ศีล สมาธิ ปัญญา : แนวคิดและความสัมพันธ์

จากพระคาถาพยากรณ์ที่เป็นบทตั้งของวิสุทธิมรรคกล่าวถึงการตั้งอยู่ในศีลด้วยบทว่า

สีเล ปติฏฺฐาย    หมายถึง          ภิกษุผู้ทำศีลให้บริบูรณ์ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในศีล

นโร สปญฺโญ     หมายถึง          ผู้มีปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่มีมาพร้อมกับปฏิสนธิ

จิตตํ ปัญฺฺญญฺจภาวยํ หมายถึง    การยังสมาธิ และวิปัสสนาให้เจริญอยู่ ทรงแสดงถึงสมาธิ ด้วยหัวข้อว่าจิต  
                                               ส่วนวิปัสสนาทรงแสดงโดยชื่อว่า ปัญญา หรือปญฺญญฺจ

อาตาปี              หมายถึง          ผู้มีความเพียร เป็นเหตุเผากิเลสให้เร่าร้อน

นิปโก                หมายถึง          ปัญญาอีกชนิดหนึ่ง ทรงแสดงถึงปาริหาริกปัญญา

ภิกฺฺขุ                  หมายถึง          ผู้ใดเห็นภัยในสงสาร เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ภิกษุ

ในบทท้าย คือ โส อิมํ วิชฏฺฺเย ชฏํ เป็นการสรุปสภาวธรรมข้างต้นว่า

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 6 ประการ คือ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ (หรือจิต) ด้วยปัญญา 3 ลักษณะ (ไตรเหตุปฏิสนธิ, วิปัสสนาปัญญา และปาริหาริกปัญญา) และด้วยความเพียรเผากิเลสนี้ เมื่อยืนอยู่บนแผ่นดินคือศีลแล้ว ยกศัสตรา คือ วิปัสสนาปัญญา ที่ลับด้วยศิลาคือสมาธิ อยู่ในมือคือปาริหาริกปัญญา ที่มีกำลังวิริยะ พึงถาง ตัด ทำลาย ซึ่งชัฏ คือ ตัณหา อันตกอยู่ในสันดานของตนทั้งหมดได้ เปรียบเหมือนบุรุษยืนบนแผ่นดิน ยกศัสตราที่ลับดีแล้ว ถางกอไผ่ใหญ่ฉะนั้น”

“ก็ในขณะแห่งมรรค ภิกษุนี้ชื่อว่า กำลังถางชัฏนั้นอยู่ ในขณะแห่งผลชื่อว่าถางชัฏเสร็จแล้ว ย่อมเป็นอัครทักขิไณยของ (มนุษย์) โลก กับทั้งเทวโลก ทั้งหลาย”

 

การเจริญไตรสิกขาในที่นี้ ทรงหมายเอา ศีล สมาธิ และวิปัสสนาปัญญา ที่กำลังเกิดพร้อมในอารมณ์อันเดียวกันเท่านั้น มิใช่เจริญไปคนละขณะ เพราะ ศีล - สมาธิ - ปัญญา ที่เกิดในอารมณ์ต่างกัน จะไม่สามารถเป็นบาทฐานแก่กันได้เลย ศีลมีลักษณะเหมือนกับพื้นที่ สมาธิเหมือนกับผู้คอยประคองให้มีความมั่นคง ส่วนปัญญามีหน้าที่พิสูจน์ดูความจริง

ถ้าจะมีแต่เฉพาะศีล โดยที่ไม่ต้องมีสมาธิและปัญญาร่วมด้วยก็อาจมีได้ เช่น พระภิกษุที่บวชกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าท่านไม่ได้ทำสมาธิหรือวิปัสสนาแต่อย่างใด ก็จะมีเฉพาะศีลเท่านั้น ไม่มีสติกับปัญญาเกิดร่วมด้วย บางครั้งมีศีลและสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาในขณะนั้นก็อาจมีได้เช่นกัน เช่น ภิกษุที่กำลังทำสมาธิเพ่งกสินต่าง ๆ เป็นต้น ขณะนั้นมีศีล มีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาร่วม เพราะไม่ได้มีการพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของรูปนาม เป็นเพียงการข่มจิตให้นิ่งด้วยอารมณ์ภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

 

แต่ถ้าผู้ใดกำลังเจริญวิปัสสนาปัญญาอย่างถูกต้องแล้ว จะต้องมีศีลและสมาธิอยู่ในที่นั้นด้วยเสมอ การทำลายกิเลสในส่วนลึกให้หมดไป จำเป็นต้องมีพร้อมทั้ง ศีล-สมาธิ-ปัญญา โดยศีลมีหน้าที่ทำลายกิเลสอย่างหยาบที่แสดงออกทางกาย วาจา เป็นต้น สมาธิมีหน้าที่ทำลายกิเลสอย่างกลาง ได้แก่ ความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ส่วนปัญญามีหน้าที่ทำลายกิเลสอย่างละเอียด คือ อนุสัยต่าง ๆ แม้ในอนุสัย 2 อย่าง (อารัมมณานุสัย และสันตานานุสัย) นั้น วิปัสสนาปัญญาจะละได้ก็เพียงอารัมมณานุสัยเท่านั้น อำนาจวิปัสสนาปัญญาสามารถละความรัก ความชัง ที่เกิดจากการเห็นได้ยิน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ดีและไม่ดีได้ ส่วนสันตานานุสัยนั้น เป็นอนุสัยที่ลึกและมั่นคงกว่า ต้องอาศัยมรรคจิตที่เป็นอรหัตตมรรคเท่านั้น จึงจะละสันตานานุสัยได้เด็ดขาด

(พระมหาแสวง โชติปาโล 2536 : 79)

 

ศีล สมาธิ และปัญญา แม้จะเกิดในขณะจิตเดียวหรือรับอารมณ์เดียวกัน แต่มีหน้าที่ต่างกัน เป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้ก็เพื่ออุดหนุนกัน เจริญเป็นทางแห่งวิสุทธิเพื่อการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา อานุภาพแห่งความบริสุทธิ์ของศีล สมาธิ ปัญญา จะมีขีดจำกัดเฉพาะตัว ในวิสุทธิมรรคกล่าวถึงองค์คุณของศีล สมาธิ ปัญญา และขีดจำกัดในการอุดหนุนกันแยกเป็น 9 ประการ ได้แก่

1. สิกขา 3

2. ศาสนามีความงาม 3

3. อุปนิสัยแห่งคุณวิเศษ มีความเป็นผู้ได้วิชชา 3 เป็นต้น

4. การเว้นที่สุดโต่ง 2 อย่าง และการเสพข้อปฏิบัติสายกลาง

5. อุบายที่เป็นเครื่องพ้นจากคติมีอบาย

6. การละกิเลสด้วยอาการ 3

7. ธรรมอันเป็นปฏิบัติต่อกิเลส มีวิติกกมะ

8. การชำระสังกิเลส 3

9. เหตุแห่งความเป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน

 

ตารางต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างของศีล สมาธิ ปัญญา ตามลักษณะ 9 ประการข้างต้น ทั้งนี้ยังมีคุณที่เป็นหมวด 3 อื่น ๆ อีกมาก เช่น วิเวก 3 กุศลมูล 3 เป็นต้น ที่สามารถแจกตามศีล สมาธิ ปัญญา เช่นกัน แต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้

ตารางที่ 7 การจำแนกองค์คุณ 9 ประการ โดยระดับแห่งศีล สมาธิ ปัญญา

 องค์คุณ

ศีล

สมาธิ

ปัญญา

1. สิกขา 3

อธิศีลสิกขา

อธิจิตสิกขา

อธิปัญญาสิกขา

2. ศาสนามีความงาม 3

ความงาม

ในเบื้องต้น

(การไม่ทำบาปทั้งสิ้น)

ความงาม

ในท่ามกลาง

(ยังกุศลให้ถึงพร้อม)

ความงาม

ในที่สุด

(การทำจิตให้ผ่องแผ้ว)

3. อุปนิสัยแห่ง

คุณวิเศษ

เป็นผู้ได้

วิชชา 3

เป็นผู้ได้

อภิญญา 6

เป็นผู้แตกฉาน

ในปฏิสัมภิทา 4

4. การเว้นความสุดโต่ง

2 อย่าง

เว้นจาก

กามสุขัลลิกานุโยค

เว้นจาก

อัตตกิลมถานุโยค

มีการเสพข้อปฏิบัติสายกลาง คือ

มัชฌิมาปฏิปทา

5. อุบายเป็นเครื่องพ้น

จากคติ

อุบายก้าวพ้น

จากอบาย

อุบายก้าวพ้น

จากกามธาตุ

อุบายก้าวพ้น

จากภพทั้งปวง

6. การละกิเลส

ด้วยอาการ 3

(ชนิดของการละ)

ละโดย

ตทังคปหาน

ละโดย

วิกขัมตนปหาน

ละโดย

สมุจเฉทปหาน

7. ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส

(ชนิดของกิเลส)

ละกิเลสชนิดวิติกกมะ

(ที่จะออกทางกาย วาจา)

ละกิเลสชนิด

ปริยุฏฐาน

(นิวรณ์ที่กลุ้มรุมจิต)

ละกิเลสชนิด

อนุสัย

(ที่อยู่ในสันดาน)

8. การชำระสังกิเลส 3

ชำระสังกิเลส

ที่เป็นทุจริต

ชำระสังกิเลส

ที่เป็นตัณหา

ชำระสังกิเลส

ที่เป็นทิฏฐิ

9. เหตุแห่งความเป็นพระอริยบุคคล

พระโสดาบันบุคคล

พระสกทาคามีบุคคล

 

พระอนาคามีบุคคล

 

พระอรหันต์บุคคล

Back to Menu

ศีล สมาธิ ปัญญา : แนวคิดและความสัมพันธ์ :: ปัญญานิเทศ :: เปรียบเทียบคัมภีร์พระไตรปิฎกกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค