทางไปตั้งแต่เวลาเช้า และไปเป็นจำนวนมาก ทุกคนจึงได้ช่วยงานด้านอื่นของทางวัดในฐานะเจ้าภาพอย่างเต็มตัวอีกด้วย  

   

   พิธีการต่อไปคือการสวดเปิดศพโดยคณะศิษย์ได้ขึ้นไปรวมกันบนศาลา
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว   อาจารย์บุษกรได้นำลูกศิษย์ทุกคนเดินมาที่
หอฉันเพื่อช่วยกันห่อหนังสือให้เสร็จสิ้น ทุกคนต่างกุลีกุจอตั้งใจที่จะทำทุกอย่าง
ให้ประณีตเท่าที่จะทำได้ และเมื่อถึงเวลาสวดพระอภิธรรมให้แก่หลวงพ่อ
เป็นครั้งสุดท้าย  ทุกคนก็ยังกระฉับกระเฉงที่จะขึ้นไปร่วมฟังสวด

และในคืนนี้…พระอาจารย์สุมณ  เจ้าอาวาสวัดบางปลาม้า
ได้ขึ้นธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนาและข้อเตือนใจให้พุทธบริษัทใส่ใจที่จะรักษา
พระพุทธศาสนาไว้ให้เป็นปึกแผ่น

…ในคืนนั้นกว่าพวกเราทุกคนจะแยกย้ายกันกลับก็เป็นเวลาเกือบสี่ทุ่ม

     
    วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. คณะศิษยานุศิษย์ได้มาพร้อมกันบนศาลาเพื่อร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลในช่วงเช้า

ซึ่งวัดสามพระยาปวารณาตนเป็นเจ้าภาพในเช้าวันนี้

และได้อาราธนา พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม
ขึ้นแสดงพระธรรมเทศนาหนึ่งกัณฑ์

จากนั้นก็เป็นการถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์จำนวนนับร้อยรูป

 

     

  และในช่วงบ่ายเวลา ๑๓.๐๐ น. ได้อาราธนา พระธรรมกิตติวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม
ขึ้นแสดงพระธรรมเทศนาอีกหนึ่งกัณฑ์ และเมื่อพระธรรมเทศนาจบลง บริเวณการประกอบ
พิธีได้ย้ายจากบนศาลาลงมายังบริเวณที่ตั้งเมรุลอยและปะรำพิธีโดยรอบ แต่ประรำพิธีและ
เก้าอี้ที่ทางวัดจัดไว้สำหรับผู้มาร่วมงานนั้นไม่เพียงพอต่อการมาของศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย
พระสงฆ์จำนวนมากมายหลายรูปต้องออกมานั่งกลางแจ้งภายนอกประรำพิธี และฆราวาส
ทั้งหลายที่มาจากทิศต่างๆโดยมาถึงบริเวณช้ากว่าผู้อื่นก็ต้องพากันยืนเป็นแถวอยู่ด้านข้าง
ประรำพิธีบ้าง ด้านข้างเจดีย์บ้าง นับเป็นความน่าปลาบปลื้มใจที่ลูกศิษย์ทั้งหลายยังไม่ลืม
หลวงพ่อแสวง

และที่น่าปลาบปลื้มใจมากยิ่งขึ้นก็คือพระราชาคณะชั้นสมเด็จ
ซึ่งเป็นกรรมการของมหาเถรสมาคมจำนวน ๓ รูป คือ
สมเด็จพระพุฒาจารย์
วัดสระเกศ,
สมเด็จพระพระมหาธีรา
จารย์ วัดชนะสงคราม และ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
วัดสุวรรณาราม ได้มาร่วมเป็นประธานในพิธีนี้
     
    พระเมธีวรญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ในฐานะศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่อได้เข้ามาทำหน้าที่)อำนวยการเกี่ยวกับงานศพนับตั้งแต่วันมรณภาพของหลวงพ่อจนกระทั่งมาถึงวันนี้
 

    พระพิพิธธรรมสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม และในฐานะประธานมูลนิธิพุทธางกูร ได้มาช่วยเป็นพิธีกรให้งานดำเนินงานไปอย่างราบรื่น และระหว่างที่รอรับไฟพระราชทานอยู่นั้น โฆษกซึ่งเป็น  อนุศาสนาจารย์ของกองทัพบกได้กล่าวถึงประวัติและผลงานของหลวงพ่อด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนเปี่ยมไปด้วยความเคารพ ทำให้ผู้ฟังหลายท่านถึงกับโศกเศร้าขึ้นมาที่ต้องสูญเสียหลวงพ่อไปในครั้งนี้ และหลายท่านมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ

 

     

       เมื่อไฟพระราชทานมาถึงแล้วก็ได้เวลาเข้าสู่พิธีการอย่างเต็มรูปแบบ

ผ้าบังสุกุลผืนแรกได้ถูกน้ำขึ้นไปทอดถวายบนเมรุลอยด้วยมือของ อาจารย์บุษกร

จวบจนกระทั่งผ้าบังสุกุลผืนสุดท้ายซึ่งทอดโดยประธานในพิธีคือ  สมเด็จพระพุฒาจารย์

โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้พิจารณาผ้าผืนสุดท้ายนี้ และประกอบพิธีจุดไฟ
พระราชทานเพลิง

หลังจากนั้นคลื่นมหาชนในชุดสีดำก็ได้หลั่งไหลจากบริเวณต่างๆเข้ามายังหน้าเมรุเพื่อขึ้นไป
วางดอกไม้จัน กว่าที่การวางดอกไม้จันจะเสร็จสิ้นก็ใช้เวลานานนับเป็นชั่วโมง ประมาณกันว่า
ผู้ที่มาร่วมงานในวันนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ คน เพราะหนังสือจากลูกศิษย์สายต่างๆ
ซึ่งจัดชุดไว้โดยให้แจกแบบไม่ซ้ำกันนั้นไม่เพียงพอต่อการแจกจ่าย ข้าราชการและพระผู้ใหญ่
หลายท่านกล่าวว่า งานของวัดศรีประวัติในวันนี้ สมกับชื่อว่า”ศรีประวัติ” เพราะนอกจาก
จำนวนผู้มาร่วมงานจะมากมายเป็นพันๆคนแล้ว
จะต้องจารึกไว้ว่านอกจากงานพระราชพิธี
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกและเป็นวัดแรกในเขตจังหวัดนนทบุรีที่มีพระราชาคณะชั้นสมเด็จ
มาร่วมในงานเดียวกันถึง ๓ รูป

     
เวลา ๒๑.๐๐ น.  …เมื่อเจ้าพนักงานได้เชิญหีบทองบรรจุศพของหลวงพ่อลงจากเมรุมาสู่ยานพาหนะสำหรับเคลื่อนศพแล้ว เสียงสะอึกสะอื้นก็เริ่มระงมกันอีกครั้ง พิธีการในครั้งนี้เป็นพิธีการครั้งสุดท้ายที่ลูกศิษย์ทั้งหลายกระทำให้แก่หลวงพ่อก่อนที่ร่างของหลวงพ่อจะมอดไหม้ไปในกองเพลิง พระภิกษุจำนวนเกือบร้อยรูปได้เดินนำหน้าขบวนแห่ศพไปด้วยความสงบ เจ้าพนักงานค่อยๆเคลื่อนยานพาหนะไปตามทางอย่างช้าๆ โดยมีอาจารย์บุษกรและคณะศิษย์มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิเดินตามมาอย่างใกล้ชิด …ขบวนแห่อันยาวเหยียดได้มุ่งตรงไปยังเมรุวัดศรีประวัติด้วยความเศร้าสร้อย

..เมื่อเวียนรอบเมรุครบสามรอบแล้ว เจ้าหนักงานและเจ้าหน้าที่ประจำเมรุได้นำโลงของหลวงพ่อขึ้นสู่จิตกาธาน ผ้าบังสุกุลถูกทอดวางไปบนโลงเป็นผืนแรกด้วยมือของอาจารย์บุษกร และเมื่อพระสงฆ์ทำพิธีชักผ้าบังสุกุลครบทั้ง ๔ ผืนแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำเมรุก็ได้เคลื่อนโลงบรรจุศพหลวงพ่อเข้าสู่เตาเผาด้วยความระมัดระวัง
 

     

และเชื่อในคำว่า “ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม” เพราะหลวงพ่อไม่เคยแจก
เครื่องรางของขลังให้ลูกศิษย์ แต่หลวงพ่อแจกจ่ายธรรม

 และในวันนี้ ธรรมที่หลวงพ่อได้แจกจ่ายไปทำให้ลูกศิษย์ทั้งหลายเดินทางกลับมา
ร่วมงาอย่างล้นหลามจนประจักษ์แก่สายตาของทุกคนแล้ว นี่แหละเป็นบทพิสูจน์ว่า

     “นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”
…วัดศรีประวัติแห่งนี้ เป็นแผ่นดินที่หลวงพ่อได้สร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นนานาประการ ท่านเป็นเจ้าของที่นี่ เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนจะจรดศีรษะกราบแนบไปบนพื้นนี้เพื่อบูชาหลวงพ่อพร้อมกัน

     การวางดอกไม้จัดครั้งสุดท้ายได้เริ่มขึ้นด้วยมือของพระภิกษุผู้เป็นสหายสนิท
ของหลวงพ่อ เปลวเพลิงค่อยๆเริ่มเผาไหม้ดอกไม้จันที่ถูกวางลงไปแต่ละดอก แต่ละคน
ที่เดินเข้ามาล้วนอยู่ในอาการโศกสลด บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาเป็นเส้นสาย โดยเฉพาะ
อาจารย์บุษกรนั้นนอกจากจะปรากฏคราบน้ำตาบนใบหน้าแล้ว ดวงตายังแดงช้ำ
ตัดกับใบหน้าที่ซีดเซียวจนเห็นได้ชัด…. เมื่อดอกไม้จันดอกสุดท้ายได้ถูกวางลงแล้ว
เจ้าหน้าที่ประจำเมรุได้ปิดฝาเตาเผาจนสนิทพร้อมกับเร่งไฟไปตามกระบวนการ

บัดนี้ พิธีการทางศาสนาได้สำเร็จสมบูรณ์แล้ว แต่พิธีแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณ
ของพวกเรายังไม่สิ้นสุดลงแค่นั้น

 
       อาจารย์บุษกร ได้เรียกลูกศิษย์ทุกคนเข้ามารวมกันในบริเวณลานปูนด้านข้าง
เมรุซึ่งมองเห็นเตาเผาศพได้อย่างชัดเจน อาจารย์บอกว่า ความโศกเศร้าที่เกิดขึ้น
ในวันนี้มีมากมาย เพราะเราต้องสูญเสียครูบาอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถไป
อย่างไม่มีวันกลับ บอกตรงๆว่า การจัดงานในวันนี้ไม่เคยคิดไว้ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ
เพราะเชื่อมั่นว่า ด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดีที่หลวงพ่อได้ทำมาจะเป็นสิ่งที่มา
คุ้มครองให้ และเห็นถึงคุณค่าของพระธรรมขึ้นจริงๆอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน

 

…
 

 

      

     
 วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. อาจารย์บุษกรและ
ลูกศิษย์ได้มาพร้อมกันที่บริเวณเมรุวัดศรีประวัติอีกครั้งหนึ่งเพื่อร่วมพิธีเก็บอัฐิ ..

เมื่อเจ้าหน้าที่ประจำเมรุได้เลื่อนรางรองรับอัฐิของหลวงพ่อออกมาจากเตาเผาแล้ว ก็ทำพิธีแปรรูปโดยนำอัฐิของหลวงพ่อในส่วนของกระโหลกศีรษะ กระดูกแขน กระดูกขา และกระดูกซี่โครงหน้าอก ออกมาวางเป็น”โครงร่าง”

โดยวาง”โครงร่าง”หันหัวไปทางทิศตะวันตก จากนั้นท่านเจ้าคุณเมธีวรญาณเป็นประธานในการประพรมน้ำอบและโปรยดอกมะลิลงบน”โครงร่าง”นั้น

เมื่อลูกศิษย์ทุกคนได้กระทำดังกล่าวครบแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำเมรุได้นิมนต์ให้พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลด้วยคำ “บังสุกุลตาย” ก่อน

แล้วจับผืนผ้าขาวหมุน”โครงร่าง”ให้หันหัวกลับมาทางทิศตะวันออก จึงนิมนต์ให้”บังสุกุลเป็น”อีกครั้งหนึ่ง

(ซึ่งพิธีกรรมตรงนี้ได้รับคำอธิบายในภายหลังว่า เป็นการแสดงถึงการเวียนว่ายตายเกิด คือในครั้งแรกนั้น หมายถึงการตายในชาตินี้ ส่วนการกลับหัว”โครงร่าง”อีกครั้งหนึ่งนั้นหมายความว่าตายจากชาตินี้แล้วจะต้องไปเกิดอีก)

 
   
 
      เมื่อพิธีบังสุกุลเสร็จสิ้นแล้วเจ้าหน้าที่ประจำเมรุได้รวบรวมอัฐิทั้งหมดไว้ในห่อผ้าขาว
..เมื่อมองดูแล้วก็ให้รู้สึกแตกต่างจากเมื่อครั้งที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่เหลือเกิน

ร่างกายที่สูงถึง ๑๗๘ ซม. ..หลงเหลืออัฐิไว้เพียงห่อผ้าเดียว

…และอาจารย์บุษกรได้นำห่อผ้าบรรจุอัฐิของหลวงพ่อมาบำเพ็ญกุศลตามประเพณี ณ ศาลา
หลังใหญ่อีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะทำการบรรจุต่อไป

…นับว่าในวันนี้พิธีการต่างๆได้เสร็จสิ้นลงอย่างแท้จริง

แต่ในขณะเดียวกันการเผยแผ่พระอภิธรรมตามลำพังของ อาจารย์บุษกร
ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในเวลานั้น..
                                                                                                                          


           มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ....รายงาน