ปรมัตถ์ : แนวคิดและการอธิบาย

 


สัจจะหรือความจริง ในโลกนี้มีความจริงอยู่ 2 ระดับ คือ
ความจริงระดับสมมุติ
และความจริงระดับปรมัตถ์

 

มนุษย์ส่วนใหญ่จะเข้าใจเพียงความจริงระดับสมมุติจากภาษาเท่านั้น ได้แก่ บัญญัติชื่อต่าง ๆ เช่น คน สัตว์ วัตถุ และความเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นทั้งโดยชื่อและโดยความรู้สึก เช่น นายดำ แมว เงินของฉัน ลูกของฉัน เป็นต้น เป็นความจริงที่ต้องขึ้นกับการอ้างอิงและเปรียบเทียบ ซึ่งรู้จักกันเฉพาะในกลุ่มชนบางกลุ่มที่ใช้ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกันเท่านั้น จะใช้กับต่างกลุ่ม ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมไม่ได้

ส่วนความจริงอีกระดับหนึ่ง คือ ความจริงระดับปรมัตถ์ ปรมัตถ์นี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มชน สถานที่ หรือยุคสมัย อดีตนับตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ไฟเคยให้ความร้อนและเผาไหม้อย่างไร ในอนาคตจนถึงโลกถูกทำลาย ไฟก็ยังคงให้ความร้อนและเผาไหม้ตลอดไป

คำว่าไฟเป็นจริงเฉพาะในหมู่คนไทย ต่างชาติจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง แต่ความรู้สึกร้อนจะเป็นสากลสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั้งคนและสัตว์ เมื่อถูกไฟจะรู้สึกว่าร้อน ความร้อนเป็นความจริงระดับปรมัตถ์ของไฟ


เนื่องจากมนุษย์มีความเข้าใจติดอยู่แค่ระดับสมมุติ ซึ่งสื่อกันด้วยภาษา และจำเป็นต้องมีคน สัตว์ วัตถุขึ้นอ้างอิงด้วย ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงยึดมั่นโดยไม่รู้ตัวว่า ภาษาเป็นความจริง คิดว่าคน สัตว์ วัตถุ มีจริง จนกระทั่งไม่มีใครนึกถึงความจริงระดับปรมัตถ์ที่แฝงอยู่
 


 

ในระดับปรมัตถ์แล้ว สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ด้วยการรวมกลุ่มของเหตุปัจจัยเพียงขณะหนึ่งเท่านั้น แล้วก็สลายตัวไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากปัจจัย ไม่มีอะไรสลายไปนอกจากการสลายไปของปัจจัย ที่เรียกว่า นายดำ ก็เพราะโครงสร้างโดยรวมของลักษณะหน้าตา แขนขา จำได้ว่าชื่อดำ
ถ้าตัดแขนมาส่วนเดียวก็จะเรียกว่าแขน ไม่เรียกแขนว่าเป็นนายดำ ถ้าตัดนิ้วมาหนึ่งก็จะเรียกนิ้วแทน ไม่เรียกนิ้วว่าเป็นแขน เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่เรียกว่าคนเลย โครงสร้างโดยรวมจึงเป็นที่มาของความจริงระดับสมมุติมากมายนับไม่ถ้วน แต่การกระจายโครงสร้างดังกล่าวออกเป็นส่วนประกอบแต่ละส่วนแล้ว จะเหลือความจริงระดับปรมัตถ์เพียง 2 อย่าง คือ ไม่เป็นรูปธรรม ก็เป็นนามธรรม
รูปเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น จะรับรู้อะไรไม่ได้ ส่วนนามเป็นทั้งตัวรู้และถูกรู้ได้ด้วย

 

 

ปรมัตถ์ธรรม เป็นธรรมชาติที่ทรงสภาพของตนไม่มีการวิปริตผันแปรด้วยอำนาจอื่น (ขุนสรรพกิจโกศล 2510 : 7) ในพระพุทธศาสนาแบ่งปรมัตถธรรมออกเป็น 4 อย่าง คือ จิตปรมัตถ์ (ธรรมชาติที่รู้อารมณ์) เจตสิกปรมัตถ์ (ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต) รูปปรมัตถ์ (ธรรมชาติที่เสื่อมเป็นนิจ) และนิพพานปรมัตถ์ (ธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสและขันธ์ 5) สภาวะของปรมัตถ์รวมอยู่ในธรรมชาติทั้งหลายทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต มีลักษณะประจำตัวอยู่ 3 อย่าง คือ ความไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และบังคับบัญชาไม่ได้ แต่มนุษย์ทั้งหลายเข้าใจผิดกันไปเองว่าโลกและชีวิตมีอยู่จริง (เที่ยงแท้ถาวร) เป็นสุข และมีตัวตนบงการได้ ความเข้าใจผิดดังกล่าวถูกยึดมั่นเป็นความคิดสำคัญของมวลมนุษยชาติ ถ้าเป็นชาวพุทธที่แท้แล้ว จะเห็นว่าความเข้าใจผิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ยินดีในภพชาติ มองไม่เห็นว่าภัยแห่งวัฏฏะสงสารเป็นอย่างไร

ในปรมัตถ์ธรรมทั้ง 4 ไม่มีรูปพรรณสัณฐานแน่นอนของตนเอง มีทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมและส่วนที่เป็นรูปธรรม รูปปรมัตถ์ในที่นี้ก็เป็นรูปปรมาณูซึ่งเล็กมากเกินกำลังสายตาหรือเครื่องมือพิเศษใด ๆ จะจับถึง เราไม่อาจเห็นรูปร่างหน้าตาของปรมัตถ์ธรรมได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นต้น เราสัมผัสได้เพียงการแสดงอานุภาพของสิ่งเหล่านี้ และรับรู้ได้ตามขีดความสามารถของประสาทสัมผัส แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวปรมัตถ์โดยตรง

--------------------------------------------------

ปรมัตถธรรมมีประโยชน์กับมนุษย์อย่างไร

ปรมัตถธรรมจะเป็นประโยชน์แท้ สำหรับมนุษย์ผู้มีปัญญา มีความเห็นถูกตรงกับสภาวะธรรมเท่านั้น ปรมัตถธรรมไม่ขึ้นกับภาษา หรือเนื้อความใด ๆ

มนุษย์ผู้มีปัญญาจะเข้าใจถูกตรงว่า สรรพสิ่งท้งหลายจะมีอยู่ได้ก็ในฐานะของการเป็นส่วนประกอบของกันและกันเท่านั้น
ในทุก ๆ อณูของส่วนประกอบมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ระดับธาตุที่เล็กมากมองไม่เห็น จนถึงระดับจักรวาลอันกว้างใหญ่

ธรรมจักษุที่เห็นความต่อเนื่องของส่วนที่ประกอบกัน(อย่างมีเงื่อนไข)จากสถานะหนึ่ง เปลี่ยนไปสู่อีกสถานะหนึ่งในเวลาต่อมานี้
ช่วยให้ผู้เห็นธรรมนั้น รู้ถึงความเห็นผิดของตน อันเนื่องมาจากการใช้ความหมายของภาษา และเนื้อความที่เคยประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวตน

ผลพลอยได้คือ การหยั่งรู่ถึงการหาต้วตนที่แท้ไม่ได้เลยจริง ๆ ไม่ใช่จำเขามาพูดให้ฟัง

ใช่ว่ามนุษย์ทุกคน จะรู้จักประโยชน์แท้เหล่านี้ ปรมัตถธรรมจึงอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับมนุษย์ผู้ไม่มีปัญญา และมนุษย์ที่ยอมรับความจริงไม่ได้

--------------------------------------------------

ในการศึกษาสภาวธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ผู้ศึกษาจะสามารถจินตนาการเป็นรูปร่างอย่างไรก็ได้ แล้วแต่ความเข้าใจของตน แต่ไม่ควรสับสนไปยึดจินตนาการนั้นว่าเป็นความจริงหรือเป็นตัวปรมัตถ์ เช่น คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า  จิตมีลักษณะเป็นดวงกลม ๆ ใสบ้าง ขุ่นบ้าง
เป็นต้น แนวคิดทางสภาวะของรูป จิต เจตสิก ที่จะกล่าวต่อไป ก็อาศัยเครื่องหมายบางอย่าง ซึ่งท่านอาจารย์ กวิสิฎฐะ (ชาวพม่า) เป็นผู้กำหนดขึ้น เพื่อใช้อธิบายโครงสร้างทางสภาวพื้นฐานของรูป ของจิต ของเจตสิก พอสังเขป ทั้งนี้เป็นเพียงระบบการศึกษาตัวอย่างระบบหนึ่งเท่านั้น มิใช่ว่ารูป จิต และเจตสิก จะมีลักษณะเป็นดวง ๆ หรือเป็นขีด ๆ ดังกล่าวจริง ๆ

 

ปรมัตถ์  จิต  เจตสิก  รูป  นิพพาน   back