งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

 

 

           1.6.1      เพ็ญแข  กิตติศักดิ์ (2528) วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ปรัชญา)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ความคิดเรื่อง จักรวาลวิทยา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก พบว่า ความคิดเรื่องจักรวาลวิทยาเป็นโลกทัศน์ที่เกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติและจักรวาล ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรื่อง จิต กรรม สุคติ และ ทุคติ 

 

               คัมภีร์พระสุตตันตปิฎกกล่าวถึงจักรวาลวิทยาในลักษณะของธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต เช่น มนุษย์ พืช สัตว์  นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกำเนิดของโลกและชีวิต รวมทั้งข้อเท็จจริงทางดาราศาสตร์การอธิบายกำเนิดของโลกนั้น บางครั้งมีลักษณะเป็นตำนานที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของโลกและธรรมชาติว่า โลกมีการเกิดขึ้นก็ย่อมมีการทำลายเป็นวัฏจักรที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ระยะเวลาของกระบวนการดังกล่าวไม่อาจกำหนดแน่นอนหรือทำนายได้ ส่วนมโนทัศน์เรื่อง การกำเนิดชีวิตนั้นถือว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์ต่อสิ่งอื่น และเน้นว่ากำเนิดของชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องกรรมเป็นสำคัญ ความรู้เรื่องจักรวาลวิทยาตามคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกนั้น น่าจะเสนอจุดหมายปลายทางในการดำเนินชีวิตมนุษย์ไว้ 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกชักนำให้มนุษย์ทำความดี เพื่อได้รับผลดีตอบสนองในชาตินี้ และไปเกิดใหม่ในภูมิที่ดี  ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ แนะให้เลือกนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางสูงสุด ไม่เวียนว่ายตายเกิดในภูมิใด ๆ อีก

 


back  Home
 

 

 

 

 

            1.6.2       พิฆาต  เพ็ชรอินทร์ (2524 : -วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ศาสนาเปรียบเทียบ)มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเปรียบเทียบเรื่องความตาย ในหลักคำสอนของพุทธศาสนาและคริสตศาสนาที่มีผลต่อพฤติกรรมของศาสนิกชนของทั้ง 2 ศาสนาในจังหวัดนครนายก  ผลการศึกษาพบว่า ในหลักคำสอนจากพระคัมภีร์ของทั้ง 2 ศาสนา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความตายนั้น ต่างก็เชื่อว่าความตายมิใช่เป็นการสิ้นสุดของชีวิต ยังมีชีวิตหรือสภาพหลังความตายต่อไปอีก ซึ่งสภาพภายหลังความตายดังกล่าวจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

 

            ทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการสืบต่อของชีวิตอยู่ยังไม่มีที่สิ้นสุดแม้จะตายไปแล้ว คือ กิเลส กรรม วิบาก ชีวิตจะสิ้นสุดลงเด็ดขาดก็ต่อเมื่อได้ทำลายวัฏจักรของ กิเลส กรรม วิบาก เสียได้ เข้าสู่สภาพอนเป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน ผู้ที่จะบรรลุซึ่งนิพพานจำเป็นต้องมีวิปัสสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญ

 

            ส่วนคริสตศาสนากล่าวถึงสิ่งที่มุ่งหวังภายหลังความตาย คือ ผลจากการที่ได้กระทำความดีในชีวิตปัจจุบันจะนำไปสู่สภาพการมีชีวิตอันประเสริฐเป็นนิรันดร์ในสวรรค์ของพระเจ้า ผลแห่งความเชื่อต่อพฤติกรรมของศาสนิกชน คือ ชาวคริสต์จะมีความเคร่งครัดจริงจังในการปฏิบัติทางศาสนามากกว่าชาวพุทธ   เพราะชาวคริสต์ถือว่ามีโอกาสทำความดี-ชั่วเพียงครั้งเดียว โดยไม่สามารถแก้ตัวได้อีก  ส่วนชาวพุทธมีโอกาสเวียนว่ายตายเกิด แก้ตัวได้หลายครั้ง

 

 

back  Home

 

            1.6.3      ราเชนทร์  สิงหเรศร์ (2533 : 155 - 157) วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ศาสนาเปรียบเทียบ)มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเปรียบเทียบทัศนะเรื่องการเกิดใหม่ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์พระเวท พบว่า ศาสนาทั้งสองมีทัศนะทั้งที่คล้ายคลึงกันและทัศนะต่างกัน กล่าวคือ ในส่วนที่คล้ายคลึงกันทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูเชื่อว่า อวิชชาเป็นเหตุให้มนุษย์ต้องเกิดใหม่อยู่ในสังสารวัฏแห่งความทุกข์ ชีวิตมนุษย์ในปัจจุบันชาติเป็นผลมาจากกรรมในอดีตชาติ และกรรมในปัจจุบันชาติย่อมส่งผลถึงชีวิตในอนาคตชาติ 

 

ส่วนทัศนะที่ต่างกันก็คือ ความเห็นเกี่ยวกับอวิชชาและวิญญาณ ในเรื่องอวิชชานั้นศาสนาฮินดูมีทัศนะว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งว่าอาตมันในตัวมนุษย์เป็นเอกภาพเดียวกับพรหมมันหรือปรมาตมัน แต่ในศาสนาพุทธมีทัศนะว่า อวิชชา คือความไม่รู้แจ้งในธรรมชาติของรูป-นามที่ต้องเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์และกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท 

 

              จากความเข้าใจเรื่องอวิชชาที่ต่างกัน ทำให้การตีความลักษณะวิญญาณต่างกันด้วย คือ ศาสนาฮินดูมีทัศนะว่าวิญญาณเป็นอัตตามีความเที่ยงแท้คงที่  ในเชิงข้ามภพชาตินั้น การเกิดใหม่ หมายถึง ร่างกายเท่านั้นที่เปลี่ยนไป แต่วิญญาณเป็นวิญญาณเดิมที่ไปอาศัยร่างใหม่ทำกรรมใหม่เท่านั้น  ส่วนในศาสนาพุทธมีทัศนะว่า ทั้งวิญญาณและร่างกายเป็นอนัตตามีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สันตติ คือ ความสืบต่อทำให้ไม่รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้วิญญาณในพระพุทธศาสนายังหมายถึง  ตัวรู้อารมณ์ การรู้นั้นมีทั้ง  ในเชิงความรู้สึก ในเชิงขณะจิต  และในเชิงภพชาติ

                           

        ความสัมพันธ์ของกรรมและการเกิดใหม่ทำให้มนุษย์ทราบว่า ทำไมชีวิตในปัจจุบันชาติมนุษย์จึงมีความแตกต่างกัน และยังให้คำตอบต่อไปอีกว่า มนุษย์จะทำอย่างไรให้ชีวิตตนพัฒนาสู่เป้าหมายสูงสุดทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ล้วนนำสู่การเกิดใหม่ได้  ศาสนาฮินดูเน้นการทำกรรมดีเพื่ออาตมันสามารถกลับไปรวมกับปรมาตมัน หมดสิ้นทุกข์คงที่เป็นอัตตา  ส่วนศาสนาพุทธเน้นการทำกรรมดีอีกชนิดหนึ่งผ่านวิธีการทางวิปัสสนาซึ่งไม่ใช่กรรมดีและไม่ใช่กรรมชั่ว แต่เป็นกรรมที่สามารถยุติการเกิดใหม่ เป็นภาวะสิ้นทุกข์ในตัวเองเป็น อนัตตาไม่มีการไปรวมกับใครทั้งสิ้น

 

 

back  Home

 

 

            1.6.4      พระมหาบุญชิต  สุดโปร่ง (2536)  วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ศาสนาเปรียบเทียบ)มหาวิทยาลัยมหิดล  ศึกษาคุณสมบัติของพระอรหันต์ในเรื่องบารมี อภิญญา และปัญญา  งานวิจัยนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า ภาวะของนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่ และสามารถปลูกฝังขึ้นได้ในชีวิตจริง  พระอรหันต์เป็นบุคคลตัวอย่างที่สามารถปลูกฝังภาวะของนิพพานได้ในระดับสูงสุด  การบรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งในอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ  การที่มนุษย์ประสบความทุกข์มองเห็นชีวิตมีลักษณะ “พร่องอยู่ภายใน”จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นั่นคือ มนุษย์กำลังเรียกร้องหาวิถีชีวิตแบบพระอรหันต์อยู่โดยไม่รู้สึกตัว แต่ไม่ใช่เรียกร้องด้วยการอ้อนวอนจากอำนาจภายนอก เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ (กิริยาวาท)และเป็นศาสนาแห่งความพากเพียร (วิริยะวาท)จึงต้องอาศัยปฏิบัติธรรมทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ในการปลูกฝังคุณสมบัติทางจิตในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่คุณสมบัติพื้นฐานคือ การสั่งสมบารมี พัฒนาจิตขึ้นไปเป็นระดับอภิญญา จนถึงคุณสมบัติระดับพิเศษยิ่ง คือ ปัญญา ก็จะหยุดเดินทางในสังสารวัฏได้

 

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

 

            1.6.5      ศุภลักษณ์  สุวรรณเครือ (2532 : 1 - 2) วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาเรื่อง มรรควิธีแห่งรักและเมตตา เพื่อรับใช้สังคมในทัศนะวิทยากรชาวพุทธ โดยการสัมภาษณ์วิทยากรชาวพุทธ 5 ท่าน คือ พุทธทาสภิกขุ  พระเทพเวที  นายโกวิท  เอนกชัย  ศาสตราจารย์ ดร.ระวี  ภาวิไล  และ นางสิริ  กรินชัย  จากการศึกษาพบว่า ความรักเมตตาเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในปัจเจกบุคคล และจะพัฒนาให้ถึงที่สุดได้ด้วยมรรควิธีแห่ง “การเจริญสติภาวนา”บนรากฐานความรู้สึกตัว ด้วยจิตบริสุทธิ์และสงัดเงียบภายใน จนเกิดปัญญา-อิสระภาพ-และความต้องการพ้นทุกข์  ภาวะการณ์ดังกล่าวนี้ได้เอื้อให้บุคคลน้อมจิตและปัญญาค้นหาความจริง (โยนิโสมนสิการ)ซึ่งส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ภายในตัวเองและชีวิต (Insight Development) อย่างถูกต้อง  สามารถค้นพบรู้จักตนเองและเข้าใจปัจเจกบุคคลอย่างลึกซึ้ง กลายเป็นความรักเมตตาซึ่งเคารพคุณค่าชีวิตและความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน รวมทั้งความปรารถนาให้ตนเองและผู้อื่นพ้นทุกข์ร่วมกัน สภาวการณ์ดังกล่าวจึงทำให้บุคคลเข้าสู่อิสระภาพและการพึ่งตนเองทั้งกาย-จิต-ปัญญาได้อย่างแท้จริง

 

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

 

            1.6.6      ลดา  แก้วกูร (2533 : 159 - 161)  วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ศาสนาเปรียบเทียบ)มหาวิทยาลัยมหิดล  ศึกษาวิธีการสอนกรรมฐานของพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทย โดยเปรียบเทียบวิธีปฏิบัติกรรมฐานของสำนักหลวงพ่อวัดปากน้ำกับสำนักหลวงพ่อฤาษีลิงดำ  แม้วิธีการปฏิบัติจะต่างกัน คือ สำนักวัดปากน้ำเน้นการบรรลุธรรมกาย ส่วนสำนักหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เน้นมโนมยิทธิ  ผลการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 20ท่าน พบว่า 75% เห็นว่าทั้ง 2 สำนักตีความพระนิพพานเป็นรูปธรรม มีมโนทัศน์เป็นลักษณะวัตถุวิสัยเหมือนกัน ลักษณะของพระนิพพานดังกล่าวมิใช่ พระนิพพานที่ปรากฏในพระไตรปิฎก การบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่มีการวัดเป็นรูปธรรม การทำคำสอนให้เป็นรูปธรรมของทั้ง 2 สำนักมิได้ตอบเรื่องนิพพานตามคัมภีร์ แต่คนก็ยังนิยมด้วยเหตุผลใหญ่ 2 ประการ คือ บุคลิกภาพที่เด่นของเจ้าสำนัก ซึ่งเป็นแบบเฉพาะตัวที่สามารถเรียกศรัทธาได้ และเทคนิควิธีเฉพาะตัวที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นว่าเป็นการฝึกอย่างง่าย ๆ แต่มีความหวังว่าจะถึงธรรมชั้นสูงได้ 80% ของผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ผลที่ได้จากการฝึกกรรมฐานของทั้ง 2 สำนัก เป็นการสอนสมาธิซึ่งให้ผลเพียงระดับต้น ๆ  แม้การได้สมาบัติ 8ทำฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ก็มิได้ทำให้หลุดพ้น  การตัดกิเลสให้ขาดต้องใช้วิปัสสนากรรมฐาน เพราะทำให้เกิดปัญญาในการรู้แจ้งสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง  อย่างไรก็ดี การสอนกรรมฐานทั้ง 2 สำนัก ได้ผลทางความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจัดองค์กรอย่างเป็นระบบ ผู้ปฏิบัติรักใคร่กันเป็นผลดีทางสังคม ผู้ปฏิบัติมีศรัทธาทำบุญไม่อั้นเป็นปัจจัยอุดหนุนพระศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

            1.6.7      นงเยาว์  ชาญณรงค์  (2525 : -วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ) มหาวิทยาลัยมหิดล  ศึกษาเปรียบเทียบการทำสมาธิของพุทธศาสนา และสมาธิแบบ ที-เอ็มพบว่ามีความคล้ายคลึงกันโดยส่วนใหญ่ คือ มุ่งถึงความสงบด้วยการกำหนดใจไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง เมื่อสมาธิเกิดอย่างเข้มแข็งมั่นคงจนถึงอัปนาสมาธิ ก็จะเกิดฌานระดับต่าง ๆ จนถึงทำอิทธิฤทธิได้ ในทางพระพุทธศาสนาจะใช้สมาธิคู่กับวิปัสสนาเพื่อการกำจัดกิเลส พระพุทธองค์ทรงเปรียบสมาธิเป็นกำลัง วิปัสสนาเป็นอาวุธ เมื่อบุคคลมีกำลังเข้มแข็งและมีอาวุธดีก็สามารถเอาชนะประหารกิเลส และอาสวะทั้งหลายให้หมดสิ้นเด็ดขาด ไม่มีโอกาสเวียนว่ายตายเกิด  ส่วนท่านคุรุเทพ(Guru Dew) ผู้เป็นพระสังคจริยะได้ถ่ายทอดวิธีการฝึกสมาธิที่ง่ายและสะดวกเหมาะสมแก่อุปนิสัยและภาวะของคนสมัยปัจจุบัน นั่นคือ เทคนิคที่เรียกว่า Transcendental Meditation หรือเป็นการฝึกจิตสำหรับผู้แสวงหาการหลุดพ้นหรือการฝึกสมาธิแบบพ้นโลก ทำให้มีความสามารถพิเศษบางอย่างเหนือคนทั่วไป แต่ไม่ได้กล่าวถึงผลในด้านการหยุดเวียนว่ายตายเกิด  อย่างไรก็ดี ผลดีของการฝึกสมาธิทั้ง 2 แบบ มีผลดีต่อสุขภาพ ร่างกายและจิตใจ สมองและสติปัญญา  การฝึกอย่างสม่ำเสมอผู้ฝึกจะรับรู้ถึงสิ่งดีที่เกิดภายในตัวเองในเวลาไม่นานนัก  ร่างกายและจิตใจจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี บุคคลอื่นและสังคมแวดล้อมก็พลอยได้รับผลดีด้วย เกิดความสุข สงบ สุขุม ร่มเย็น ยิ่งมีผู้ฝึกมากขึ้นเท่าใด สันติสุขย่อมแผ่ขยายออกไปด้วย

 

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

 

 

            1.6.8      อรทัย  ท้าวสัน  (2531 : วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ศาสนาเปรียบเทียบ)มหาวิทยาลัยมหิดล  ศึกษาเปรียบเทียบวิธีปฏิบัติกรรมฐานแบบวัดอโศการาม กับวัดพระธรรมกาย  ผลการศึกษาพบว่าการปฏิบัติกรรมฐานของวัดอโศการามมีการสอนและวิธีปฏิบัติขั้นสมถกรรมฐาน ไม่เน้นวิธีใดวิธีหนึ่ง ยึดหลักกรรมฐาน 40 ส่วนใหญ่ใช้อานาปานสติ กายคตาสติ และพุทธานุสสติ เน้นความเคร่งครัดในเรื่องศีล ให้มีความชำนาญในการเข้า-ออกสมาธิถึงขั้นวสี ในเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานใช้วิธีการพิจารณาสติปัฏฐาน 4ตามมหาสติปัฏฐานสูตร  ส่วนการปฏิบัติกรรมฐานของวัดธรรมกาย การสอนอ้างพระไตรปิฎก เน้นการปฏิบัติตามวิชาธรรมกายทางเดียวเท่านั้นจึงจะบรรลุธรรม ในขั้นสมถกรรมฐานใช้การเพ่งกสิณลูกแก้วหรือพระพุทธรูปจนได้นิมิตลูกแก้วหรือพระพุทธรูปมากำหนดไว้ ณ ศูนย์กลางกาย เกิดนิมิตมากมายเป็นกายต่าง ๆ 18 กาย ตามวิชาธรรมกาย  ในขั้นวิปัสสนาเป็นขั้นต่อจากสมาธิ โดยพิจารณาข้อธรรมคำสอน เช่น รูป นาม ขันธ์ 5 พระไตรลักษณ์  นักปฏิบัติทั้งหลายควรเรียนรู้เรื่องกรรมฐานจากพระไตรปิฎกให้เข้าใจก่อน จะได้ไม่เข้าปฏิบัติผิดสำนักและได้รับความคิดผิด ๆ จากสำนักต่าง ๆ แบบแผนจากพระไตรปิฎกจะบอกให้ทราบว่าทางใดเป็นทางไปสู่มรรคผลนิพพานได้จริง

 

   

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

 

            1.6.9      สมศักดิ์  ดวงสีเสน  (2534)  วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ศาสนาเปรียบเทียบ)มหาวิทยาลัยมหิดล  ศึกษาเชิงวิเคราะห์การปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนไทยในหลักธรรมว่าด้วยบุญกิริยาวัตถุ3 ได้แก่ การทำทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา โดยเปรียบเทียบระหว่างผู้มีอาชีพเกษตรกรรม และผู้เป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่กำลังเปลี่ยนไปสู่สภาพสังคมอุตสาหกรรมใหม่ คือ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  ผลการวิจัยในหัวข้อการเจริญภาวนาซึ่งได้แก่การสวดมนต์ไหว้พระและการทำสมาธิ พบว่าเกษตรกรและลูกจ้างในโรงงานส่วนใหญ่ 70% และ 86%ไม่เคยสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนมีเพียง 30% และ 40% ที่สวดเป็นบางครั้ง แม้ความเห็นของเกษตรกรและลูกจ้างในโรงงาน 56% และ 66% เห็นว่า การทำสมาธิมีประโยชน์เพื่อกำจัดกิเลส  แต่ในการทำสมาธินั้นทั้งเกษตรกรและลูกจ้าง 90% และ 98% แทบไม่เคยทำสมาธิเลย รูปแบบการใช้เวลาว่างจากการทำงานมักใช้ไปในกิจกรรมทางการบันเทิงการเที่ยวมากกว่าเข้าสู่กิจกรรมทางศาสนา ซึ่งมีทัศนคติว่ายุ่งยาก จึงไม่เข้าไปร่วมพัฒนาวัด หรือให้ความสนใจในการสวดมนต์ไหว้พระ  ทำสมาธิ  เกิดความเหินห่าง  และมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา ในด้านต่าง ๆ น้อยลง

 

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

 

 

            1.6.10    พระปกเกตุ  บุญภักดี  (2535 : -วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ) มหาวิทยาลัยมหิดล  ศึกษาเปรียบเทียบเจตคติต่อพระพุทธศาสนาโดยสุ่มตัวอย่างประชากร จำนวน 600 ราย ของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐกับนักเรียนทหาร 3 เหล่าทัพ พบว่า นิสิตนักศึกษาและนักเรียน 3 เหล่าทัพ มีเจตคติที่เห็นชอบด้วยต่อหลักธรรมและการปฏิบัติตามหลักอริยสัจจ์ 4ไตรลักษณ์ ปฏิจสมุปบาท ไตรสิกขา และโอวาทปาติโมกข์  โดยประชากรส่วนใหญ่มีเจตคติที่เห็นชอบด้วยอย่างยิ่งกับหลักโอวาทปาติโมกข์ (ร้อยละ47 - 82) หลักธรรมในส่วนที่ประชากรส่วนใหญ่มีเจตคติที่เห็นชอบด้วย ร้อยละ 42.56 - 49.31 และนักเรียน 3 เหล่าทัพ มีเจตคติที่เห็นชอบด้วยกับพระพุทธศาสนามากกว่านิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ณ ระดับ .001  ผู้ที่เคยบวชเป็นพระภิกษุหรือมีคนในครอบครัวที่ปฏิบัติธรรมหรือเพื่อนที่สนิทที่ปฏิบัติธรรมจะมีเจตคติที่เห็นชอบด้วยกับพระพุทธศาสนามากกว่าผู้ที่ไม่เคยออกบวช หรือไม่มีคนรอบข้างที่ปฏิบัติธรรม อย่างมีนัยทางสถิติ ณ ระดับ .001ระดับการศึกษา และการอบรมจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อม จึงมีผลต่อการสร้างเจตคติที่ดีต่อคำสอนในพระพุทธศาสนามาก

 

 

           

 

   back  Home

 

 

 

 

 

 

 

           1.6.11     นวรัตน์  สุวรรณผ่อง  (2524 : 1 - 2)  วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาบัณฑิต (การแพทย์ฝ่ายวิจัย)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศึกษาถึงบทบาทของพระสงฆ์ไทยต่องานสังคมสงเคราะห์จิตเวช แบ่งเป็นบทบาทด้านต่าง ๆ6 ด้าน คือ บทบาทการให้คำปรึกษาปัญหาจิตใจ บทบาทในการรดน้ำมนต์  บทบาทในการแจกวัตถุมงคลเพื่อขวัญและกำลังใจ บทบาทด้านการสอนปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐานเพื่อความสงบสุขทางใจ บทบาทในการให้ที่อยู่อาศัย บทบาทในการส่งเสริมจริยธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจ สุ่มตัวอย่างประชากรที่เป็นพระภิกษุ จำนวน 118 รูป  จากวัดที่มีสำนักสมถวิปัสสนากรรมฐาน 3 วัด คือ วัดสระเกศ วัดเพลงวิปัสสนา และวัดปากน้ำภาษีเจริญ  ผลการศึกษาพบว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษา ระดับการศึกษาทางธรรมจบนักธรรมเอกมากที่สุด ในด้านการสอนการปฏิบัติสมถกรรมฐาน เพื่อความสงบสุขทางใจยังมีผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้อยู่น้อย คือ มีเพียงร้อยละ 38.46 เมื่อเทียบกับบทบาทด้านอื่น เช่น การให้คำปรึกษาร้อยละ88.14 และการส่งเสริมจริยธรรมร้อยละ 80.53ซึ่งหน่วยงานและสถาบันอื่นก็สามารถทำได้ แสดงถึงความขาดแคลนบุคลากรผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการสอนการปฏิบัติสมถวิปัสสนา เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิจนเกิดความสงบสุขทางจิตใจแก่พุทธศาสนิกชนอยู่อีกมาก

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

 

 

                1.6.12    นิรมล  ทัพเวช  (2524)  วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ปรัชญา)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์เชิงปรัชญาเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิทยานิพนธ์เล่มแรกของไทยนั้น พบว่าทัศนะด้านอภิปรัชญาในไตรภูมิพระร่วงได้เสนอคำตอบเกี่ยวกับความจริงไว้ 2ประการ คือ รูป (ได้แก่ มหาภูตรูป 4และอุปาทยรูป 24) กับนาม (ได้แก่ จิตเจตสิก และนิพพาน) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการกำเนิดจักรวาลและชีวิต รวมถึงความเชื่อเรื่องกรรมไว้อย่างละเอียด เป็นการจูงใจให้ผู้อ่านประพฤติอยู่ในศีลธรรม โดยมีความหวังว่าจะได้รับผลดีตอบสนองตามกฎแห่งกรรม  ส่วนทางด้านญาณวิทยา ได้เสนอวิธีที่จะทำให้เข้าถึงความจริงทั้งในระดับสมมุติสัจจะและปรมัตถ์สัจจะ เพราะมีบุคคลบางประเภทมุ่งดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขในระดับโลกียะ และมีบุคคลบางประเภทมุ่งดำเนินชีวิตไปสู่ความหลุดพ้น ซึ่งเป็นความสุขในระดับโลกุตตระ จึงเสนออุดมคติหรือจุดหมายปลายทางในการดำเนินชีวิต 2 แบบ คือ ทางโลกสอนให้มนุษย์ทำความดี โดยได้รับผลดีตอบสนองในชาตินี้ และได้ไปเกิดใหม่ในภพที่ดี ทางธรรมมีนิพพนานเป็นจุดหมายปลายทางโดยเชื่อว่านิพพานเป็นความสุขนิรันดร์

 

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

 

                  1.6.13    ไชยณพล  อภิณัฐลีลา  (2532)  วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ศาสนาเปรียบเทียบ)มหาวิทยาลัยมหิดล  ศึกษาเปรียบเทียบวิธีพัฒนาภูมิปัญญาตามพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์กล่าวถึงหลักการพัฒนาภูมิปัญญา ตามแนวพระพุทธศาสนาว่าเป็นไปโดยลำดับ คือ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา จนถึงภาวนามยปัญญา  พัฒนาระบบนามธรรมเพื่อความสุขใจเป็นลำดับ ด้วยการฝึกฝนศักยภาพในการล่วงรู้ (สติ)แห่งธาตุรู้ อาทิ อนุสติ 10 มหาสติปัฏฐาน4 และวิธีการของวิปัสสนา  การเรียนรู้ความจริงที่สมบูรณ์นั้น ต้องเรียนรู้จากของจริง คือ จิตต้องไปสัมผัสภาวะนั้นจริง ๆ ด้วยญาณทัสสนะจึงจะเป็นการเห็นความจริงทั้งหมด ทั้งโดยโครงสร้างและกฎเกณฑ์ ทำให้เข้าใจธรรมชาติทั้งหมดโดยภาพรวม เปรียบได้กับการเรียนรู้แบบนก คือ เมื่อต้องการเรียนรู้โลกก็ออกไปอยู่เหนือโลกแล้วมองโลกทีเดียวโดยภาพรวมด้วยปัญญาที่ล้ำลึกละเอียดกว้างขวาง มีข้อจำกัดตรงที่ว่าบุคคลที่จะสามารถฝึกฝนแบบนี้ได้นั้น ต้องมีพื้นฐานทางจิตใจและสติปัญญาดีพอสมควร   และดำเนินชีวิตตามรูปแบบเฉพาะเพื่อบำเพ็ญเพียร จึงจะบรรลุผลสูงสุด สำหรับบุคคลธรรมดาก็อาจฝึกฝนสร้างสรรค์ปัญญาตามวิธีดังกล่าวได้ โดยได้ผลตามสมควรแก่การฝึก แต่อาจไม่บรรลุผลสูงสุด ส่วนการพัฒนาภูมิปัญญาตามแนววิทยาศาสตร์ใช้ระบบการคิดคำนึงหาเหตุผล และการทดลองเพื่อพัฒนาในสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าเพื่อความสะดวกกายเป็นสำคัญ ไม่เน้นการเรียนรู้โดยองค์รวมของความเป็นจริง แต่เน้นการเรียนรู้เฉพาะเรื่องมุ่งเจาะให้แคบลึกลงไปเรื่องเดียว เปรียบได้กับการเรียนรู้แบบไส้เดือนที่ขุดคุ้ยอยู่เฉพาะรูที่ตนอยู่ เรียนรู้ทีละส่วน  จึงใช้เวลานับไม่ถ้วนกว่าจะขุดคุ้ยแผ่นดินได้หมดทั้งโลก วิทยาศาสตร์จึงเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น เป็นจุดหมายที่ไร้ปลายทาง  ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามการค้นพบ

 

 

 

back  Home

 

 

 

            1.6.14    ศรีนวล  ศรีจินดาภรณ์  (2533 : -วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต(ปรัชญา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศึกษาเปรียบเทียบเรื่องความหลุดพ้นตามทัศนะพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและนิกายเซ็น  แม้ว่าเถรวาทและเซ็นจะเป็นพระพุทธศาสนาที่ต่างนิกายกันก็ตาม แต่ทั้ง 2 นิกาย ก็มีความเชื่อว่าความหลุดพ้นเป็นจุดหมายสูงสุด เพราะชีวิตเป็นสภาพที่มากไปด้วยความทุกข์ การแก้ปัญหาชีวิตให้พ้นจากทุกข์จึงเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้นนั้น เซ็นมีหลักปฏิบัติแห่งศีล สมาธิ ปัญญา หรือระบบมัชฌิมาปฏิปทาเช่นเดียวกับเถรวาท แต่วิธีการต่างกัน คือ เซ็นนิยมการปฏิบัติแบบฉับพลันมากกว่าที่จะเป็นไปโดยลำดับ  เซ็นมีวิธีการขบโกอาน ซึ่งเถรวาทไม่มี  ฝ่ายเถรวาทมีวิธีการพิจารณาว่าร่างกายเป็นของอสุภะ ซึ่งฝ่ายเซ็นไม่มี ความแตกต่างเหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็น รายละเอียด ปลีกย่อยที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการใหญ่ วิธีการที่ต่างกันล้วนมุ่งหมายให้บุคคลใคร่ครวญถึงสภาวธรรมอย่างเดียวกันเป็นไปเพื่อการไถ่ถอนอัตตา เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความละวาง  ผลในบั้นปลายคือ การตรัสรู้และหลุดพ้นจากทุกข์เช่นเดียวกัน  ผู้ที่บรรลุถึงความหลุดพ้นขั้นสมบูรณ์สูงสุดทั้งของเถรวาทและเซ็น ย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจเยือกเย็น มั่นคง และสงบสุขเป็นนิจ มีจิตใจเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัด และมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอย่างเดียวกัน

 

           

 

 

back  Home

 

 

               1.6.15    วริยา  ชินวรรโณ และคณะ (2537) ศึกษาวิจัยเรื่อง “วิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย”ศึกษาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ พ..2500 เป็นต้นไป  ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การตีความคำสอนเรื่องสมาธิ ตลอดจนการนำมาเป็นแนวทางในการสอนปฏิบัติ จะมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของสิ่งที่นำมาใช้พิจารณา แบ่งออกเป็นสายสำคัญ5 สาย คือ

                      1.     สายอานาปานสติ คือ การพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก และบริกรรมภาวนาว่า
                              “พุทโธ” เป็นแบบที่นิยมมาแต่เดิม ได้แก่ กลุ่มพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต

                       2.     สายธุดงค์กรรมฐานอีสาน มีพื้นฐานจากสายอานาปานสติ แต่มีลักษณะเป็นพระป่าต้องออกธุงค์ด้วย มีมากในแถบภาคอีสาน

                      3.     สายวัดมหาธาตุ ฯ  เป็นสายใหญ่สายหนึ่ง ที่แผ่ขยายแนวการสอนสมาธิไปตามวิทยาเขตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
                                 ได้แนวปฏิบัติมาจากพม่า พิจารณาอาการพอง
-ยุบของหน้าท้องขณะหายใจ

                        4.     สายธรรมกาย ได้แก่ แนวการสอนตามแบบหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิจารณาดวงแก้วที่บริเวณศูนย์กลางของร่างกาย

                        5.     สายประยุกต์ มีการสังเคราะห์แนวคำสอนในพระพุทธศาสนามาใช้อธิบายการปฏิบัติและสอนสมาธิ เช่น สำนักสันติอโศก
                                 อาจารย์พร  รัตนสุวรรณ  หลวงพ่อเทียน  จิตตสุโภ

สำนักสายต่าง ๆ เหล่านี้ มีสาขาของการปฏิบัติ กระจัดกระจายตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย และมีอิทธิพลในทางความคิดต่อพุทธศาสนิกชนที่ยึดถือแนวทางปฏิบัติของสำนักเหล่าี้ และแม้ว่าแต่ละสำนักล้วนมีแนวทางการปฏิบัติแตกต่างกันออกไป แต่โดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่า ทุกสำนักต่างให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมสมาธิว่า เป็นการปฏิบัติใน 2 ลักษณะ คือ ในทางหลักการและในทางวิธีการ  ทางหลักการ คือ เป็นการอบรมเพื่อเข้าถึงธรรม ส่วนวิธีการ คือ การคิดค้นเทคนิคและวิธีปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ การกำจัดกิเลสและความชั่วต่าง ๆ ให้หมดไป

 

 

 

back  Home

 

 

 

 

 

                   งานวิจัยที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงบางส่วนของการนับถือศาสนาและทัศนคติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธไทย งานวิจัยเกี่ยวกับกรรมฐานในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ที่นอกจากพระไตรปิฎกยังมีอยู่น้อยมาก ผู้วิจัยจึงอยากทราบแนวความคิดในคัมภีร์อื่น เช่น   คัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ   และคัมภีร์วิสุทธิมรรค    ว่าจะมีวิธีการอธิบายเนื้อหาอย่างไร    ที่เน้นถึงความสำคัญของกรรมฐาน

                   

 

เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างความตายและการเกิดใหม่ (ชีวิตภายหลังความตาย)เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกชาติสงสัยกันมาช้านาน จะมีความเชื่ออยู่บ้างก็โดยฟังตามกันมา แต่ไม่เคยรู้ถึงขบวนการเปลี่ยนภพชาติดังกล่าว ความเกี่ยวโยงในเชิงพฤติกรรมหรือสัญชาตญาณเป็นอย่างไรยากที่จะยอมรับด้วยเหตุผลสามัญทั่วไป การปฏิบัติธรรมตามลักษณะระดับสามัญ เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม สวดมนต์ การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถึงจะทำได้เคร่งครัดอย่างไร เห็นนรก สวรรค์ เทวดา อย่างไรก็ไม่อาจเข้าถึงเหตุผลดังกล่าวได้ เป็นเพียงช่วยให้ชีวิตปัจจุบันไม่เดือดร้อนมากนัก แต่ไม่สามารถยุติการเกิดของชีวิตได้ อำนาจการสืบต่อจากการตายไปสู่การเกิดใหม่เป็นอย่างไร คำตอบต่าง ๆ จะได้มาก็ด้วยวิธีการปฏิบัติกรรมฐานเท่านั้น

 back   Home