คัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ
อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นผลงานของพระอนุรุทธาจารย์ ชาวอินเดียใต้ (บางแห่งกล่าวว่าเป็นชาวลังกา) ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า แต่งขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า คงแต่งขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ในสมัยเดียวกับที่ พระพุทธโฆษาจารย์ แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ เป็นคัมภีร์ที่ รวบรวมเนื้อความในพระอภิธรรมปิฎก มากล่าวไว้ แต่โดยย่อ แบ่งออกเป็น ๙ ปริจเฉท ถือกันว่าอภิธัมมัตถสังคหะนี้ เป็นเพชรน้ำเอกเล่มหนึ่ง ในบรรดาคัมภีร์ ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คือ นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว หนังสือที่ถือว่าเป็นเพชรน้ำเอก ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท มีอยู่ ๓ คัมภีร์ คือ
๑. มิลินทปัญหา ๒. วิสุทธิมรรค ๓. อภิธัมมัตถสังคหะ (พระศรีวิสุทธิกวี จิตวิทยาในพระอภิธรรม หน้า ๑ )สด สังขพิทักษ์ กล่าวถึงการรจนาคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหบาลีไว้ว่า ยังไม่มีหลักฐานแน่นอนว่า พระอนุรุทธจารย์รจนาขึ้นเมื่อพุทธศักราชล่วงแล้วเท่าใด มีข้อความอ้างอิงอยู่ ๒ แห่ง คือ ในอารัมภพจน์ของหนังสืออภิธัมมัตถสังคหบาลี ฉบับแปลเป็นไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ กล่าวว่า อภิธัมมัตถสังคหบาลีและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกาเป็นปกรณ์คู่กัน... ในที่ลางแห่งกล่าวว่า พระอนุรุทธาจารย์ผู้นี้ รุ่นเดียวกับท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลาย ราว ๆ พ.ศ. ๙๕๓ ...
อีกแห่งหนึ่ง คือ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า๖๘ และหน้า ๘๓ มีข้อความกล่าวไว้ว่า
หนังสือสยามูสัมปทกล่าวความแทรกไว้ในตอนนี้ว่า ตั้งแต่พระพุทธโฆษาจารย์ออกไปทำสังคายนา เมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ในแผ่นดินพระเจ้ามหานาม ต่อมามีพระเถระที่ได้แต่งหนังสือในทางศาสนาทำนองเดียวกันบอกนามพระเถระไว้ ๒๗ รูป... (ในจำนวนนี้มีออกนามพระอนุรุธไว้ ๒ แห่ง)
จากข้อความดังกล่าวสันนิษฐานได้ว่า คัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งรจนาโดยพระอนุรุทธาจารย์นี้ เกิดขึ้น ในคราว พระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกาทวีป ประมาณปีพุทธศักราช ๙๕๓ ส่วนจะมีหลักฐานแน่นอนเป็นอย่างอื่นในที่ใด ยังไม่อาจทราบได้
พระอนุรุทธาจารย์ เกิดในตระกูลผู้ดีตระกูลหนึ่งในนครกาเวรี มณฑลกัญจีบูร ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย เป็นพระภิกษุผู้มีไหวพริบดี มีการศึกษาดี เมื่อพุทธศักราชล่วงมาประมาณ ๑๐๐๐ ปี ท่านได้เดินทางจาก รัฐทมิฬไปยังประเทศลังกา ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าอภัยราช พระนางเจ้าโสมเทวีพระมเหสีของ พระเจ้าอภัยราชโปรดให้สร้างวิหารพระอารามหลวง ถวายให้ท่านเข้าพรรษาตามวารสมัย ในครั้งนั้น มีอุบาสกท่านหนึ่งชื่อ นัมปะ เป็นอุบาสกผู้มีความศรัทธาอันบริสุทธิ์ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปรารถนาจะอนุเคราะห์ผู้อื่นให้รู้ตามบ้าง จึงได้อาราธนาท่านพระอนุรุทธาจารย์ให้รจนาคัมภีร์อรรถกถาขึ้น ก็เพื่อช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรือง มั่นคงสืบไป พระอนุรุทธาจารย์จึงได้มุ่งมั่นรจนาพระคัมภีร์ตามคำอาราธนาของอุบาสกนัมปะ คัมภีร์ที่ท่านรจนามี ๓ ปกรณ์ด้วยกัน (พระมหาแสวง โชติปาโล ๒๕๓๕ ก: [๙]-[๑๑]) คือ
(๑) อภิธัมมัตถสังคหอัฏฐกถาปกรณ์
(๒) ปรมัตถวินิจฉัยปกรณ์
(๓) นามรูปปริจเฉทปกรณ์ใน ๓ ปกรณ์ดังกล่าว คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะอัฏฐกถาปกรณ์ นับว่าเป็นวรรณคดีอมตะคัมภีร์หนึ่งของท่านพระอนุรุทธาจารย์ ซึ่งรวบรวมจากคัมภีร์ประมาณ ๘๕๐ คัมภีร์ (บุญมี เมธางกูร และ สมพร ศรีวราทิตย์ ๒๕๓๐ : [ก]) มารจนาเป็นคัมภีร์ พระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท เมื่อประมาณ ๑๔๐๐ ปีล่วงมาแล้ว คัมภีร์ที่ท่านรจนาไว้ครั้งนั้น ปรากฏว่าเป็นทำนองเดียวกัน กับอรรถกถา คือ อธิบายพระพุทธพจน์ ในกาลต่อมาบัณฑิตและนักปราชญ์ทั้งหลายได้ขนานนามคัมภีร์นี้ว่า กนิษฐอรรถกถา ด้วยความเป็นบุพพารีของพระอนุรุทธาจารย์ในครั้งนั้นเอง อนุชนในสมัยต่อมา จึงได้อาศัยคัมภีร์นี้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติ-ธรรม เพื่อเข้าถึงปรมัตถ์ อันไม่ขัดต่อนวังค สัตถุศาสน์ของพระบรมศาสดา
ประวัติการศึกษาคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะในประเทศไทย
เดิมพระอภิธรรมมีการศึกษากันเองในหมู่ผู้สนใจสืบทอดต่อกันมา ไม่มีการเปิดสอน ไม่มีการสอบอย่างเป็นทางการ แต่อย่างใด ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยซึ่งมี พระพิมลธรรม* (อาจ อาสภเถระ) และพระภาวนาภิรามเถระ (สุข ปวโร) เป็นผู้ริเริ่ม และให้ความสนใจในการศึกษาพระอภิธรรมมาก ได้อาราธนาพระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ผู้เชี่ยวชาญทางพระอภิธรรมปิฎกจากประเทศพม่า มาอำนวยการสอน พระอภิธรรม ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี
พระสัทธัมมโชติกะเป็นผู้ริเริ่มนำ คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะอัฏฐกถาปกรณ์ ของพระอนุรุทธาจารย์มาวางหลักสูตร อภิธัมมัตถสังคหะ๙ ปริจเฉท เป็นภาษาไทยอย่างพิสดารในชั้นต้นและวาง หลักสูตรพระอภิธรรมเป็นภาษาไทยในชั้นสูง รวม ๙ ชั้นด้วยกัน ปัจจุบันขยายการศึกษาเป็นอภิธรรมวิทยาลัยขึ้น ชื่อว่า อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โครงสร้างของคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ
พระอภิธรรมปิฎก เป็นส่วนที่แสดงเนื้อความเกี่ยวกับความจริงขั้นสุดยอดของชีวิต กล่าวถึงส่วนประกอบของชีวิต อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน คุณสมบัติของแต่ละส่วน ตลอดจนเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ของทุกส่วนว่า มีอิทธิพลต่อกันอย่างไรบ้าง อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นชื่อคัมภีร์อรถกถาที่ประมวลเนื้อความจากพระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์เข้าไว้โดยย่อ กล่าวคือ ได้รวบรวมเนื้อความที่เป็นธรรมชาติอันประเสริฐยิ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมชาตินั้นมีเพียง จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติทั้งหลาย พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงลำดับหัวข้อ ความสัมพันธ์โดยแบ่งเป็น ๙ ปริเฉท คือ
จิตตสังคหวิภาค
ว่าด้วยการจำแนกจิตเป็นประเภทต่าง ๆ ตามความสามารถในการรู้อารมณ์
เจตสิกสังคหวิภาค
ว่าด้วยการจำแนกเจตสิกที่ประกอบกับจิต ทำให้จิตมีความเป็นไปต่าง ๆ ได้
ปริจเฉทที่ ๓
ปกิณณกสังคหวิภาค
แสดงความสามารถของจิต-เจตสิก โดยประเภทแห่ง เวทนา เหตุ ทวาร กิจ อารมณ์ และวัตถุ
ปริจเฉทที่ ๔
วิถีสังคหวิภาค
แสดงเรื่องการงาน วิถีทางเดินของจิตในอารมณ์ต่างๆ กลไกของการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ แบบแผนของ ความคิดและพฤติกรรม
ปริจเฉทที่ ๕
วิถีมุตตสังคหวิภาค
แสดงเรื่องการงานของจิตนอกวิถี (ความเป็นไปของจิตใต้สำนึก) กลไกที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ณ ขณะแห่งความตายไปสู่การเกิดใหม่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยอำนาจกรรม ที่รักษาความเป็นอยู่ประจำภพภูมิ ของตนเป็นส่วนที่แสดงที่มาของชีวิตในแต่ละภพภูมิ
รูปสังคหวิภาค
แสดงการจำแนกรูปปรมัตถ์ทั้ง ๒๘ รูป สภาวะของรูปธรรมในแง่ต่าง ๆ ๕ นัย เช่น คุณลักษณะของรูป โดยสังเขปบ้าง โดยจำแนกออกเป็นส่วน เป็นคู่บ้าง โดยสมุฏฐานการเกิดบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแสดงถึงสภาวะของนิพพานปรมัตถ์ไว้ด้วย
ปริจเฉทที่ ๗
สมุจจยสังคหวิภาค
แสดงธรรมที่สงเคราะห์เข้าเป็นหมวดหมู่ รวมกันได้ ธรรมเหล่านั้น ได้แก่ จิต ๑ เจตสิก ๕๒ นัปผันรูป ๑๘ นิพพาน ๑ เรียกว่าสภาวธรรม ๗๒ ประการ แสดงหลักการจัดระบบสภาวธรรมดังกล่าว เป็นกลุ่มของกุศล กลุ่มของอกุศล และกลุ่มที่ไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล เป็นต้น
ปริจเฉทที่ ๘
ปัจจยสังคหวิภาค
แสดงธรรมที่อุดหนุนซึ่งกันและกันในแง่ของปฏิจจสมุปบาท และแง่ของปัจจัย ๒๔ อันเป็นระเบียบเงื่อนไขแห่งชีวิตและความเป็นอยู่
กัมปัฏฐานสังคหวิภาค
แสดงหลักและวิธีการของสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ข้อจำกัด และความสามารถ ของกรรมฐานทั้ง ๒ ที่เป็นแนวทางในการหยุดกระบวนการเกิดของชีวิต เพื่อไม่ต้องรับรู้ความทุกข์อีก
จากโครงสร้างของคัมภีร์ทั้ง ๙ ปริจเฉท หากจะสงเคราะห์เข้าในอริยสัจจ์ ๔ แล้ว ปริจเฉทที่ ๑ - ๘ นำเสนอเนื้อหาสำคัญของ ทุกข์สัจจ์ และสมุทยสัจจ์ ให้ภาพลักษณ์กว้าง ๆ ของกลไกแห่งวัฏฏสงสาร โดยกระจายชีวิตออกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของจิต เจตสิก รูป ไม่มีความเป็นสัตว์ บุคคลตัวตน หรือผู้บงการใด ๆ จิตและเจตสิกนั้นไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์
จิตมีประเภทต่าง ๆ เจตสิกที่ประกอบกับจิต ทำให้จิตมีความเป็นไปหลากหลาย เป็นกุศลและอกุศล ทั้งจิตและเจตสิกเป็นนามธรรมที่ต้องอิงอาศัยรูป จึงจะสามารถแสดงอานุภาพเป็นพฤติกรรมทางกาย วาจา หรือทางใจ โดยมีแบบแผนการทำงานของจิตอย่างเป็นระบบ รวมแล้วจัดอยู่ในประเภททุกขสัจจ์ ทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ เป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะโลภะ คือ เหตุแห่งทุกข์ หรือสมุทยสัจจ์ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของชีวิตในลักษณะต่าง ๆ เพื่อแก้ไขความลำบากของชีวิตทั้งสิ้น
ทำอย่างไรทุกข์หรือความลำบากของชีวิต จึงจะหมดไปได้ สิ่งสำคัญคือ การหยุดเหตุของทุกข์ หรือหยุดการเกิดของชีวิตนั่นเอง และในบทสุดท้าย คือ ปริจเฉทที่ ๙ กรรมฐานสังคหะ ก็ให้แนวคิดและวิธีการหยุดการเกิดนั้น คือ มรรคสัจจ์ ส่วนนิโรธสัจจ์นั่นเป็นผลจากการเริ่มเจริญมรรคตั้งแต่เป็นขณะ ๆ จนกระทั่งเจริญสมบูรณ์
แนวคิดเกี่ยวกับกรรมฐานในคัมภีร์พระอภิธรรม
ระบบความรู้ในแนวพระอภิธรรมมีความสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันเพื่ออธิบายสภาวธรรมอยู่ในตัวแล้ว จึงไม่ต้องอิงอาศัยหลักวิชาการ หรือระบบความรู้อื่นมาสนับสนุนว่าจริงหรือไม่ การเริ่มต้นศึกษาพระอภิธรรม ควรพิจารณาหลักธรรมตามระบบวิธีของพระอภิธรรมก่อน เพื่อป้องกันความสับสนหรือความเข้าใจผิด จากการไปเทียบเคียงกับความหมายของระบบความคิดหรือระบบปรัชญาอื่น หลักสำคัญของอภิธรรมอยู่ที่ สภาวธรรม การอธิบายสภาวธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ตามระบบวิธีของอภิธรรม ต้องกล่าวถึงธรรมชาติพิเศษที่มีประจำตัว สภาวะที่เป็นปรมัตภ์จะมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ๆ ของตน (วิเสสลักษณะ) ที่ไม่เหมือนกันเลย ลักษณะพิเศษ ดังกล่าวที่ต้องกล่าวถึง มี ๔ อย่าง เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ (บุญมี เมธางกูร และ วรรณสิทธิ์ ไวทยะเสวี ๒๕๓๐ : ๘) ได้แก่
ลักขณาทิจตุกะในพระอภิธรรม
ลักษณะ
รสะ
ปัจจุบัฏฐาน
ปทัฏฐาน
คือ เครื่องแสดง หรือคุณภาพ ที่มีประจำตัวโดยเฉพาะ ๆ ตัวปรมัตถ์นั้น ๆ เช่น โทสะ มีความหยาบกระด้าง เป็นลักษณะ คือ หน้าที่การงานที่กระทำ หรือ ความสำเร็จ หรือคุณสมบัติ ที่มีอยู่ในตัวปรมัตถ์ เช่น โทสะมีการทำให้จิตตนและผู้อื่นหม่นไหม้ เป็นกิจรสะ คือ ผลที่เกิดจากรสะ หรือเป็นความปรากฏขึ้นจากกิจการนั้น ๆ เช่น โทสะ มีการ ประทุษร้าย การทำร้าย เป็นผลปรากฏ คือ เหตุใกล้ ที่เป็นที่มาให้ธรรมนั้น ๆ ปรากฏขึ้นมา เช่น โทสะมีอาฆาตวัตถุเป็นเหตุใกล้ เดินสะดุดไม้หกล้ม ก็โกรธท่อนไม้ ที่ทำให้ตนเจ็บตัว ทั้งนี้การยอมรับหลักการขั้นต้นอันมีธรรมชาติพิเศษประจำตัวดังกล่าว จะทำให้สามารถยอมรับสภาวธรรมและเหตุผล ในระดับลึกซึ้งได้ไม่ยากนัก แนวคิดขั้นพื้นฐานของการศึกษาพระอภิธรรม คือ การศึกษาสภาวธรรมของจิตและอารมณ์ ผู้ศึกษาจะเข้าใจคำว่าสภาวธรรมได้จะต้องมีการใคร่ครวญ และพิสูจน์กับประสบการณ์จริงในชีวิตด้วย มิใช่เพียงแค่ท่องจำไว้ หรือแม้คิดตามด้วยการใช้เหตุผล แล้วยอมรับเฉพาะส่วนที่เข้าได้กับความคิดของตนไว้ การทำเช่นนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร ทั้งนี้การศึกษาเรื่องจิตและอารมณ์ตามแนวอภิธรรมอย่างถูกต้อง พร้อมกับมีประสบการณ์ทางกรรมฐานโดยเฉพาะวิปัสสนาแล้ว จะสามารถเข้าถึงเหตุผล ตามที่เป็นจริง ในระดับปรมัตถ์ได้