วิทยานิพนธ์
 

การศึกษาเปรียบเทียบกรรมฐานในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะกับคัมภีร์วิสุทธิมรรคและ

วิธีปฏิบัติกรรมฐานของสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อยกับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

   สังคมปัจจุบันเป็นยุคแห่งโลกาภิวัตน์ เป็นกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ต้องแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด ในด้านหนึ่งโลกาภิวัตน์ทำให้ข่าวสารจากทั่วโลกติดต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็วได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งคือ ภัยที่แฝงมากับค่านิยมแห่งการบริโภคสิ่งใหม่ ๆ และการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะเรายิ่งเสพผลิตผลทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้นเท่าใด ดูเหมือนว่าต้องสูญเสียสิ่งที่ดีงามในสังคมมากขึ้นเท่านั้น เช่น ค่านิยมแห่งความร่วมมือร่วมใจ และการพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความสุขของคนในสังคม แต่กลับมีค่านิยมแห่งการแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง ชิงดีชิงเด่นกันเข้ามาแทนที่ (โสฬส  ศิริไสย์ : เอกสารสัมมนา 2537)

จากการที่มนุษย์ในสังคมต้องแข่งขันเพื่อความอยู่รอด แทบไม่มีเวลาสังเกตความเป็นไปของตนเอง มนุษย์จึงมีความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจมากขึ้นเป็นเงาตามความทะยานอยาก คนเรามีขีดจำกัดในการเก็บกดความเครียดในระดับต่างกัน เมื่อความเครียดถึงขีดดังกล่าวจำเป็นต้องแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ไม่ทางกายก็ทางวาจาเพื่อลดระดับความกดดันดังกล่าว แต่ละคนมีวิธีการลดความเครียดไม่เหมือนกัน โดยหลักการใหญ่ คือ การย้ายความสนใจไปสู่สิ่งใหม่ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง เล่นกีฬา หรือท่องเที่ยว

       

พระพุทธศาสนาชี้ทางแก้ปัญหาของมนุษย์ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของโลกและชีวิต ระบบความรู้นี้ เริ่มต้นที่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และตกทอดมาถึงปัจจุบันในรูปของ พระไตรปิฎกหรือพระบาลี รวมทั้งคำอธิบายความชั้นหลัง ๆ คือ อรรถกถาฎีกา และอนุฎีกา  สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่ผู้ปรารถนาจะแสวงหาความจริงเกี่ยวกับชีวิตและโลก จะใช้สติปัญญาของตนค้นคว้า วิเคราะห์ นำมาตรวจสอบกับประสบการณ์และใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาชีวิตของตนได้ (ระวี  ภาวิไล2536 : 1)

 

       

การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการพัฒนาชีวิตของตนเองทางหนึ่ง ซึ่งขึ้นกับ เป้าหมาย และ วิธีการ  และเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากพอสมควรในสังคมยุคนี้ สิ่งสำคัญคือ เราเข้าใจแรงจูงใจในการเลือกปฏิบัติธรรมของตนเองหรือไม่ว่า ทำไปเพื่ออะไร จุดมุ่งหมายที่เราคาดหวังให้เป็นไปคือ ความสงบของจิตใจ และลดความเครียดในชีวิตประจำวัน แต่ความเครียดจะลดได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจและยอมรับความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงของตนเองเท่านั้น  ไม่ใช่การข่มไว้ชั่วคราวด้วยความสงบ

วิธีการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น 2 มิติ คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ ทั้ง 2 มิติ ต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องชีวิตอย่างถูกต้อง หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ความเข้าใจถูกจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  ถ้าจะถูกก็ถูกเฉพาะในความคิดเห็นของตนเท่านั้น   แต่ไม่ใช่ถูกตามพระพุทธประสงค์

คันถธุระได้แก่  การศึกษา การสอน พระปริยัติธรรม ที่เกี่ยวกับพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม รวมทั้ง อรรถกถา ฎีกาต่าง ๆ  การศึกษาคันถธุระ เปรียบเหมือนการศึกษาแผนที่ ก่อนที่จะเดินทาง   เพื่อเป็นบรรทัดฐานสำหรับวัดว่า การกระทำของเรานั้น ถูกทางหรือหลงทาง


ส่วนวิปัสสนาธุระเป็นการนำพระปริยัติธรรมที่ได้ศึกษาไปแล้วมา
พิสูจน์กับชีวิตจริง  เรียกว่า การเจริญกรรมฐาน ได้แก่ การเจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

 

คัมภีร์ต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนามีอยู่มากมายเป็นการขยายความหรืออธิบายความ แตกแขนงออกมาจากคัมภีร์ต้นแบบคือพระไตรปิฎก แต่ละคัมภีร์มีจุดเด่นในตัวเองที่จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ความรู้ในปริยัติศาสนาอยู่ที่ความเข้าใจสภาวธรรมของความคิดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายในตัวเองและผู้อื่น และมีความสำคัญในแง่ของการเป็นบรรทัดฐาน ใช้วัดและตรวจสอบการปฏิบัติของเราว่ากำลังดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายทางพระพุทธศาสนาหรือไม่  การศึกษาคัมภีร์อย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนทุกคนที่มุ่งหวังความเจริญในชีวิต

สิ่งที่พุทธศาสนิกชนทำได้ คือ การแบ่งเวลา เพื่อศึกษาเรื่องราวของชีวิตอย่างมีสำนึกในพระคุณว่า แบบอย่างชีวิตตามพระพุทธประสงค์นั้นทำอย่างไร ในขณะที่ยังพอมีกัลยาณมิตรให้ไต่ถาม และมีความรู้ต่าง ๆ ตามคัมภีร์ให้ศึกษาค้นคว้า  วิชาความรู้ในพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่า ได้แก่ วิชาความรู้ใน พระอภิธรรม ส่วนการปฏิบัติที่มีค่าสูงสุด ได้แก่ การปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง ตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังมีการศึกษา มีการปฏิบัติธรรมและมีหนทางที่ถูกอยู่  พระพุทธศาสนาก็จะยังไม่เสื่อมไป

จากแนวคิดที่ได้เสนอมาดังกล่าวนี้ จึงเห็นความจำเป็นในการสร้างทัศนคติต่อการศึกษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมฐาน งานวิจัยครั้งนี้จะมุ่งวิเคราะห์ถึงประโยชน์จากการศึกษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นประเด็นสำคัญ โดยศึกษาเปรียบเทียบถึงแนวคิดและวิธีการปฏิบัติกรรมฐาน ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ และในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า คัมภีร์ทั้ง 2 มีวิธีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับกรรมฐานอย่างไรที่จะนำเข้าไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และแนวคิดตามคัมภีร์นั้นมีส่วนเหมือนหรือต่างจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์ต้นแบบอย่างไร

คัมภีร์ในพระพุทธศาสนามีให้เลือกศึกษาอยู่มากมาย กรณีศึกษา 2 คัมภีร์นี้เป็นเพียงบางคัมภีร์ที่ใช้เริ่มต้นศึกษาวิชาการทางพระพุทธศาสนาอีกระบบหนึ่ง  เหตุที่เลือกเปรียบเทียบ 2 คัมภีร์นี้ ก็เพราะว่าการศึกษาคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ ให้ความรู้ทางสภาวธรรมตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบของความคิดและพฤติกรรม ความเชื่อมโยงของการกระทำไปสู่ผลของการกระทำเพื่อตอบคำถามที่ว่า ทำไมจึงต้องมีการปฏิบัติกรรมฐาน โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐานซึ่งเป็นกรรมฐานที่มีอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น นับว่าเป็นคัมภีร์หนึ่งที่เป็นกุญแจไขเข้าไปสู่โลกทัศน์อันกว้างขวางของพระพุทธศาสนาได้ ที่สำคัญคือ ยังมีหน่วยงานบางแห่ง เช่น อภิธัมโชติกะวิทยาลัย  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ หรือที่วัดระฆังโฆสิตาราม ที่จัดระบบการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรแน่นอน ไม่จำกัดเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น ระยะเวลาในการเรียนเหมาะกับชีวิตของผู้มีปัญญาทั้งฆราวาสและพระภิกษุ ผู้ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม คัมภีร์อื่น ๆ จะยากและเหมาะสำหรับพระภิกษุซึ่งต้องใช้ความรู้ทางภาษาบาลีมากกว่า

                    ส่วนคัมภีร์วิสุทธิมรรคใช้ศึกษาถึงวิธีปฏิบัติโดยตรง ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เนื้อหา พัฒนาให้มีความละเอียดและหลากหลาย ผู้ศึกษาต้องมีความรู้ทางสภาวธรรมระดับพื้นฐานมาก่อน จึงจะสามารถเข้าใจถึงความลุ่มลึกกว้างขวาง และอัจฉริยภาพในการเรียบเรียงเนื้อหาของท่านผู้รจนา แม้จะไม่มีแบบการเรียนการสอนสำหรับคัมภีร์นี้โดยตรงสำหรับฆราวาส แต่ถ้าผู้ใดผ่านสภาวธรรมพื้นฐานในพระอภิธัมมัตถสังคหะมาแล้ว ก็จะสามารถศึกษาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้ด้วยตนเองได้ไม่ยากนัก เพราะคัมภีร์นี้มีการอ้างอิงถึงสภาวธรรมพื้นฐานในสังคหะบาลีจนถึงญาณปัญญาระดับสูงที่สามารถผลักดันชีวิตออกจากวัฏฏะสงสารได้

         เพื่อให้การวิเคราะห์ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ ผู้วิจัยจึงศึกษาเพิ่มเติมอีกว่า สำนักปฏิบัติธรรมที่มีปรากฏและสอนกันในปัจจุบัน ได้นำแนวคิดจากคัมภีร์มาประยุกต์เผยแผ่โดยวิธีการอย่างไรบ้าง โดยเลือกเปรียบเทียบระหว่างสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย และสำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ว่ามีแนวคิดวิธีการสอนเหมือนหรือต่างกันเพียงใด  อย่างไรก็ดี กรณีศึกษาของทั้ง 2 สำนัก เป็นเพียงส่วนเสริมที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของกรรมฐานในพระพุทธศาสนายุคปัจจุบัน แต่มิใช่ประเด็นหลักของงานวิจัยครั้งนี้

 

เหตุที่เลือกศึกษา 2 สำนักนี้ เนื่องจากทั้งสองสำนักเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิชาความรู้ทางภาคปฏิบัติในพระพุทธศาสนา มีอาจารย์ผู้สอนและตำราต่าง ๆ หลากหลาย สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อยเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิ อภิธรรมมูลนิธิ  ทางมูลนิธิจัดให้มีการเรียนการสอนพระอภิธัมมัตถสังคหะซึ่งเป็นภาคทฤษฎีพื้นฐาน   และบางส่วนของการปฏิบัติจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค   เมื่อผู้ศึกษาที่มีความเข้าใจสภาวธรรมบ้างแล้ว จึงเริ่มพิสูจน์ด้วยการเข้าปฏิบัติในสำนักวิปัสสนา   โดยใช้    หลักการพิจารณา รูป - นาม
ใน
มหาสติปัฏฐานสูตรเป็นแนวในการปฏิบัติ 

 

ส่วนที่ สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์    มิได้มีการเรียนการสอนโดยตรง   ผู้ปฏิบัติจะได้รับความรู้พร้อมทั้งเหตุผลและหลักการพิจารณา พอง - ยุบ จากอาจารย์ผู้สอนในขณะปฏิบัติ  ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวประยุกต์มาจากมหาสติปัฏฐานสูตรเช่นกัน  การศึกษาวิธีการที่ต่างกันเช่นนี้   เพื่อความเข้าใจพระพุทธศาสนาในมุมมองที่กว้างขึ้น และผสมผสานส่วนที่ดีของแต่ละแห่งมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญ

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง      
Home