นวคิดเกี่ยวกับจิต
 

 

                    พระพุทธศาสนาจำกัดความคำว่า จิต  ไปในทางธาตุรู้หรือธาตุคิด ที่มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปตามองค์ประกอบหรือคุณภาพต่าง ๆ ที่เรียกว่า เจตสิก  กระบวนการนี้เกิดดับไปตามแต่ที่จิตจะเหนี่ยวสิ่งใดขึ้นมาจับไว้ จิตจึงเป็นความคิดที่เกิด ๆ ดับ ๆ ส่วนใหญ่ใช้คู่กับคำว่า ใจ  แต่คำว่าใจเมื่อประสมกับคำอื่นมักจะบ่งถึงสภาพความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าจะเป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดดับ ตัวอย่างเช่น เสียใจ บ่งสภาพความเศร้าโศก ดีใจบ่งสภาพความดียินดี  ในที่นี้คำว่าใจจึงบอกถึงสภาพของสิ่งหนึ่ง ที่เป็นศูนย์กลางของความรู้สึกมากกว่าจะเป็นกระบวนการของความคิด เหมือนอย่างคำว่า จิต

(ประพจน์  อัศววิรุฬหการ และ สุวรรณา  สถาอานันท์, “จิตใจ” ใน คำ : ร่องรอยความคิดความเชื่อไทย : 2537 หน้า 313)

 
ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา จิตเป็นจุดเริ่มต้น เป็นจุดรวม และเป็นจุดสูงสุด คือ จิตที่หลุดพ้นแล้วของพระอริยะ  ดังปรากฏในพระธรรมบทว่า

 

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา 

มโนเสฏฐา มโนมยา

มนสา จ ปทุฏเฐน

ภาสติ วา กโรติ วา

ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ

จกฺกํ ว วหโต ปทํ

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า

มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ

ถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้ว

พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม (ย่อมชั่ว)

เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไป

ดุจล้อหมุนตามรอยเท้าแห่งโคที่นำแอกไปอยู่ฉะนั้น

 

มนสา จ ปสนฺเนน 

         

ภาสติ วา กโรติ วา   

        

ตโต นํ สุขมเนฺติ     

       

ฉายาว อนุปายินี  

   

ถ้าบุคคลมีใจดีแล้ว

พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม (ย่อมดี)

เพราะความดีนั้น สุขย่อมตามบุคคลนั้นไป

ดุจเงาติดตามตนฉะนั้น
                                   (ขุ. ธรรมบท 25 / 15)

 

          ลักษณะสภาวะการเกิดของจิตมี 4 อย่าง (บุญมี  เมธางกูร และ วรรณสิทธิ์  ไวทยะเสวี 2530 : 28) คือ

 

 

วิชชานนลกฺขณํ           มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ

ปุพฺพงฺคมรสํ                 มีการเกิดก่อนและเป็นประธานในธรรมทั้งปวง หรือทำให้ดวงหนึ่งต่อดวงหนึ่งเกิดติดต่อกันเป็นกิจ

สนฺธานปจฺจุปฏฺฐานํ    มีการเห็น การได้ยิน ฯลฯ สืบต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นความปรากฏของจิต

นามรูปปทฏฺฐานํ         มีนามและรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

 

                    จิตเป็นปรมัตถธรรมประเภทหนึ่ง มีสามัญลักษณะของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นสภาวะรู้อารมณ์อย่างเดียว เช่น การนึกคิดถึงบ้านเรือน ต้นไม้ ก็รู้เฉพาะบ้านเรือนอย่างเดียวแล้วดับไป จึงมารู้ต้นไม้ใหม่ เป็นต้น  จิตนี้แม้จะเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างตัวตน เพียงแต่แสดงความรู้สึกอยู่ภายในเท่านั้นก็จริง  แต่มีอำนาจพิเศษ หรือเรียกว่า ความวิจิตร ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไป 6 อย่าง (พระครูสังวรสมาธิวัตร 2521 : 12-15) คือ

                   

1.    วิจิตรด้วยการกระทำ  หมายความว่า วัตถุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ประดิษฐ์กรรมอันวิจิตรตระการตามีภาพลวดลายต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องยนต์กลไกทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นศิลปวิทยาที่เกิดขึ้นด้วยจิตของนายช่างทั้งสิ้น

                   

2.  วิจิตรด้วยตนเอง  หมายถึง จิตทำจิตเอง ให้เป็นกุศลบ้าง เพราะปราศจากโลภ โกรธ หลง เป็นบาปอกุศลบ้าง เพราะประกอบด้วย โลภ โกรธ หลง หรือเป็นผลของบุญผลของบาป ที่เรียกว่า วิบากบ้าง หรือเป็นจิตของพระอรหันต์ที่เรียกว่ากิริยาจิตบ้าง ยิ่งกว่านั้นยังแบ่งบุคคลให้ต่างด้วยเพศ ต่างด้วยสัญญา และต่างด้วยคติอีกด้วย

                   

3.  สั่งสมกรรมและกิเลส  หมายความว่า กรรมหรือการกระทำอันเกิดขึ้นด้วยเจตนาและกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เมื่อทำแล้วสั่งสมไว้ที่จิตนี้เองหาได้สั่งสมไว้ที่อื่นไม่เรียกว่า ขันธสันดาน

                   

4.   รักษาไว้ซึ่งวิบากที่กรรมและกิเลสสั่งสมไว้  หมายความว่า จิตนี้ย่อมรักษาผลของการกระทำและผลของกิเลส ซึ่งได้สั่งสมอำนาจไว้มิได้สูญหายไปไหน เกิดขึ้นกับจิตที่เป็นวิบาก เพื่อรับผลของกรรมนั้น ๆ เมื่อมีโอกาส

                   

5.  สั่งสมสันดานของตนเอง  หมายความว่า จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้จิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันไม่ขาดสาย เป็นสันตติสืบเนื่องกันไป ลงสู่ภวังค์แล้วเกิดขึ้นใหม่อีก

                   

6.    มีการวิจิตรด้วยอารมณ์ต่าง ๆ  หมายความว่า จิตนี้ย่อมรู้อารมณ์ต่าง ๆ จิตขณะที่รู้อารมณ์นี้ จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิญญาณ เช่น จิตทางตารู้รูปารมณ์ (เห็นสี) ก็จะเรียกว่า จักขุวิญญาณ หรือจิตทางหู รู้สัททารมณ์ (ได้ยินเสียง) จิตทางจมูก รู้คันธารมณ์ 12 (รู้กลิ่น) จิตทางลิ้น รู้รสารมณ์ (รู้รส) จิตทางกาย รู้โผฏฐัพพารมณ์ (เครื่องกระทบ เย็น, ร้อน, อ่อน, แข็ง) จิตทางมโนรู้ธรรมารมณ์ (รู้เรื่องราวต่าง ๆ มีปสาทรูป 5  สุขุมรูป 16  จิต  เจตสิก  นิพพาน  บัญญัติ)

                   

ความวิจิตรของจิตนั้น เป็นธรรมชาติที่เหนืออำนาจการดลบันดาลจากผู้ใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่บังคับให้เกิดก็ไม่ได้ บังคับให้ดับก็ไม่ได้ ไม่มีใครสามารถลิขิตความเป็นไปนั้น นอกจากมีเหตุ-ปัจจัยมาประชุมพร้อมกันชั่วขณะหนึ่ง ๆ  เหตุปัจจัยแต่ละส่วนมีความสำคัญเสมอกัน หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง การรับรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในการเห็นครั้งหนึ่งต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 4  อย่าง ดังต่อไปนี้คือ

                   1.   ต้องมีประสาทตาที่ดี

                   2.   ต้องมีแสงสว่างพอเหมาะ ไม่สว่างหรือมืดเกินไป

                   3.   ต้องมีคลื่นแสงสะท้อนจากวัตถุ มาตกลงบนจุดโฟกัสในประสาทตา

                   4.   ต้องมีความตั้งใจดู

 ถ้าองค์ประกอบไม่ครบทั้ง  4  ข้อ การเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้ การมีตาอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดการเห็นได้ ในทางตรงข้ามถ้ามีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ข้อ แล้ว จะบังคับมิให้เกิดการเห็นครั้งนั้นก็ไม่ได้เช่นกัน

จากหนังสือสังคหะบาลีแปล 9 ปริจเฉทกล่าวถึงเรื่องจิตไว้ดังนี้

จิตมีลักษณะแตกต่างกันรวม 89 หรือ 121 ลักษณะ จากแผนผังของจิต แบ่งจิตออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 13 กลุ่ม  เช่น ในกลุ่มที่ 1 อกุศลจิต มี 12 ดวง , กลุ่มที่  2  มหากุศลจิต มี 8 ดวง เป็นต้น

 

แผนผังจิต 89/121
 

        

                       

 

                    ตัวเครื่องหมายที่ต่างกัน 5 ลักษณะ เป็นการแบ่งจิตโดยประเภทแห่งเวทนา (ความรู้สึก) ซึ่งมีอยู่ 5 อย่าง  จิตทุกดวงจะต้องเกิดพร้อมด้วยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเวทนาไม่ได้ เวทนาทั้ง 5 ได้แก่

 

 

เครื่องหมาย (È)    หมายถึง  สุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกสบายทางกายจาก

การกระทบทางร่างกาย มี 1 ดวง

เครื่องหมาย (Ç )    หมายถึง  ทุกข์เวทนา หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายทางกายจากการกระทบกับความเย็น ความร้อน ความแข็ง มี 1 ดวง

ครื่องหมาย (+)      หมายถึง โสมนัสเวทนา หรือความรู้สึกยินดีอย่างมากที่เกิดขึ้นทางใจ มีทั้งหมด 62 ดวง

เครื่องหมาย (<)      หมายถึง โทมนัสเวทนา หรือความรู้สึกทุกข์ใจ เร้าร้อน คับแค้นเกิดขึ้นทางใจ มี 2 ดวง

เครื่องหมาย (-)       หมายถึง  อุเบกขาเวทนา หมายถึง ความรู้สึกเฉยๆ หรือความยินดีเพียงเล็กน้อยเกิดขึ้นทางใจ มี 55

 

 

 

ส่วนตำแหน่งต่าง ๆ ของเครื่องหมาย ก็เป็นตัวบอกถึง ชนิด คุณสมบัติ และพัฒนาการทางจิต ที่แตกต่างกัน เช่น ในกลุ่มอกุศลจิต 12 แยกเป็น โลภะจิต 8 ดวง โทสะจิต 2 ดวง โมหะจิต 2 ดวง

จิตมีเวทนาเหมือนกัน เช่น กลุ่มอกุศลจิต 12 ดวง
โสมนัสเวทนา (+) ที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน เช่น
โลภะจิตดวงที่ 1 แถวบน กับโลภะจิตดวงที่ 3 แถวล่าง
คุณภาพของจิตทั้ง 2 ดวงจะต่างกัน คือ
 

ดวงที่ 1 แถวบน เป็นความโลภชนิดที่มีความเห็นผิด กล้าทำทุจริตเช่นลักขโมย ยักยอกทรัพย์ เป็นพยานเท็จ เป็นต้น 


ส่วนดวงที่ 3 แถวล่าง เป็นความโลภที่ ไม่ประกอบ ด้วยความเห็นผิด ไม่ถึงกับทำทุจริต  ถ้าอยากมีทรัพย์สมบัติก็ขยันทำงานหาเงินด้วยตัวเอง แต่ทั้ง 2 ดวง ก็จัดอยู่ในกลุ่มของอกุศลที่มีความโลภเป็นแรงจูงใจอยู่เบื้องหลัง เป็นต้น

 

นอกจากตัวเครื่องหมายและตำแหน่งของเครื่องหมาย จะบอกคุณสมบัติของจิตแล้วยังมีหลักการจัดประเภทของจิตออกเป็นลักษณะที่ตรงข้ามกัน 9 คู่ อาทิ การประกอบ (สัมปโยค) การชักจูง (สังขาร)  ฌาน โสภณะ ชาติ ภูมิ เป็นต้น 

ชาติเภทนัย
ภูมิเภทนัย
เหตุเภทนัย
เวทนาเภทนัย
สัมปยุตเภทนัย
สังขาร
เภทนัย
โสภณเภทนัย
โลกะ
เภทนัย
ฌาน
เภทนัย

 

ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงบางลักษณะ เช่น
การแบ่งประเภทของจิตโดยชาติ ซึ่งบอกถึงชนิดของจิตว่าเป็นฝ่ายดีหรือไม่ดี และการแบ่งประเภทโดยภูมิ ซึ่งบอกถึงระดับพัฒนาการทางจิตไปในทางต่ำหรือสูง (พระมหาแสวง  โชติปาโล 2535 : 9, 13)

 

จิตว่าโดยชาติมี 4 ชาติ คือ (จากแผนผังในแนวนอน)

1.อกุศลชาติ (อกุสลาธมฺมา) ธรรมชาติ (จิต) ที่เกิดมาแล้วเป็นบาป มีโทษให้ผลเป็นความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ ได้แก่ อกุศลจิต 12 ดวง

2. กุศลชาติ (กุสลา ธมฺมา) ธรรมชาติ (จิต) ที่เป็นบุญ ไม่มีโทษ ให้ผลเป็นความสุข ความสบายใจ ได้แก่ มหากุศลจิต 8
รูปาวกุศลจิต 5 อรูปาวจรกุศลจิต 4 มัคคกุศล 4/20

3. วิบากชาติ (อพยากตา ธมฺมา) ธรรมชาติ (จิต) ที่ไม่กล่าวว่าเป็นกุศลหรืออกุศลในตัวเอง เป็นแต่เพียงผลที่เกิดจากกุศลหรืออกุศล ได้แก่ อกุศลวิบากจิต 7 อเหตุกกุศลวิบากจิต 8 มหาวิบากจิต 8 รูปาวจรวิบากจิต 5 อรูปาวจรวิบากจิต 4 ผลจิต 4/20

4. กิริยาชาติ (อพยากตาธมฺมา)  ธรรมชาติ (จิต) ที่ไม่กล่าวว่าเป็นกุศลหรืออกุศลในตัวเอง ทั้งไม่ใช่ผลของกุศลและอกุศลด้วย มี 20 ดวง


กลุ่มกิริยาจิต เป็นแต่เพียงกิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นเพื่อรับรู้อารมณ์ แต่ไม่ได้รับรู้ด้วยกิเลส มีอภิชฌาหรือโทมนัส เป็นต้น ยกเว้น 2 ดวงแรกในกลุ่มแล้วกิริยาจิตที่เหลือ ได้แก่ หสนจิต 1 มหากิริยาจิต 8 รูปาวจรกิริยาจิต 5 อรูปาวจรกิริยาจิต 4 รวม 18 ดวง เป็นจิตที่เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์เท่านั้น

 

                                                               

 จิตว่าโดยภูมิมี 4 ภูมิ คือ (จากแผนผังในแนวตั้ง)

 

 

1. กามาวจรภูมิ เกิดขึ้นเพื่อรับกามคุณอารมณ์ จัดอยู่ในระดับต่ำรับอารมณ์ได้มากมาย มี 54  ดวง

2. รูปาวจรภูมิพัฒนามาจากกามาวจรภูมิ เป็นสมาธิและฌาน  มีความแนบแน่นในระดับต่าง ๆ 5 ระดับ รวม 15 ดวง

3. อรูปาวจรภูมิ จิตที่พัฒนาสูงกว่าชั้นรูปาวจร ด้วยการเพ่งนามธรรม หรือความว่าง  เกิดความแนบแน่นในระดับต่าง ๆ 4 ระดับ รวม 12 ดวง

4. โลกกุตตรภูมิ จิตที่พัฒนาขั้นสูงสุด พ้นจากความทุกข์  ความเศร้าโศก  ในระดับต่าง ๆ รวม 8 หรือ 40 ดวง
มีอำนาจพิเศษคือหยุดการเวียนว่ายตายเกิด

 

 

1.  กามาวจรจิต เป็นภูมิของจิตที่  รับรู้กามคุณ 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จัดว่าเป็นจิตที่อยู่ในภูมิระดับต่ำ รับอารมณ์ได้มากมาย กระจัดกระจาย มีทั้งฝ่ายดี
และฝ่ายไม่ดี  จิตในชั้นกามาวจรนี้มี  54  ดวง

 

 

2.  รูปาวจรภูมิ   เป็นภูมิที่รองรับจิตที่อีกทีหนึ่ง เป็นจิตฝ่ายดีฝ่ายเดียว สำหรับบุคคลผู้เบื่อหน่าย เห็นโทษแห่งกามคุณอารมณ์ จึงพัฒนาจิตที่เรียกว่า สมาธิและฌานขึ้น โดยอาศัยภาพลักษณ์หรือสร้างรูปวัตถุบางอย่างมาเป็นอารมณ์ให้จิต (แทนกามคุณอารมณ์) รับรู้แต่เพียงอารมณ์เดียวที่สร้างขึ้น เกิดความแนบแน่นมีพลัง เป็นพลังจิต ที่สงบนิ่งในระดับต่าง ๆ 5 ระดับ มี 15 ดวง


 

3.  อรูปาวจรภูมิ   เป็นภูมิของจิตที่พัฒนาสูงกว่าชั้นรูปาวจร เป็นพลังจิต ฝ่ายดีฝ่ายเดียว เนื่องจากเห็นโทษของรูปวัตถุว่าหยาบกว่า มีความเข้าใจว่าความทุกข์ต่าง ๆ มีขึ้นได้เพราะมีรูป จึงพอใจที่จะพัฒนาจิตที่ละเอียดขึ้น

 
โดยการเพิกรูปวัตถุที่เคยได้มาแล้ว ใช้จิตเพ่งอารมณ์ที่เป็นนามธรรมหรือเพ่งความว่างเปล่าแทน เกิดความแนบแน่นที่ละเอียดขึ้นในระดับต่าง ๆ 4 ระดับ มีอำนาจจิตพิเศษเหนือบุคคลทั่วไป แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น  อรูปาวจรจิตมี 12 ดวง

 

 


 
 

4. โลกุตตรภูมิ  เป็นภูมิของจิตที่พัฒนาชั้นสูงสุด รับพระนิพพานเป็นอารมณ์   พ้นจากความพินาศทั้งปวง
โลกุตตรจิตมี 8 หรือ 40 ดวง
ได้แก่
มรรคจิต  4  หรือ  20
ผลจิต  4  หรือ   20

 สำหรับโลกุตตรจิตนั้น ความทุกข์ ความเศร้าโศก ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้อีก มีอำนาจจิต พลังจิตพิเศษในการหยุดการเวียนว่ายตายเกิด (วัฏฏสงสาร) ของตนเองได้ในระดับต่าง ๆ   ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์

จิตถึงแม้จะพัฒนาจนเกิดอำนาจพิเศษใด ๆ ก็แล้วแต่ หากยังไม่พัฒนาจนถึงโลกุตตรจิตแล้ว  ก็ยังต้องตาย-เกิดในภพภูมิทั้ง 31 ภูมิอยู่นั่นเอง

 

ในจิตทั้ง 4 ชาติ กลุ่มอกุศลชาติ จัดอยู่ในภูมิระดับต่ำ คือ กามาวจรภูมิเท่านั้น  อกุศลเป็นต้นเหตุของวัฏฏะสงสาร จึงเป็นจิตที่ควรละ ไม่ควรเจริญอีกต่อไป  การเจริญกรรมฐานที่ถูกต้องเป็นการละอกุศลกลุ่มนี้โดยตรง ขณะที่ละอกุศลเหล่านี้ได้ ขณะนั้นเป็นการเจริญกุศลไปในตัว 

กลุ่มกุศลชาติ มีทั้งกุศลชั้นต่ำในกามาวจร  จนถึงกุศลชั้นสูง คือ โลกุตตรกุศล ดังนั้น กลุ่มกุศลชาติจึงเป็นกลุ่มที่สามารถเจริญและพัฒนาจากระดับต่ำให้สูงขึ้นได้ 

กลุ่มของวิบากชาติ เปรียบเป็นผลที่สุกงอมแล้ว จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรละหรือควรเจริญ 

ส่วนกลุ่มกิริยาชาติ เป็นจิตที่เจริญสูงสุดของพระอรหันต์ ไม่มีโอกาสตกต่ำแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเจริญอีก จะทรงสภาวอยู่จนพระอรหันต์ท่านนั้นปรินิพพาน ไม่เกิดในภพภูมิใด ๆ อีก

 

พลังทางจิตโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจาก จิตที่มีเหตุ (มีจำนวน 71 ดวง)  เหตุในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง เหตุ 6 ชนิด แบ่งเป็น

กุศลเหตุ 3 (อโลภะเหตุ  อโทสะเหตุ  อโมหะเหตุ) และอกุศลเหตุ 3 (โลภะเหตุ  โทสะเหตุ  โมหะเหตุ)  ทั้งนี้ขึ้นกับเจตสิก 6 ชนิดที่ประกอบกับจิต ได้แก่ อโลภะเจตสิก  อโทสะเจตสิก  อโมหะเจตสิก (ปัญญาเจตสิก) โลภะเจตสิก  โทสะเจตสิก และโมหะเจตสิก เหตุทั้ง 6 เป็นเงื่อนไขสำคัญพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย  ทำแล้วมีพลังงานที่สามารถส่งผลในอนาคตได้

อกุศลเหตุเป็นที่มาของชีวิตที่ต้องตกไปอยู่ในที่ที่มีแต่ความลำบาก อดอยาก เร่าร้อน  จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง 

ส่วนกุศลเหตุเป็นที่มาของชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ได้รับความสะดวกเป็นส่วนมาก 

กุศลเหตุจึงเป็นสิ่งที่ควรเจริญเพราะทุกชีวิตต้องการความสุข

 

มีจิตอีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยเหตุทั้ง 6 ข้างต้น แต่อาศัยเหตุปัจจัยบางอย่างที่พร้อมมูล (อุปัติเหตุ) จึงเกิดขึ้นได้ จิตกลุ่มนั้นได้แก่   อเหตุกจิตมี 18 ดวง ว่าโดยชาติหรือการเกิดแล้ว อเหตุกจิตมี 2 ชาติ คือ วิบากชาติ และกิริยาชาติ

 

ในวิบากชาติแบ่งเป็น

อกุศลวิบากมี 7 ดวง (แถวบนแนวนอน 7 ดวง)

อเหตุกกุศลวิบาก 8 ดวง (แนวนอนแถวที่ 2)

 

ส่วนกิริยาชาติมี  3 ดวง คือ อเหตุกกิริยาจิต 3

 

 

 

 

            ดังได้กล่าวแล้วว่า วิบากจิตเป็นเพียงผลมาจากเหตุในอดีต  อกุศลวิบากมาจากอกุศลเหตุ กุศลวิบากมาจากเหตุของกุศล  ในอดีตทุกชีวิตเคยกระทำทั้งเหตุของอกุศลและกุศลมาแล้ว เราไม่อาจเปลี่ยนการกระทำในอดีตได้  ดังนั้น จึงต้องรับผล (วิบาก) ทั้งผลของอกุศล (อกุศลวิบาก) และผลของกุศล (กุศลวิบาก) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ตลอดเวลา

 

และโดยส่วนมากของชีวิตประจำวันจะเป็นอกุศลวิบาก มากกว่ากุศลวิบาก เช่น ในวันหนึ่ง ๆ เราจะรู้สึกสบายใจ ปลอดโปร่งใจน้อยมาก การรับกระทบไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ฯลฯ  ส่วนใหญ่ทำให้จิตใจเร่าร้อน หดหู่ เศร้าหมอง กับปัญหาต่าง ๆ มากมายมากกว่า  จนกระทั่งถึงเวลานอนหลับ ไม่ต้องรับรู้ปัญหาดังกล่าว ความเร่าร้อนจึงลดระดับลงบ้าง

 

อเหตุกจิต 18

 

 

วิบากจิตในกลุ่มอเหตุกจิต 18 ที่สำคัญ คือ
ทวิปัญจวิญญาณ 10 ดวง แบ่งเป็น

จักขุวิญญาณจิต 2 (แถวบน 1 ดวง แถวล่าง 1 ดวง) 
โสตวิญญาณจิต 2 
ฆานวิญญาณจิต 2 

ชิวหาวิญญาณจิต 2 
กายวิญญาณจิต 2 

 

 

เหตุที่มีอย่างละ 2 เช่นจักขุวิญญาณจิต ก็เพราะว่าสิ่งที่เห็นนั้นอาจเป็นผลของกุศล เช่น โบสถ์ วิหาร สิ่งของสวยงาม บุคคลที่เรารัก สิ่งเหล่านี้เมื่อเห็นแล้วเกิดความพอใจ   จักขุวิญญาณที่ทำหน้าที่เห็นนั้นจัดเป็นวิบากจิต  ที่เป็นผลจากกุศล

การได้เกิดเป็นมนุษย์
เป็นผลของกุศล 

 

 

ความตายเป็น
ผลของอกุศล
ตัดรอนให้ชีวิตล่วงไป

แต่บางครั้งสิ่งที่เห็นหรือได้ยินไม่ทำให้เกิดความพอใจสบายใจ มีความเศร้าหมอง เร่าร้อน จัดเป็นผลของอกุศล เช่น เห็นสุนัขตายข้างถนน ไฟไหม้ น้ำท่วมทรัพย์สินเสียหาย หรือได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทเป็นต้น  เป็นการเห็นในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ 

จิตที่ทำหน้าที่เห็นหรือได้ยิน ก็จะเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก หรือโสตวิญญาณอกุศลวิบาก เมื่ออารมณ์ต่างกันจิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์จึงไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน ต้องเป็นจิตคนละดวง

สัมปฏิจฉนะจิต 2 ( สํ )  ที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ  
สันตีรณจิต 3 ( ณ )  
ที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉนะ

 จิตก็ทำนองเดียวกัน คือ เมื่ออารมณ์กุศลมากระทบ ปัญจวิญญาณฝ่ายกุศลจะทำหน้าที่รู้อารมณ์กุศลนั้น สัมปฏิจฉนะจิตฝ่ายกุศลจะรับอารมณ์ที่เป็นกุศลนั้น สันตีรณจิตฝ่ายกุศลก็จะพิจารณาเฉพาะอารมณ์กุศล จิตที่รับและพิจารณาอารมณ์ต้องเป็นฝ่ายเดียวกัน สัมปฏิจฉนะจิตฝ่ายกุศลจะไปรับอารมณ์ฝ่ายอกุศลไม่ได้

ในแต่ละวันไม่มีใครสามารถเลือกรับแต่อารมณ์ที่ดีอย่างเดียว  ปฏิเสธอารมณ์ที่ไม่ดีว่าอย่าเกิดขึ้นกับตนเลย เป็นต้น เมื่อรับกระทบอารมณ์แล้ว จิตแต่ละดวงก็จะทำหน้าที่ของตน ผ่านทาง วิถีจิต

 

 

                    การเรียนรู้กฎเกณฑ์แห่งวิบากจิตนี้ เพื่อการยอมรับข้อจำกัดบางอย่างของจิตและอารมณ์ว่า ไม่สามารถเป็นไปตามความต้องการได้เสมอไป ความต้องการของมนุษย์มีอยู่ไม่จำกัด   แต่โอกาสเป็นไปได้สมความปรารถนามีไม่ถึง 5% 

 

เมื่อเราเลือกรับวิบากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจไม่ได้  ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงมุ่งสังเกตการกระทบกันของจิตและอารมณ์ทางปัญจวิญญาณ โดยมีสติคอยระวังไม่ให้อภิชฌาหรือโทมนัสเข้ามีส่วนในการตีความ กลไกของจิตและอารมณ์ยังคงทำงานของตนอย่างสม่ำเสมอ แต่ความดิ้นรน เร่าร้อนใจจะได้รับการพิจารณาใหม่ด้วยสติ และเป็นที่มาของความยับยั้งชั่งใจแทน

 

                    จิตทั้ง 89 หรือ 121 ดวง จะมีหน้าที่ ของตนเอง หน้าที่ของจิตมี   14    อย่าง เรียกว่า
กิจ 14 (
บุญมี  เมธรางกูร และ วรรณสิทธิ์ ไวทยะเสวี 2530 : 25-28) บางดวงทำหน้าที่ได้อย่างเดียว บางดวงทำหน้าที่ได้หลายอย่าง จิตจึงเกิดขึ้นอย่างมีความหมายเพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อหมดหน้าที่จิตนั้นก็ดับลง และส่งอำนาจให้จิตดวงต่อไปทำหน้าที่ต่อจากตน ในวิถีจิต เช่น โสตวิญญาณ เกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยินเสียง หมดหน้าที่แล้วดับลง  การดับลงของโสตวิญญาณเป็นปัจจัยให้จิตอีกดวง คือ สัมปฏิจฉนจิตเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสียงนั้นต่อไป เป็นต้น

 


วิถีทางดำเนินของจิตชนิดต่าง ๆ
ที่ทำหน้าที่ได้ยินเสียง พิจารณาเสียง ตีความ และให้ความหมายต่อเสียงนั้น เป็นจิตคนละดวงที่เกิดขึ้นตามลำดับไม่ก้าวก่ายกัน กล่าวคือ

โสตวิญญาณจะไปทำหน้าที่เห็นเสียง หรือพิจารณา หรือตีความ แทนจิตดวงอื่นก็ไม่ได้ เป็นต้น

 

 

แนวคิดเรื่องจิตที่มากไปด้วยจำนวน มากไปด้วยกิจ และมากไปด้วยอารมณ์นี้    แสดงถึงความไม่เที่ยงของจิตว่า  เมื่อจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งต้องรู้อารมณ์ (รูป เสียง ...) อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ  เมื่ออารมณ์นั้นดับไป จิตที่รู้จำเป็นต้องดับลงด้วย

 

การดับไปนั้นมีผลให้เกิดจิตดวงใหม่ เพื่อรู้อารมณ์ใหม่  อารมณ์เป็นธรรมชาติที่ไหลเรื่อยไปไม่หยุดนิ่ง  ผันแปรไปตามทวารต่าง ๆ (ตา หู ...) จึงต้องมีจิตที่มีลักษณะต่าง กัน  เพื่อรับอารมณ์ที่หลากหลายนั้น  ในขณะที่รูปเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานของ กรรม   จิต    อุตุ    อาหาร     จิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสภาวธรรม (สมุฏฐาน) 3 อย่าง คือ

1.   อดีตกรรม     2.  วัตถุรูป (อายตนะภายในและภายนอก)  3.   อารมณ์ 

 

หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จิตก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้

 

กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีผู้ใดลิขิตขึ้น พระพุทธองค์เองก็มิได้เสกสรรขึ้นมาเอง  แต่เป็นผลจากพระสัพพัญญุตาญาณของพระพุทธองค์ ที่ทรงหยั่งรู้เข้าไปถึงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้ว และนำมาเปิดเผย ถึงเหตุที่ทำให้ธรรมชาติใด ๆ เกิดขึ้น พร้อมกับตอบคำถามว่า เหตุใดธรรมชาติเหล่านั้นจึงตั้งอยู่ไม่ได้

 

 เท่าที่กล่าวมาในแง่ของเครื่องหมาย  ตำแหน่ง  การแบ่งประเภท และหน้าที่  เป็นเพียงตัวอย่างพอสังเขปในการศึกษาตัวจิตโดยตรง  จิตในกลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือก็มีแนวคิดคล้ายกับที่กล่าวมาแล้ว และยังมีแง่มุมที่ลึกละเอียดอีกมากมาย เช่น การแบ่งประเภท โดยการประกอบ (สัมปโยค) โดยสังขาร โดยโสภณ ฯลฯ แต่ของดกล่าวในที่นี้

 

โดยสรุปแล้ว การที่จิตมีจำนวนมากถึง 89 หรือ 121 ดวง แต่ละดวงมีลักษณะประจำตัวตามภูมิของตน มีเงื่อนไขของการเข้าประกอบ มีเงื่อนไขของการรับอารมณ์ และมีหน้าที่เฉพาะของตน 

  สิ่งเหล่านี้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ สภาวธรรมของจิตว่า  จิตไม่ได้เกิดขึ้นเอง หรือล่องลอยไปมา หรือผุดขึ้นโดยไม่มีจุดหมาย แต่เกิดขึ้นอย่างมีปัจจัยรองรับ  ปัจจัยนั้นได้แก่ อารมณ์ทั้ง 6 เป็นต้น  จิตไม่เคยว่างจากอารมณ์ แต่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกทางความคิดและพฤติกรรมทุกอย่าง สามารถฝึกฝนอบรมจิต  ให้สันทัดขึ้นได้ทั้งในทางดีและทางชั่ว

ในทางดีสามารถพัฒนาจนถึงโลกุตตรจิตได้   ส่วนความสันทัดในทางชั่ว  เป็นการวนเวียนอยู่เฉพาะในกลุ่มอกุศล ทั้ง 12 ดวง   เนื่องจากจิตบางกลุ่มเป็นธรรมชาติที่พัฒนาได้ พระพุทธองค์จึงเสนอวิธีการทางวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อการฝึกฝนและพัฒนาดังกล่าว


Home   ส่วนประกอบของจิต    รูป     กรรมฐาน     เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเครื่องหมายคณิตศาสตร์   Top