ปัญญานิเทศ : :
ในวิสุทธิมรรค กล่าวถึงปัญญา 3 อย่าง คือ ปัญญาที่หนึ่งเป็นปัญญาที่มีมาพร้อมกับปฏิสนธิ ปัญญาที่สองเป็นวิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่สามเป็นปัญญาที่นำในการบริหารกิจกรรม
ทุก ๆ อย่าง
สำหรับปัญญาที่หนึ่งที่มีมาพร้อมกับปฏิสนธิ หมายถึง ปัญญาเจตสิกที่ประกอบมาพร้อมกับวิบากจิตไตรเหตุ* ที่ทำหน้าที่เกิด ผู้ที่เกิดมาด้วยจิตดวงนี้เรียกว่า ติเหตุกบุคคล หรือคนไตรเหตุ ส่วนวิปัสสนาปัญญาหมายถึงปัญญาที่สามารถละกิเลสอย่างละเอียดออกจากจิตได้ นับตั้งแต่ นามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นไป จนถึงโคตรภูญาณเป็นที่สุด สำหรับปัญญาที่สามชื่อว่าปาริหาริกปัญญานั้น พระธรรมปาละมหาเถระขยายความปัญญาชนิดนี้ไว้ในคัมภีร์มหาฎีกาว่า
ปัญญาที่ได้นามว่า ปาริหาริกา ก็เพราะประกอบแล้วในการนำไปโดยรอบคอบ ซึ่งพระกรรมฐานปัญญาใดที่กำหนดนำเอากิจทุกอย่าง มีการก้าวไปข้างหน้า เป็นต้น ด้วยอำนาจของสัมปชัญญะมีสาตถกสัมปชัญญะ เป็นต้น ปัญญานั้นชื่อว่า สรรพกิจปาริหาริกาปัญญา
อีกอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นด้วยการเรียน การถาม และการเจริญ คือ วิธีใส่ใจในพระกรรมฐานนั้น ต้องมีปัญญาที่นำกิจทุกอย่างไปโดยรอบคอบ เช่น ความเป็นผู้มีปกติทำไปด้วยความเคารพ โดยติดต่อโดยความเป็นสัปปายะ ความเป็นคนฉลาดในนิมิต โดยความเป็นผู้ส่งใจในความสิ้นทุกข์ โดยไม่ย่อท้อเสียในระหว่าง โดยความเพียรให้ถึงความสม่ำเสมอกัน ประกอบความเพียรให้เสมอภาคกัน ปัญญาเช่นนี้ชื่อว่า สรรพกิจปริณายิกาปัญญา
ดังนั้น จะเห็นว่าคนทุกคนอาจจะสร้างนิสัยในการเจริญวิปัสสนาได้ แต่มิใช่ทุกคนที่สามารถเจริญวิปัสสนาจนได้ญาณปัญญา จะมีบุคคลเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเจริญวิปัสสนาให้เกิดญาณปัญญาได้ บุคคลดังกล่าวได้แก่ ผู้ที่เกิดมาพร้อมด้วยไตรเหตุ นอกจากนี้ยังต้องเคยอบรมเคยศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนาจนได้เหตุผลมาก่อนแล้วเท่านั้น
การสั่งสมปัญญา ความรู้ และความเข้าใจในเหตุผล เป็นงานต่อเนื่องที่อาจทำสำเร็จภายในภพชาติเดียว ความคิดที่ควรสร้างสรรค์ขึ้นในแต่ละภพชาติ คือ ความคิดที่ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ที่จะพ้นไปจากความทุกข์หรือความวนเวียนของการเกิด แก่ ตาย นั่นเอง
หมวดปัญญานิเทศเป็นหมวดที่ขยายใจความสำคัญในปริจเฉทที่ 9 ของอภิธัมมัตถสังคหะให้กว้างขวางขึ้น ทั้งนี้จำเป็นต้องเข้าใจสภาวธรรมพื้นฐานของปรมัตถธรรมทั้ง 4 ที่กล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะตั้งแต่ปริจเฉทที่ 1 ถึงปริจเฉทที่ 8 มาก่อนด้วยเช่นกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงความรู้ก่อนการปฏิบัติ (แนบ มหานีรานนท์ 2529 : 9-13) อันเป็นเงื่อนไขสำคัญ ใช้ตรวจสอบการปฏิบัติว่าเป็นไปตามบรรทัดฐานหรือไม่ นอกจากนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของญาณ 16 และวิสุทธิ 7 ตามลำดับต่อไป
4.2.3 ความรู้ก่อนการปฏิบัติ 6 ประการ
1. เรื่องอารมณ์ อารมณ์ของวิปัสสนา ได้แก่ วิปัสสนาภูมิ 6 คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจจ์ 4 และปฏิจจสมุปบาท 12 เมื่อย่อวิปัสสนาภูมิ 6 ลงแล้วก็ได้แก่ รูปกับนาม รูปกับนามนี้เป็นตัวกรรมฐานที่จะนำไปใช้ในการพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษารูป-นามให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงเริ่มปฏิบัติเพราะถ้าไม่เข้าใจแล้ว เมื่อรูปหรือนามอะไรปรากฏ ผู้ปฏิบัติก็จะกำหนดไม่ถูก
2. เรื่องปัจจุบัน คำว่าปัจจุบัน มี 2 อย่าง คือ ปัจจุบันธรรม กับปัจจุบันอารมณ์ ปัจจุบันธรรม คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลายของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เช่น รูป เสียง กลิ่น รส ความร้อน-เย็น ความอ่อน-แข็ง กลางวัน-กลางคืน คลื่นแม่เหล็ก คลื่นไฟฟ้า ที่มีอยู่ในบรรยากาศทั่วทุกมุมของโลก ความรู้สึก รัก - เกลียด ดีใจ - เสียใจ เจ็บปวด - กลัวตาย การเกิด การตาย ที่มีอยู่ในความเป็นอยู่ของสัตว์ทุกชนิด เช่น ยุง มีอยู่ทั่วไปเป็นปัจจุบันธรรม แต่เมื่อใดที่ยุงมากัดเราทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บ ยุงตัวนั้น และความรู้สึกเจ็บ จัดว่าเป็นปัจจุบันอารมณ์
ดังนั้น ปัจจุบันอารมณ์จึงหมายถึง รูป-นามที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า และผู้ปฏิบัติรู้เท่าทันปัจจุบันธรรมที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้านั้นได้เป็นอารมณ์ได้ อารมณ์นั้นก็ชื่อว่าปัจจุบันอารมณ์ ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามให้ได้ปัจจุบันอารมณ์เสมอ เช่น เวลานั่งอยู่อาการท่าทางของร่างกายที่ตั้งอยู่อย่างนั้นเป็นปัจจุบันธรรมด้วย และผู้ปฏิบัติก็กำหนดดูในขณะที่รูปนั่งปรากฎอยู่เฉพาะหน้านั้น รูปนั่งนั้นก็เป็นปัจจุบันอารมณ์ด้วยดังนี้ เป็นต้น
ประโยชน์ของปัจจุบันอารมณ์ คือ ทำลายอภิชฌา (ความยินดี) และโทมนัส (ความไม่ยินดี) การเจริญสติปัฏฐานนั้น จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อทำลายอภิชฌาและโทมนัส เพียงแต่ความเพียรอย่างเดียว หรือสติอย่างเดียว หรือปัญญาอย่างเดียว ไม่สามารถทำลายอภิชฌาและโทมนัส หรือให้เกิดวิปัสสนาได้ เพราะเหตุว่าไม่มีปัจจุบันอารมณ์ ผู้ปฏิบัติจึงต้องอาศัยอารมณ์ด้วย เพราะอารมณ์ปัจจุบันเป็นปัจจัยแก่การทำลายอภิชฌาและโทมนัส และเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาปัญญา
อารมณ์ปัจจุบันนั้นได้มาอย่างไร ก็ได้มาจากอินทรีย์สังวร เช่น สังวรในเวลาเห็นก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อเวลาได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เป็นต้น ถ้ามีปัจจุบันอารมณ์แล้วอภิชฌาและโทมนัสจะเกิดขึ้นไม่ได้ขณะนั้น
ผู้ที่มีความเข้าใจในอารมณ์ปัจจุบัน และเคยมีประสบการณ์ตรงในอารมณ์ปัจจุบัน แล้วจึงรู้ว่า กาลใด สถานที่ใดควรแก่การเจริญวิปัสสนา เพราะปัจจุบันธรรมนั้นมีอยู่ตลอดเวลา แต่กาละเทศะที่ควรแก่การจะถือเอาปัจจุบันธรรมมาเป็นอารมณ์ปัจจุบันได้นั้น อาจจะไม่เหมาะสมในบางเวลาและบางสถานที่
ผู้ไม่เข้าใจก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ เช่น ขณะฟังพระเทศน์ ไม่ใช่กาลที่ควรเจริญวิปัสสนา เพราะถ้ากำหนดการได้ยินว่าเป็นนามแล้ว ก็จะไม่รู้เรื่องที่เทศน์ และสถานที่ในการเจริญวิปัสสนาก็ควรพิจารณาว่าต้องเป็นสถานที่ที่ไม่เป็นปัจจัยแก่กิเลส พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญป่า โคนไม้ เรือนร้างว่างเปล่า เป็นต้น ว่าเป็นสถานที่อันสงัดและเงียบสงบ เหมาะแก่การทำความเพียรที่เกื้อกูลผู้ปฏิบัติให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้สะดวก
3. เรื่องสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัวของผู้ปฏิบัติในขณะที่กำหนดรูป-นาม ความรู้สึกตัวนี้มีหลักอยู่ว่า ในขณะนั้นผู้ปฏิบัติกำลังทำอะไร คือ มีตัวกรรมฐานกับตัวผู้เจริญกรรมฐานหรือเจริญวิปัสสนา ตัวกรรมฐาน ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 หรือรูปนามเป็นตัวถูกเพ่ง ส่วนผู้เพ่งหรือโยคาวจร ได้แก่ อาตาปี สัมปชาโน สติมา คือ มีตัวถูกเพ่ง กับตัวเพ่ง เท่านั้น
ความรู้สึกตัวในการกำหนดรูปนาม มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญวิปัสสนา โดยมากมักเป็นการนึกคิด แล้วเข้าใจว่าความคิดนึกนั้นเป็นความรู้สึกตัว ถ้าความรู้สึกตัวมีมากเพียงใด ก็ได้ปัจจุบันอารมณ์มากเพียงนั้น เป็นความสำคัญของวิปัสสนาว่า เวลากำหนดหรือเวลาดูรูป-นามนั้น จะต้องรู้สึกตัวอยู่ว่าดูรูปอะไร ดูนามอะไร ถ้าดูรูปไปเฉย ๆ หรือดูนามไปเฉย ๆ ก็ไม่เป็นการถูกต้อง เช่น
ดูรูปนั่ง ต้องให้ได้ความรู้สึกตัวด้วยว่าดูรูปนั่ง บางทีดูรูปนั่งอยู่ แต่สักครู่เดียวสมาธิก็เข้าหรือไม่ก็คิดฟุ้นซ่าน พอสมาธิเข้าแล้วความรู้สึกตัวว่านั่งก็หมดไป เป็นต้น ก็ต้องกลับมาทำความรู้สึกตัวใหม่ ต้องมีความเพียรพยายามยกจิตให้เข้าสู่ในทางของวิปัสสนาเช่นนี้เสมอ ๆ เพื่อขจัดกิเลสความเข้าใจผิดว่าเรานั่งออกไป
4. การกำหนดอารมณ์ ตามหลักปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้น ให้กำหนดที่อารมณ์ปัจจุบัน เช่น การเห็นหรือการได้ยิน เป็นนามธรรมเกิดขึ้น จะต้องกำหนดว่าเป็นนาม คือ กำหนดที่นามเห็นหรือที่นามได้ยินนั้น ๆ หรือเวลานั่ง เวลานอน เป็นต้น ซึ่งเป็นรูปธรรมก็กำหนดรูปนั่งหรือรูปนอนนั้น ๆ กล่าวคือ ต้องมีนามอะไร รูปอะไร ร่วมไปในอารมณ์ปัจจุบันนั้นด้วยเสมอ โดยมากในการสอนวิปัสสนานั้นกล่าวถึงการสังเกตรูป-นามจริง แต่เวลาปฏิบัติไม่ได้นำรูปอะไร นามอะไร ที่จะต้องกำหนดในเวลานั้นไปใช้ด้วย และบางทีก็ไม่รู้ด้วยว่าจะต้องกำหนดอย่างไร และเวลาใด
เวลาที่กำหนดขึ้น ปริยัติที่เรียนรู้มากับการปฏิบัติต้องเข้าไปด้วยกัน คือ ปริยัติกล่าวถึงการกำหนดอะไร กำหนดอย่างไร เมื่อเวลาปฏิบัติก็ต้องนำเอาปริยัติที่เรียนมาแล้วไปใช้ให้ถูกตำแหน่งในขณะที่กำหนดด้วย
5. เหตุผลในการปฏิบัติ การเจริญวิปัสสนานั้น ผู้ปฏิบัติควรจะได้เหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงต้องปฏิบัติหรือกำหนดเช่นนั้น เช่น ขณะกำหนดอิริยาบถว่ารูปนั่ง เมื่อความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นในขณะที่นั่ง ก็ไม่สามารถกำหนดอิริยาบถได้ เพราะความฟุ้งซ่านเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนกว่ารูปนั่งในขณะนั้น และเป็นนามธรรมก็กำหนดนามฟุ้ง
การที่ให้พิจารณาความฟุ้งซ่านว่าเป็นนามฟุ้งซ่านนั้น เพื่อประโยชน์อะไร มีเหตุผลอย่างไรนั้น ความสำคัญอยู่ที่การใช้เหตุผล อยู่ที่ความเข้าใจ มิใช่อยู่ที่การกำหนด เหตุผลนั้นสำคัญมากที่จะตัดสินได้ว่าการปฏิบัตินั้นผิดหรือถูก มิใช่กำหนดความฟุ้งว่าเป็นนามฟุ้ง เพราะอาจารย์สั่ง แล้วทำตามไป หรือกำหนดเพื่อให้ฟุ้งหาย เช่นนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก
6. ความสังเกต ความสังเกตมีความสำคัญในการเจริญวิปัสสนา เมื่อสังเกตจะรู้ว่าการกำหนดนั้นตกไปจากอารมณ์รูปนามหรือไม่ ถ้าไม่มีความสังเกตแล้ว เมื่อจิตตกจากอารมณ์ไปใส่ใจสมาธิ รูป-นามก็ตกไปด้วย จึงควรจะรู้ว่าเมื่อสมาธิเกินแล้ว ความรู้สึกตัวจะไม่อยู่ที่ปัจจุบัน คือ จิตจะนิ่งไปโดยไม่รู้ตัว สมาธินั้นทำให้จิตนิ่งและหยุดจากการกำหนด แต่ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าตนเองยังดูรูปนั่งอยู่
ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องมีความสังเกตในเวลานั้นว่าทำถูกต้องหรือไม่ เมื่อรู้ว่าไม่ถูกควรกลับมาทำความรู้สึกตัวให้ถูกในอารมณ์ปัจจุบันใหม่
ความรู้ความเข้าใจในเรื่องอารมณ์ เรื่องความหมายของปัจจุบันอารมณ์และสติสัมปชัญญะ ตลอดจนวิธีการกำหนดอารมณ์และเหตุผลในการกำหนด ความเข้าใจทั้งหมดนี้รวมอยู่ในหัวข้อการสังเกตทั้งสิ้น หลักการสังเกต คือ การเฝ้าดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เกิดเพราะเหตุใด ในเวลาต่อมาสิ่งเหล่านั้นยังมีอยู่จริงหรือไม่ เปรียบเหมือนกับการดูละคร ตัวละครคือรูปและนาม แต่ละรูปแต่ละนามจะมีพฤติกรรมแสดงออกอย่างไร เพียงแต่ตั้งใจดูก็จะรู้ถึงความสัมพันธ์ของรูปและนามเหล่านั้น โดยผู้สังเกตหรือผู้ดูที่ดีจะไม่ไปจัดแจงหรือบงการตัวละครว่าต้องแสดงอย่างนั้น อย่าแสดงอย่างนี้หรือเข้าไปร่วมเล่นละครด้วย
ในสังยุตตนิกาย อุปมาเกี่ยวกับการสังเกตไว้ว่า เปรียบเหมือนกับพ่อครัวปรุงอาหารถวายพระราชา พ่อครัวต้องคอยสังเกตหรือสำเหนียกในอาหารที่จะบำรุงพระราชานั้นว่า อาหารอย่างไร รสอย่างไร เป็นที่โปรดปรานของพระราชา หากทำถูกพระทัย พ่อครัวย่อมจะได้รับรางวัล เช่นเดียวกับวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติต้องมีความสังเกตว่า ตนทำถูกหรือไม่ ถ้าทำได้ถูกต้องตามเงื่อนไขย่อมได้รับรางวัลเป็นผล คือ วิปัสสนาปัญญา
4.3 แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
ญาณ 16
ญาน 16 คือ ความรู้สึกด้วยปัญญาที่ได้มาจากการเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติปัฏฐาน ระดับของปัญญาแบ่งเป็นลำดับขั้น ดังนี้ (วิสุทธิ อ. ภาค 3/205)
1. นาม-รูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญารู้ว่านามและรูปเป็นคนละส่วน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน
2. ปัจจยปริคหญาณ คือ ปัญญารู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดนาม-รูป
3. สัมมสนญาณ คือ ปัญญารู้ความไม่เที่ยงของนาม-รูป
4. อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญารู้ความเกิดขึ้นและดับไปของนาม-รูป
5. ภังคญาณ คือ ปัญญารู้ความดับไปของนาม-รูป
6. ภยญาณ คือ ปัญญารู้ว่านาม-รูปเป็นภัยที่น่ากลัว
7. อาทีนวญาณ คือ ปัญญารู้โทษของนาม-รูป
8. นิพพิทาญาณ คือ ปัญญารู้สึกเบื่อหน่ายนาม-รูป
9. มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ ปัญญารู้สึกอยากพ้นจากนาม-รูป
10. ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญารู้ธรรมอันเป็นเครื่องพ้นจากนาม-รูป
11. สังขารุเปกขาญาณ คือ ปัญญารู้การทำลายความยินดี ยินร้าย ในนาม-รูป แล้ววางเฉยได้
12. อนุโลมญาณ คือ ปัญญารู้ธรรมที่จะอนุโลมให้เห็นอริยสัจจธรรมทั้ง 4
13. โคตรภูญาณ คือ ปัญญารู้นิพพานเป็นอารมณ์ แต่จิตเป็นโลกีย์
14. มัคคญาณ คือ ปัญญารู้นิพพานเป็นอารมณ์ แต่จิตเป็นโลกุตตระ
15. ผลญาณ คือ ปัญญารู้นิพพานเป็นอารมณ์ แต่จิตเป็นโลกุตตระ
16. ปัจจเวกขณญาณ คือ ปัญญารู้มรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่เหลือ
ดังได้กล่าวแล้วว่า วิปัสสนามีสติปัฏฐานเป็นเหตุ มีวิสุทธิคือความหมดจดเป็นผล นอกจากนั้นแล้ววิปัสสนาที่เกิดก่อน ๆ ก็เป็นเหตุของวิปัสสนาที่เกิดหลัง ๆ วิปัสสนาบางอย่างเป็นได้แต่เหตุอย่างเดียว บางอย่างเป็นได้แต่ผลอย่างเดียว
สำหรับที่เป็นเหตุอย่างเดียวกัน ก็ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะไม่มีวิปัสสนาญาณอื่นที่นอกเหนือไปจากตนจะเป็นเหตุให้ อาจจะมีปัญญาอื่นเป็นปัจจัยให้ได้ก็เฉพาะสุตมยปัญญาและจินตมยปัญญาเท่านั้น
สำหรับโคตรภูญาณก็เป็นได้เฉพาะผลของอนุโลมญาณเพียงญาณเดียวเท่านั้น ตนเองไม่อาจเป็นเหตุของวิปัสสนาอื่นอีก เพราะหลังจากตนไม่มีวิปัสสนาญาณอื่นเกิดได้อีกแล้ว เมื่อตนดับลงก็เกิดมรรคญาณ คือ พระโสดาปัตติมรรค ซึ่งเป็นโลกุตตรมรรค และโลกุตตรมรรคนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ
ส่วนวิปัสสนาในระหว่างคือตั้งแต่ปัจจยปริคหญาณเป็นต้นไป จนถึง อนุโลมญาณ เป็นได้ทั้งเหตุและผล
(พระมหาแสวง โชติปาโล ; 2536 : 73)
ศีล สมาธิ ปัญญา : แนวคิดและความสัมพันธ์ :: ปัญญานิเทศ :: เปรียบเทียบคัมภีร์พระไตรปิฎกกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค