ว่าโดยสาระสำคัญ หลักสติปัฏฐาน 4 บอกให้ทราบว่า ชีวิตของเรานี้มีจุดที่ควรใช้สติคอยกำกับดูแลทั้งหมดเพียง 4 แห่งเท่านั้น คือ
- ร่างกายและพฤติกรรมของร่างกาย 1 - เวทนาหรือความรู้สึกสุขทุกข์ต่าง ๆ 1 - ภาวะจิตที่เป็นไปต่าง ๆ 1 - ความคิดนึกไตร่ตรอง 1
|
ถ้าดำเนินชีวิตโดยมีสติคุ้มครอง ณ จุดที่นี้แล้ว ก็จะช่วยให้มีความเป็นไปอย่างปลอดภัย ไร้ทุกข์ มีความสุขผ่องใส และเป็นปฏิปทา นำไปสู่ความรู้แจ้งอริยสัจธรรมในที่สุด
ความตอนท้ายของทุกหมวดที่กล่าวถึงในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ 3 ลำดับ กล่าวเป็นข้อความลักษณะอย่างเดียวกันว่า
- ภิกษุเฝ้าตามดูกายในกาย* ภายในอยู่บ้าง เฝ้าตามดูกายในกายภายนอกอยู่บ้าง เฝ้าตามดูกายทั้งกายในและภายนอกอยู่บ้าง ด้วยประการฉะนี้
- ภิกษุเฝ้าตามดูสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นในกายอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่ทำให้ดับไปในกายอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นและสิ่งที่ทำให้ดับไปในกายอยู่บ้าง
- อนึ่ง ภิกษุนั้นเข้าไปตั้งสติไว้ว่า กายมีอยู่ดังนี้ เพียงเพื่อรู้ไว้เท่านั้น เพียงเพื่อระลึกไว้เท่านั้น เธอเป็นผู้ไม่มีสิ่งใดอาศัยอยู่ด้วย ทั้งไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลกด้วย
* คำว่า กาย เปลี่ยนเป็น เวทนา จิต และธรรม ตามแต่กรณีนั้น ๆ
จากข้อความตอนท้ายดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของสติปัฏฐานว่า นอกจากการใช้สติคอยสังเกตร่างกาย ความรู้สึก ภาวะจิต และความนึกคิดแล้ว เงื่อนไขของการสังเกตอยู่ที่การจำแนกสภาวธรรมในแต่ละหมวดออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ที่ตั้ง เหตุ และวิธีการว่าควรใช้สติสังเกตอะไร และสังเกตอย่างไร
ที่ตั้งของสติเป็นอย่างไร สติในที่นี้มิใช่เป็นไปเพื่อการสังเกต ลม ฟ้า อากาศ และสิ่งแวดล้อมนอกตัว มิได้ใช้เพื่อการคิดค้นวิทยาการ หรือการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนอกตัวเราเลย ลักษณะเหล่านั้นเป็นเพียงความตั้งมั่นในระดับหนึ่ง เป็นประโยชน์ในการหาเลี้ยงชีพให้อยู่รอดเพื่อเผชิญกับความทุกข์ที่แฝงมาพร้อมกับความเห็นผิดเท่านั้น มิใช่เพื่อความพ้นทุกข์ของชีวิตโดยตรง
หากเป็นสติปัฏฐานโดยแท้จริงแล้ว จะมีที่ตั้งของการสังเกตค้นคว้าอยู่ที่ภายในตัวชีวิตเท่านั้น โดยเริ่มต้นจากร่างกายและพฤติกรรมของตัวเราเป็นลำดับแรก เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตามพระบาลีกำหนดให้สังเกตกายในกาย คำว่า กายในกาย หมายถึง การเลือกพิจารณากาย (รูป) หมวดใดหมวดหนึ่งในกายทั้งหมดที่มีถึง 14 ลักษณะ มาเป็นที่ตั้งแห่งการสังเกต เช่น เลือกหมวดอิริยาบถ ก็เป็นกายานุปัสสนาหมวดหนึ่งในกายทั้งหมด ตั้งแต่ลมหายใจ สัมปชัญญะ ฯลฯ จนถึงซากศพ
หากเลือกอิริยาบถ 4 ก็หมายถึงการพิจารณาอิริยาบถเดียวในอิริยาบถทั้งหมด เช่น หากกำลังเดินก็เป็นเพียงอาการเดิน มิใช่อาการนั่ง ยืน หรือนอน หากกำลังนั่งอยู่ก็พิจารณาอาการที่นั่ง ว่าไม่ใช่อาการเดิน ยืน หรือนอน ด้วยวิธีการเช่นนี้ความเข้าใจเดิมที่ไม่เคยคาดคิดถึงว่าจะมีส่วนประกอบย่อย ๆ ที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนของร่างกาย พฤติกรรม และความรู้สึกนึกคิดก็จะถูกพิจารณาใหม่ด้วยสติ ถึงกลุ่มก้อนความสืบเนื่องของความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนร่างกายและพฤติกรรมต่าง ๆ และภายใต้ความสืบเนื่องดังกล่าวสามารถกระจายเป็นองค์ประกอบย่อย ๆ ที่แยกจากกันได้ ความรู้ใหม่นี้จะสร้างพลังผลักดันให้มีการสืบค้นต่อไปว่า ตัวตนที่เคยยึดนั้นมีอยู่จริงหรือไม่
ในอรรถกถาอธิบายข้อความที่ว่า กายในกาย ออกเป็นหลายนัยด้วยกัน โดยชี้ถึงความมุ่งหมายเฉพาะ เพื่อให้กำหนดโดยไม่สับสนกัน คือ ตามดูกายในกาย ไม่ใช่ตามดูเวทนา หรือจิต หรือธรรม หรืออีกนัยหนึ่งคือ การตามดูกาย ส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่ คือ
ตามดูกายแต่ละส่วน ๆ
ในกายที่เป็นส่วนรวมนั้น เป็นการแยกออกดูไปทีละอย่าง
จนมองเห็นว่ากายทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรนอกจากเป็นที่รวมของส่วนประกอบย่อย ๆ ลงไป
ไม่มีบุคคลเป็นเรา เป็นเขา หรือกายของเรา เป็นต้น
เป็นการวิเคราะห์หน่วยรวมออกหรือเป็นการเคลื่อนคลายความเป็นกลุ่มก้อนเหมือนกับลอกใบกล้วยและกาบกล้วยออกจากต้นกล้วยจนไม่เห็นมีต้นกล้วย
ดังนี้เป็นต้น* (ที. อ. 2/472, ม.อ. 1/333, วิภงฺ ค.อ. 284) |
ที่ว่า เฝ้าตามดูกายในกาย หรือ เฝ้าตามดูเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ พระญาณโปนิกเถระได้วิเคราะห์ถึงเหตุที่กล่าวซ้ำ ๆ ไว้ว่า มีความมุ่งหมายให้ผู้ปฏิบัติเห็นความสำคัญของความรู้ตัวในเรื่องนั้นโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเฝ้าตามดูในเรื่องใดก็ต้องดำรงการเฝ้าตามดูเฉพาะเรื่องนั้น โดยไม่ปล่อยความคิดตามไปถึงขอบเขตของเรื่องอื่น เช่น เมื่อตามดูกระบวนการทางกาย (เช่น รูปเดิน) อาจจะเผลอใจไปพิจารณาถึงความรู้สึกปวดขา (เวทนา) ที่เกิดจากกระบวนการทางกาย เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ปฏิบัติควรจะรู้ว่าตนได้พรากจากอารมณ์เดิม (กาย) แล้วไปเฝ้าตามดูเวทนา หากเป็นไปได้ควรกลับมาพิจารณาอารมณ์เดิม (กาย) เป็นต้น
เมื่อสังเกตแต่ละอาการแยกออกจากอาการทั้งหมดได้แล้ว ขั้นที่ 2 จึงพิจารณาถึง เหตุ คือ สิ่งที่ทำให้อาการเหล่านั้นเกิดขึ้น และสิ่งที่ทำให้อาการเหล่านั้นสลายไป จากนั้นจึงเปรียบเทียบสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นและสิ่งที่ทำให้สลายไป
พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นในสติปัฏฐานสูตรไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่งสติปัฏฐาน 4 เธอทั้งหลายจงฟัง
ก็ความเกิดแห่งกายเป็นอย่างไร ความเกิดแห่งกายย่อมมี เพราะความเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งกายย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร
ความเกิดแห่งเวทนาย่อมมี เพราะความเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนาย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ
ความเกิดแห่งจิตย่อมมี เพราะความเกิดแห่งนาม-รูป ความคิดดับแห่งจิตย่อมมี เพราะความดับแห่งนาม-รูป
ความเกิดแห่งธรรมย่อมมี เพราะความเกิดแห่งมนสิการ ความดับแห่งธรรมย่อมมี เพราะความดับแห่งมนสิการ
(สํ.ม. 19/819 สมุทยสูตร)
กิจกรรมของชีวิตอันประกอบด้วย ร่างกาย ภาวะจิต ความรู้สึก และความคิดนึก ไตร่ตรอง มีเหตุเฉพาะของแต่ละส่วนไม่ก้าวก่ายกัน เช่น อาหารเป็นเหตุแห่งการเกิดและการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ทางกาย ส่วนความรู้สึก (เวทนา) จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระทบ (ผัสสะ) ระหว่างอายตนะภายในและกายตนะภายนอกเท่านั้น เวทนาจะเกิดจากอาหารโดยตรงไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้น เหตุของกรรมดีย่อมได้รับผลดี และเป็นคนละส่วนกับผลชั่ว การแก้ปัญหา (ทุกข์) อย่างได้ผล ต้องแก้ (ดับ) ที่สาเหตุเบื้องต้นเป็นส่วนสำคัญ พระสูตรในส่วนนี้เป็นการศึกษาที่มาและที่ไปของชีวิตว่า การกระทำใดเป็นผลของความสบายกายและใจ การกระทำใดสร้างความเดือดร้อนขึ้น และพยายามหยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเดือดร้อนให้ได้
การยอมรับว่าชีวิตมีที่มา และจะเป็นไปอย่างไรได้บ้าง ช่วยเสริมความมั่นใจได้ว่า หากเลือกจุดหมายที่จะยุติกระบวนการเกิดของชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหานั้น มีอยู่วิธีเดียวคือ การละเหตุที่ทำให้เกิด เหตุที่ทำให้เกิดจะถูกละได้ก็ด้วยการกระทำเพียง 8 ลักษณะ หรือมรรคมีองค์ 8 เท่านั้น การกระทำที่นอกจากลักษณะสัมมาทั้ง 8 นี้แล้ว การกระทำนอกนั้นล้วนเป็นเหตุของการเกิดทั้งสิ้น
สติปัฏฐานจึงเป็นวิธีปลดปล่อยตนเอง โดยตั้งอยู่บนรากฐานของกฎแห่งกรรม คือ การรับผิดชอบในการกระทำของตนเองว่า โดยความสำเร็จสูงสุดแล้ว ต้องเกิดจากการหยุดต้นเหตุแห่งปัญหาด้วยความพยายามและความตั้งใจของตนเอง ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปฏิบัติอย่างถูกทางแล้ว จะกลับไปเชื่อถือในลัทธิการพ้นบาปโดยมีผู้รับแทน หรือการอ้อนวอนขอความกรุณาการช่วยเหลือจากพระเจ้า หรือเชื่อในการสวดอ้อนวอนภาวนาของนักบวชผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสวรรค์ (พระญาณโปนิกเถระ 2534 : 96)
ในขั้นที่ 3 อันเป็นเงื่อนไขสุดท้าย คือ ลักษณะพิเศษของวิธีการ มีความสำคัญอยู่ที่ว่าสิ่งที่สังเกตได้ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของอิริยาบถทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ตลอดจนเหตุที่ทำให้อริยาบถนั้นเกิดขึ้นหรือสลายไปนั้น เป็นการสังเกตเพียงเพื่อรู้ไว้เท่านั้น เพียงเพื่อระลึกไว้เท่านั้นว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น แต่มิให้สร้างภาพลักษณ์หรือแนวคิดอื่น ๆ ขึ้นเอง (ไม่เป็นผู้อาศัยสิ่งใด) จนกระทั่งเกิดความพอใจหรือไม่พอใจในภาพลักษณ์หรือแนวคิดดังกล่าว (ไม่ยึดถือสิ่งใด ๆ ในโลก) ในเรื่องความสำคัญของการกำหนดตัวอารมณ์แท้ ๆ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแนะนำกฎของการปฏิบัติไว้ว่า
เมื่อเห็นก็จงแต่เพียงเห็น เมื่อได้ยินก็จงแต่เพียงได้ยิน เมื่อรู้ (กลิ่น รส สัมผัส) ก็
จงแต่เพียงรู้ เมื่อใจรู้ก็จงแต่เพียงรู้เท่านั้น
(ม.อุ. 25/49 พาหิยสูตร)
กล่าวโดยสรุปแล้ว การเจริญสติปัฏฐาน คือ การเป็นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งทำให้ภาพตัวตนของจิตที่ยังมีอวิชชาปรุงแต่ง ไม่มีช่องทางที่จะแทรกตัวเข้ามาในความคิดแล้วก่อปัญหาขึ้นได้เลย
2.5.1 การพัฒนาความรู้สึกตัว : หลักสำคัญของวิปัสสนา
กิจกรรมสามัญที่สุดของคำว่า ชีวิต ทุกชีวิต ทุกชาติ ทุกภาษา ซึ่งเป็นไปในชีวิตประจำวัน คือ การรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อมีการรับรู้ ก็มีความรู้สึกพร้อมไปด้วย สุขสบายบ้าง ทุกข์ เจ็บปวด ไม่สบายบ้าง เฉย ๆ บ้าง ความรู้สึกคือ สัมผัสของการมีชีวิตอยู่ สิ่งที่เรารู้สึกเกี่ยวกับอะไรก็ตาม จะสะท้อนให้เห็นถึงประวัติและพัฒนาการของจิตใจ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของความคิดจากอดีต ภาวะยุ่งเหยิงในปัจจุบันและศักยภาพที่จะมีในอนาคต เช่น การรับรู้ใด ทำให้เป็นสุข ก็ชอบใจ ติดใจในสิ่งนั้น สร้างภาพลักษณ์ให้อยากได้ อยากเสพซ้ำอีก
การรับรู้ใดที่ทำให้ทุกข์ ก็ขัดใจไม่ชอบสิ่งนั้น พยายามหลีกเลี่ยง กำจัดและทำลาย กระบวนการสร้างแนวคิดและภาพลักษณ์ของตัวตนนี้ดำเนินไปตลอดเวลา มีทั้งที่แผ่วเบา ผ่านไปโดยมิได้สังเกต และที่แรงเข้มจนสังเกตได้เด่นชัด การเข้าใจความรู้สึกของตนเองจึงหมายถึง การเข้าใจปฏิกิริยาของตนที่มีต่อโลก โดยความรู้สึกจากอดีตจะสร้างรูปแบบปฏิกิริยาของเราต่อสิ่งที่เราประสบในปัจจุบัน และที่จะมีในอนาคต เช่น คนที่พกพาความโกรธไว้ในใจตลอดเวลา ไม่เคยรู้ว่าความสงบเป็นอย่างไร มักพบว่าโลกที่ตนเองเผชิญนั้นมีแต่สิ่งไม่น่าปรารถนาเต็มไปหมด จึงเห็นว่าความโกรธของตนเองมีเหตุผลกว่า จนเคยชินและเห็นความโกรธเป็นเรื่องธรรมดา เป็นต้น (เดวิด วิสคอตต์ 2532 : 1, 10)
เดิมมนุษย์ไม่รู้ว่าตัวตนที่ตนยึดถือไว้ ไม่มีจริง เป็นเพียงกระแสของรูปธรรม นามธรรม ที่อาศัยเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นและเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เมื่อไม่รู้ (จิตตวิปลาส) เช่นนี้ จึงยึดถือเอาความรู้สึกนึกคิด ความปรารถนา ความเคยชิน ทัศนคติ ความเชื่อถือ และการรับรู้ เป็นต้น ที่เป็นอดีตและอนาคต (สัญญาวิปลาส) ในขณะนั้น ๆ ว่าเป็นตัวตนของตน (ทิฏฐิวิปลาส) รู้สึกว่าฉันเป็นนั่น ฉันเป็นนี่ ฉันรู้สึกอย่างนั้น ฉันรู้สึกอย่างนี้ ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การถูกความรู้สึกนึกคิด (จิตตวิปลาส) อันเป็นนามธรรม ส่วนย่อยเหล่านี้หลอกลวงเข้า จึงเป็นจุดตั้งต้นของความคิดที่ผิดพลาด (สัญญาวิปลาส) ถูกบังคับให้คิดเห็น รู้สึกและทำการต่าง ๆ ไปตามอำนาจของสิ่งที่ตนยึดว่าเป็นตัวตน (ทิฏฐิวิปลาส) ในขณะนั้น
แต่ในหลักสติปัฏฐานได้แนะนำหลักการพัฒนาความรู้สึกตัว ซึ่งมีวิธีการเฉพาะเป็นขั้นตอนของการสังเกต มีอารมณ์เฉพาะอย่างที่เป็นตัวถูกเพ่งพิจารณา มิใช่ว่าจะใช้อารมณ์อะไรก็ได้ ทั้งนี้เป็นอุบายอย่างหนึ่ง และเป็นเหตุผลที่ช่วยเสริมความเข้าใจในการมองเห็นรูปธรรมและนามธรรมแต่ละอย่างที่ประกอบกันขึ้นเป็นพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา และความคิด ขณะกำลังเกิดขึ้น และสลายไปตามสภาวะของมันเอง (อนิจจัง) ไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมอย่างเดียวได้ (ทุกขัง) เมื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบของอาการที่กำลังสืบต่อกันเป็นกระบวนการ (อนัตตา) แล้ว ย่อมไม่ถูกหลอกลวงจากทิฏฐิที่วิปลาสให้ยึดถือเอาส่วนประกอบย่อยนั้นว่าเป็นตัวตนของตน และความรู้สึกเป็นตัวตนเหล่านั้นจะค่อย ๆ หมดอำนาจบังคับให้บุคคลอยู่ใต้อิทธิพลของความยึดถืออีกต่อไป เข้าถึงภาวะที่เรียกว่าความหลุดพ้น โดยนัยนี้การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นวิธีการชำระล้างอาการของโรคต่าง ๆ ที่มีในจิต ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดที่ก่อให้เกิดโรคของความโลภ ความโกรธหรือความหลงสามารถกำจัดสิ่งที่เป็นเงื่อนปมเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของจิตให้หมดไป มีความปลอดโปร่งพร้อมที่จะดำรงชีวิต เผชิญหน้าและจัดการกับสิ่งทั้งหลายในโลกด้วยความรู้จริง (พระราชวรมุนี (ประยุทฺธ ปยุตฺโต) 2525 : 818) วิธีการชำระจิตนี้จะกระทำใน 2 ระดับ คือ ระดับจิตสำนึก และระดับจิตใต้สำนึก*
การเฝ้าดูในส่วนแรก คือ ครั้งแรกให้สังเกตพฤติกรรม ความรู้สึก ภาวะจิต ที่รวมเป็นธรรมชาติของรูปธรรม นามธรรม ภายในตนเองก่อน ต่อมาจึงเฝ้าตามดูผู้อื่น และสุดท้ายคือเฝ้าตามดูทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มสังเกตธรรมชาติที่ก่อตัวเป็นบุคลิกภาพในตัวเรา แต่ละคนจะมีลักษณะที่ตรงข้ามกันอยู่ในคน ๆ เดียว
J.C. Jung กล่าวถึงบุคลิกภาพของมนุษย์ไว้ 2 ลักษณะ** คือ แบบเก็บตัว (Introvert) และแบบเปิดเผย (Extrovert) ส่วนใดจะแสดงออกมากน้อยกว่ากัน ขึ้นกับรูปแบบ แนวคิด และทัศนคติของผู้นั้น ลักษณะที่ตรงข้ามหรือความขัดแย้งในตัวเองดังกล่าว ทำให้เกิดความตึงเครียดที่แสดงออกมาเป็นความพอใจและความไม่พอใจ (อภิชฌาและโทมนัส) และความตึงเครียดนี้เองจะถูกสะสมจนกลายเป็นโครงสร้างที่สลับซับซ้อนของจิต ของความคิด และพฤติกรรม ที่เรียกว่า อุปนิสัย หรือบุคลิกภาพ ถ้าไม่มีภาวะตึงเครียดก็จะไม่มีพลังงาน และเป็นผลให้ไม่มีบุคลิกภาพ (นวลละออ สุภาผล 2527 : 146) ภาวะตึงเครียด (อภิชฌาและโทมนัส) นี้ จึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ให้พลังชีวิตอย่างต่อเนื่องจากอดีตอันยาวนานไปสู่อนาคตที่ยังไม่รู้จุดหมาย
หากยังไม่ผ่านขั้นพื้นฐานของการสังเกตความกดดันภายในตนเองก่อนแล้ว ย่อมไม่สามารถพัฒนาสติและสัมปชัญญะเพื่อใช้ในการควบคุมความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายในตนเองและขัดแย้งกับผู้อื่นด้วย ผลจากการสังเกตและกำหนดรู้เปรียบเทียบความเป็นไปทั้งภายในตนเองและภายนอก จะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของลักษณะตรงข้ามที่สุดโต่งทั้ง 2 ลักษณะ โดยชดเชยในสิ่งที่ขาดไป และลดทอนในส่วนที่เกินของแต่ละแบบ จนในที่สุดก็จะเข้าสู่สภาวะสมดุลของทางสายกลาง ณ จุดภาวะที่มีการถ่วงดุลนี้ มหาสติ* จะทำกิจของการกำหนด รู้กระบวนการที่กำลังเชื่อมโยงกันอยู่อย่างต่อเนื่อง มีความสามารถพิเศษในการแยกแยะส่วนของภาวะจิตออกจากความรู้สึก และแยกความรู้สึกล้วน ๆ ออกจากพฤติกรรมทางกาย ความแตกต่างของแต่ละส่วนที่ว่านี้จะไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เป็นแต่เพียงการเห็นช่วงต่อของความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาตลอดทั้งสาย แต่ก็ไม่เปิดโอกาสให้ทัศนคติ (กิเลส) ในการตีความเข้ามาก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้น เพราะมุ่งสนใจลักษณะกระบวนการมากกว่า มิได้สนใจเรื่องราวความขัดแย้งที่สำเร็จรูปจากการตีความแล้ว (อภิชฌาและโทมนัส) เมื่อไม่มีความตึงเครียด (ซึ่งเคยเป็นฟันเฟืองสำคัญ) จึงขาดพลังที่จะสร้างชีวิตขึ้นใหม่ นั่นคือ แนวโน้มของการจบชีวิตอย่างไม่ต้องเกิดอีก (พระนิพพาน) ในอนาคต และเป็นความสงบสันติสุขอย่างแท้จริง ซึ่งทุกชีวิตปรารถนาแต่ยังไม่รู้จัก
สำหรับการเฝ้าตามดูในส่วนที่ 2 จุดมุ่งหมายอยู่ที่การสังเกตสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้น สิ่งที่ทำให้สลายไป และสังเกตทั้งการเกิดขึ้นและสลายไปของอารมณ์แต่ละอย่าง ธรรมชาติของอารมณ์ต่าง ๆ จะแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองออกมา ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้นี้ ถือเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิบัติ โดยการคิดใคร่ครวญ การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและการสลายไป เป็นการปฏิเสธทฤษฎีการเก็งความจริงบางอย่าง เช่น การพิจารณาจนเห็นเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น จะปฏิเสธความเชื่อในความดับสูญ (นัตถิกทิฏฐิ) เพราะเห็นแล้วว่าความดับของสิ่งหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้นมา (ผล) ไม่ใช่ดับไปโดยสูญเปล่า จะปฏิเสธความเชื่อในความเที่ยงหรือความคงอยู่ตลอดไป (สัสสตทิฏฐิ) เพราะเห็นแล้วว่าความคิดนั้นไม่คงที่ จากความคิดอุดหนุนให้มีการกระทำ ความคิดต้องหมดไปก่อนพฤติกรรมจึงเกิดขึ้น ความคิดและพฤติกรรมเป็นคนละส่วนกัน การยอมรับทั้งการเกิดขึ้นและการสลายไป ช่วยยืนยันถึงความจริงด้านความสัมพันธ์ในแนวปัจจยาการหรือกฎการอิงอาศัยซึ่งกันและกันของปรากฏการณ์ทั้งหลายในโลกว่า ไม่มีการดลบันดาลจากใครทั้งสิ้น ชีวิตและพฤติกรรมของชีวิตต้องอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้ และเหตุนั้นก็เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนลึกล้ำเกินกว่าจะมีใครสามารถเสกสรรขึ้นหรือบันดาลให้พินาศไปตามความต้องการของใครได้ เหตุของชีวิตและความทุกข์ที่นอกจากขบวนการสืบเนื่องอันยาวนานของ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และอาหารแล้ว ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ใดทำให้ชีวิตเกิดขึ้นหรือทำลายชีวิตใครได้ (พระญาณโปนิกเถระ 2534 : 64)
ในส่วนที่ 3 คือ การเข้าไปตั้งสติไว้ว่า กายมีอยู่... ในพระสูตรบทนี้แสดงถึงผลที่จะได้รับในแง่ของวิปัสสนา กล่าวคือ ความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง ดังต่อไปนี้
กายมีอยู่...เพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นแต่กระบวนการทางกายเท่านั้นที่กำลังดำเนินไป ไม่มีอาตมันหรือตัวตนอาศัยอยู่
เพียงเพื่อรู้ไว้เท่านั้น เป็นการกำหนดรู้ว่ากระบวนการอะไรกำลังเกิดขึ้น สิ่งนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ หรือกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ เป็นเพียงระลึกด้วยสติที่ปราศจากอคติ ปราศจากความบิดเบือนลำเอียง ไม่ถูกแทรกแซงด้วยภาพลักษณ์ของความรู้สึกด้อย หรือความรู้สึกเขื่อง*
เธออยู่อย่างอิสระและไม่ยึดถือสิ่งใด เป็นท่าทีการไม่ยึดมั่น เนื่องจากหลุดพ้นจากกิเลสใหญ่ 2 อย่าง ที่เป็นเหตุให้ต้องคอยผูกพันชีวิตไว้ ได้แก่ ความเห็นผิด (ทิฏฐิ) และความทะยานอยาก (ตัณหา) นั่นคือ หลุดพ้นจากเครื่องผูกพันทั้งทางความคิดและอารมณ์ที่ไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัย
ในหนังสือ A Technique of Living Based on Buddhist Psychology Principles ของเลียวนาร์ด เอ บุลเลน กล่าวถึงวิธีการกำหนดเพียงเพื่อรู้ไว้เฉย ๆ ในลักษณะเช่นนี้ว่า
มิได้หมายถึงการโจมตีหรือเผชิญหน้าปัญหาต่าง ๆ โดยตรง บทบาทของการกำหนดรู้เฉย ๆ คือ การสร้างฐานที่มั่นสำหรับการสังเกตและรับรู้ในปัจจุบัน เมื่อประสบการณ์จากอารมณ์และความรู้สึกที่เคยยุ่งเหยิงไม่น่าพึงปรารถนาในปัจจุบันถูกชำระให้บริสุทธิ์ (ปราศจากอคติ) สะอาดขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ความรู้สึกตัวนี้ก็จะพัฒนาขยายการปฏิบัติงานเข้าไปยังความทรงจำเกี่ยวกับประสบการณ์ทางด้านอารมณ์ที่สะสมมาจากอดีตอันยาวนานเช่นกัน การโจมตีปมต่าง ๆ ของชีวิตโดยตรงจะประสบความล้มเหลวอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่มนุษย์รู้ได้ยากที่สุด คือ ความจริงเกี่ยวกับตนเอง แต่การกำหนดรู้เฉย ๆ จะแผ่อิทธิพลแทรกผ่านเข้าไปยังส่วนลึกของหัวใจ (จิตใต้สำนึก) และชำระกันเองในระดับนั้น โดยจิตใต้สำนึกจะค่อย ๆ เปิดเผยตัวเองออก และยอมให้ควบคุมได้มากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า จะประสานกันได้และช่วยเกื้อกูลแก่แนวโน้มในการควบคุมของจิตระดับสำนึก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับก่อนว่า ขบวนการนี้มิใช่เป็นงานในระยะเวลาเพียงอาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่ง หรือปีหนึ่ง แต่เป็นขบวนการที่ใช้เวลานับสิบปีทีเดียว และความจริงเป็นงานตลอดชีวิตด้วยซ้ำ
ถ้อยคำอันเป็นคุณลักษณะพิเศษจากพระพุทธพจน์ที่พระสูตรกล่าวไว้ เกิดขึ้นจากการตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ (สัมมาสัมโพธิ) ของพระพุทธองค์เท่านั้น มีความบริบูรณ์เต็มเปี่ยม ทั้งโดยความหมายและทำนองการอธิบาย ให้ความมั่นใจแก่ผู้ได้ลิ้มรสคุณสมบัติของถ้อยคำดังกล่าว จนแม้การเข้าถึงความหมายเพียงบางส่วนก็สามารถรู้สึกได้ถึงความศรัทธาที่ตนมีให้แก่พระพุทธศาสนามากขึ้น ถ้อยคำอันหนักแน่นเหล่านั้นมีลักษณะที่แท้ คือ การประสานความลึกเข้ากับความง่าย ผู้ที่บรรลุถึงความหมายดังกล่าวจะรู้สึกได้ถึงความอิ่ม ความพอในทุก ๆ ระดับของความเข้าใจ มีผลต่อพัฒนาการทางจิตใจใน 2 ลักษณะ คือ ด้านความสงบระงับ และด้านการกระตุ้นจิตสำนึก
ที่ว่าสงบระงับ เพราะทำให้หมดความสงสัย และความขัดแย้งในตัวเอง ยอมรับผิดชอบการกระทำทุกอย่างของตน และให้อภัยกับพฤติกรรมของผู้อื่นมากขึ้น กับทั้งก่อให้เกิดความรู้สึกพอใจอย่างลึกซึ้งที่จะยุติเรื่องราวต่าง ๆ ที่อาจก่อความขัดแย้งกับคนรอบข้าง
ในส่วนของการกระตุ้น คือ ความรับรู้ต่าง ๆ มีโอกาสหยั่งลงสู่ขอบเขตแห่งจิตใต้สำนึก ซี่งหมายถึงการขยายความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกล้วน ๆ ให้กว้างออกไปนั่นเอง
2.5.2 การจำแนกประเภทของสติปัฏฐาน
เหตุใดพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานเพียง 4 อย่างเท่านั้น ไม่มากไม่น้อยกว่านี้ พระองค์ทรงกล่าวเช่นนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่เวไนยชนผู้มีจริตต่าง ๆ กัน กล่าวคือ
ผู้ที่มีพื้นนิสัยโน้มไปทางตัณหาหรือตัณหาจริต หากมีปัญญาน้อย ทางบริสุทธิ์ที่เหมาะ ก็คือ สติปัฏฐานหมวดที่เกี่ยวกับการเฝ้าตามดูกาย (กายานุปัสสนา) ที่มีลักษณะหยาบและเห็นได้ชัดเจน ส่วนผู้ที่มีพื้นนิสัยโน้มไปทางตัณหา แต่มีปัญญาคมกล้า วิธีที่เหมาะก็คือ การเฝ้าตามดูเวทนา (เวทนานุปัสสนา) ซึ่งละเอียดกว่า
สำหรับผู้ที่มีพื้นนิสัยโน้มไปทางเป็นเจ้าทฤษฎี (ทิฏฐิจริต) หากเป็นผู้มีปัญญาน้อย
วิธีการที่เหมาะสมจะต้องไม่มีรายละเอียดมากนัก ซึ่งก็ได้แก่ การเฝ้าตามดูจิต
(จิตตานุปัสสนา) ส่วนผู้ที่มีพื้นนิสัยเป็นเจ้าทฤษฎี และมีปัญญาคมกล้า วิธีที่เหมาะก็คือ
การเฝ้าดูตามธรรม (ธัมมานุ
ปัสสนา)
ซึ่งมีรายละเอียดมาก
กายและเวทนาเป็นตัวการสำคัญที่จะชักนำไปสู่ความเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของบุคคลผู้มีตัณหาจริต สำหรับบุคคลประเภทตัณหาจริตที่มีปัญญาเชื่องช้า วิธีการกำจัดกิเลสของบุคคลประเภทนี้คือ การมองเห็นความไม่สะอาด ความเป็นปฏิกูลในร่างกาย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่หยาบกว่าในบรรดาวิธีการพื้นฐานของตัณหาด้วยกัน ส่วนบุคคลประเภทตัณหาจริตที่มีปัญญาคมกล้าย่อมมองเห็นความทุกข์ในเวทนาซึ่งเป็นอารมณ์ละเอียดได้ง่ายกว่า
ในทำนองเดียวกัน จิตและธรรมก็เป็นตัวการสำคัญที่จะชักนำให้มีการปรุงแต่งสร้างสรรค์ความคิดเห็นเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องความเที่ยงแท้ถาวรและความมีตัวตน การสละความเชื่อเกี่ยวกับความเที่ยง ความมีอยู่นั้น เหมาะกับคนทิฏฐิจริตที่มีปัญญาน้อย สามารถมองเห็นความไม่เที่ยงของจิตได้ง่ายกว่า เพราะการจำแนกประเภทของจิตมีไม่มากนัก เช่นให้สังเกตจิตประกอบด้วยราคะ ก็ดูเฉพาะจิตที่กำลังรู้อารมณ์ราคะ เป็นต้น ส่วนการถอนความเชื่อเกี่ยวกับอัตตาจะเหมาะกับจริตแบบเจ้าทฤษฎีที่มีปัญญาคมกล้ากว่า สามารถมองเห็นความไม่มีตัวตน (อนัตตา) และสามารถจำแนกประเภทของสภาวะธรรมได้อย่างละเอียดและลึกซึ้งกว่า เช่น จำแนกเป็นสัญญา ผัสสะ ฯลฯ หรือนิวรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
กายและเวทนา นอกจากจะเป็นพื้นฐานของตัณหาแล้ว บางครั้งก็ใช้ประกอบปรุงแต่งสร้างทิฐิได้เหมือนกัน มิใช่เป็นพื้นฐานสำหรับตัณหาอย่างเดียว ส่วนจิตและธรรมนั้นไม่เฉพาะเป็นพื้นฐานสำหรับปรุงแต่งทิฐิเท่านั้น แต่สามารถเป็นพื้นฐานของตัณหาได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าในบรรดาสภาวะทั้ง 4 นั้น ส่วนใดเป็นปัจจัยที่มีกำลังแรงกว่าในการก่อให้เกิดตัณหาและทิฐิดังกล่าว จึงแยกอารมณ์ให้เด่นชัดเท่านั้น
(ปปัญจสูทนี. ม.อ. 1/329)
2.5.3 ความสำคัญของการมีความเพียร มีสัมปชัญญะ และมีสติ
สิ่งสำคัญในการเจริญกรรมฐาน นอกจากความมีสติแล้ว ในการกำหนดรู้อารมณ์หนึ่ง (สิ่งที่ถูกเพ่ง) ไม่ว่าจะเป็นกาย เวทนา จิตหรือธรรม ต้องอาศัยองค์คุณอีก 2 อย่าง คือ ความเพียรและสัมปชัญญะ ทั้งสติสัมปชัญญะและความเพียร (รวมเรียกว่าผู้เพ่ง) เป็นบางส่วนขององค์มรรค คือ สัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ เป็นคุณสมบัติสำคัญช่วยให้บรรลุจุดหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน เมื่อรวมพลังกันในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้ว ผลสำเร็จย่อมเกิดขึ้น หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งจะทำให้การกำหนดรู้นั้นไม่ต่อเนื่อง ไม่ชัดเจน และมีโอกาสถูกบิดเบือนได้ง่าย
...ดังนั้น ผู้หวังความก้าวหน้าในการพ้นทุกข์จึงต้องศึกษาให้รู้จักองค์คุณทั้ง 3 พร้อมทั้งฝึกฝนพัฒนาลักษณะทั้ง 3 ดังกล่าว ให้มีในตนเอง เพราะว่าหากไม่มีความเพียรก็จะเกิดความชะงักงันในการสังเกต ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเจริญกรรมฐาน ผู้ที่ไม่มีสัมปชัญญะก็จะเกิดความสับสนในการเลือกใช้วิธีการที่ถูกต้อง หรือวิธีการหลีกเลี่ยงทางที่ผิด ส่วนผู้ที่มีสติอ่อนก็จะไม่สามารถระลึกถึงวิธีการที่ถูกและละทิ้งวิธีการที่ผิด ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ประสบความสำเร็จในการเจริญกรรมฐาน เป็นต้น
(ปปัญจสูทนี. 1/335)
พระพุทธองค์ยกย่องถึงความเพียร สติ และสัมปชัญญะ ไว้ว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเฝ้าตามดูกายในกาย (...เวทนา...จิต...ธรรม) มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ... กำจัดอภิชฌาและโทมทัสในโลกอยู่ เมื่อภิกษุเฝ้าตามดูกายในกายอยู่ ย่อมตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในกายานุปัสสนานั้น เธอตั้งจิตไว้โดยชอบ ผ่องใสโดยชอบ ในกายานุปัสสนานั้นแล้ว ยังญาณทัสสนะให้เกิดในกายอื่นภายนอก...
(ที.ม. 10/205 ชนวสภสูตร)
...เมื่อเธอเฝ้าดูอยู่เช่นนั้น จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น...
(สํ.ม. 19/724 มหาปุริสสูตร)
การพัฒนาความเพียร สติ และสัมปชัญญะให้ได้ผลนั้น จำเป็นต้องศึกษาถึงอุปสรรค หรือสิ่งที่จะขัดขวางการพัฒนาตนเองก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคดังกล่าว หรือไม่ก็เป็นการปรับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าได้ พระพุทธองค์กล่าวถึงอุปสรรคของการพัฒนากรรมฐานไว้ว่า
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม 6 ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่อาจพิจารณาเฝ้าตามดูกายในกายอยู่ ธรรม 6 ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน 1 ความเป็นผู้ชอบคุย 1 ชอบการนอนหลับ 1 ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ 1 ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย 1 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ 1
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม 6 ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่อาจเฝ้าตามดูกายในกายอยู่
(องฺ ฉกฺก 22/388)
จะเห็นว่า การงาน การพูดคุย การชอบนอน การคลุกคลีกับหมู่คณะ ความไม่สำรวมอินทรีย์ และการไม่รู้จักประมาณในการบริโภคของตน ล้วนเป็นการให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมนอกตัว จึงทำให้ผู้เริ่มปฏิบัติใหม่ไม่สามารถรวบรวมความรู้สึกตัวให้จำกัดอยู่เฉพาะการสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมที่อยู่ภายในตนเองได้ จากแนวคิดดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมอันเป็นอุปสรรคข้างต้น ในยุคสมัยต่อ ๆ มาจึงพัฒนามาเป็นห้องกรรมฐาน กฎระเบียบ และสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งมีอยู่มากมายเช่นทุกวันนี้ กรณีศึกษาของห้องกรรมฐานและสำนักปฏิบัติธรรม จะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป
* ส่วนเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ก็พึงเข้าใจทำนองเดียวกัน
**จิตใต้สำนึก (Subconscious) หมายถึง ภาวะจิตที่ไม่อาจรู้สึกได้ เพราะอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ มีความหมายต่างกับคำว่า จิตไร้สำนึก (Unconscious) ซึ่งหมายถึง ความคิด ความรู้สึก และแรงผลักดัน ซึ่งถูกเก็บกดไว้ภายในจิตใจโดยไม่รู้ตัว แม้จะพยายามนึกอย่างไรก็นึกไม่ออก (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 229)
** J.C. Jung ศึกษาถึงระบบความสัมพันธ์ภายใน ประกอบด้วย ทัศนคติพื้นฐาน 2 ลักษณะ คือ
1. ทัศนคติหันเข้าหาตนเอง (Introversion) จะแสดงลักษณะของความไม่แน่ใจ ไม่กล้าตัดสินใจ ไตร่ตรอง สงบเสงี่ยม หลบหน้า ปกป้องตนเอง ภายในจิตใจ จะไม่มีความไว้วางใจผู้อื่นและมองดูผู้อื่นด้วยความพินิจวิเคราะห์
2. ทัศนคติหันออกจากตัวเอง (Extroversion) แสดงลักษณะสู่โลกของความจริงภายนอก ชอบออกสังคม นิสัยเปิดเผย โอ้อวด รู้จักผ่อนปรน ทำให้ปรับปรุงตนเองในสถานการณ์ ต่าง ๆ ได้ง่าย สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และไม่จริงจังกับความรู้สึกผิดหวัง
องค์ประกอบทั้ง 2 ลักษณะ มีความแปรผันซึ่งกันและกัน ถ้าทัศนคติหนึ่งเป็นลักษณะเด่นก็จะเข้ามาอยู่ในจิตสำนึก ในขณะที่อีกทัศนคติหนึ่งที่ด้อยกว่าจะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าการรับรู้ในตัวเอง (Ego) แสดงลักษณะเปิดเผยตัวเองในการติดต่อโลกภายนอก ประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal Unconscious) จะมีลักษณะที่หันเข้าหาตนเอง และมีพลังมากกว่าหลายเท่านัก เมื่อไรก็ตามที่ทัศนคติเด่นของการเปิดเผยได้รับความคับข้องใจในวิถีทางบางอย่าง ทัศนคติที่ถูกเก็บกดไว้คือ การหันเข้าหาตัวเองก็จะเข้ามามีบทบาทในบุคลิกภาพ และมีกำลังด้วยตัวของมันเอง เพื่อแก้ไขความคับข้องใจ เป็นต้น
* คือ สติที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นแถวเพื่อการระลึกรู้ในรูป-นาม ขณะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนไม่เปิดโอกาสให้โมหะหรืออวิชชาเข้าครอบงำความรู้สึกนึกคิดเลย สติที่เกิดได้ต่อเนื่องตลอดเวลาเช่นนี้ เรียกว่า มหาสติ ใช้กับการเจริญกรรมฐานเท่านั้น
* ทั้งความรู้สึกด้อยและความรู้สึกเขื่อง เป็นผลจากความเข้าใจว่าตัวตนมีอยู่จริง ถ้าความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนรุนแรงแล้ว ไม่ว่าจะทำ จะพูด หรือคิดอะไรก็ตาม จะรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายถูกเสมอ หรือเรียกว่า มีความรู้สึกเขื่องขึ้นมา เมื่อใดที่เราไม่สามารถรู้สึกถึงความถูกอันนี้ได้ ก็จะเกิดความรู้สึกด้อยและทนไม่ได้ขึ้นมาแทน (เลียวนาร์ด เอ บุลเลน 2531 : 31)
แนวคิดจากสติปัฏฐานสูตร : สาระสำคัญของสติปัฏฐานสูตร : การปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง : กลับสู่หน้าสารบัญ