6.2 การอธิบายแนวคิดกรรมฐานของสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
6.1.1 ข้อควรรู้เบื้องต้น
คนเราทุกคนต่างมีสิ่งที่เรียกได้ว่าพลังหรือสมรรถภาพอยู่ในตัวเอง หากแต่ตนเองไม่รู้หรือไม่เข้าใจวิธีการที่จะนำเอาพลังหรือสมรรถภาพส่วนนั้นออกใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือบางคนนำมาใช้ก็ใช้ได้แต่เพียงส่วนน้อย เช่น ในเวลาได้รับอันตรายหรือขณะไฟไหม้ บางคนสามารถยกของหนัก ๆ คนเดียวได้ บางคนสามารถปีนป่ายหลบหลีกภัยได้อย่างรวดเร็วว่องไวผิดปกติ ซึ่งตนเองก็แปลกใจที่สามารถทำได้เองโดยไม่คาดฝัน พลังเหล่านั้นมีซ่อนเร้นอยู่ในตัว เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ถ้าเราไม่นำพลังหรือสมรรถภาพส่วนนั้นออกมาใช้หรือไม่รู้วิธีการใช้ พลังหรือสมรรถภาพเหล่านั้นจะสลายหรือพิการไป แต่ถ้ารู้วิธีการและนำมาใช้ก็จะสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ผู้ใช้อย่างมากมาย เช่น นักกีฬาชั้นนำทั้งหลาย
ในการปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นเรื่องของการอบรมจิตก็เช่นกัน ถ้าได้เรียนรู้วิธีการและพยายามปฏิบัติให้ถูกต้อง ย่อมนำพลังและสมรรถภาพอันยิ่งใหญ่ในทางธรรมมาใช้ เพื่อการบรรลุผลที่พึงปรารถนาในอันดับสูงต่อไป กุศลธรรมที่สำคัญที่ผู้ปฏิบัติพึงนำออกมาใช้เพื่อเผชิญกับความชั่วร้ายและเสริมสร้างคุณความดี คือ อินทรีย์ และพละ (ธนิต อยู่โพธิ์ 2518 : 1)
กุศลธรรมที่เรียกว่าอินทรีย์และพละนี้ เป็นเหมือนพลังและสมรรถภาพ ซึ่งมีอยู่ในตัวพร้อม หากสามารถกระตุ้นหรือเพาะให้งอกงาม และนำมาใช้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองอย่างมากมาย คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่เปรียบเสมือนพระราชาหรือผู้ปกครองย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาและป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมารุกรานเขตแดน อินทรีย์ก็เช่นกันย่อมเป็นใหญ่ในการป้องกันอกุศลฝ่ายตรงข้ามกับกุศลมิให้เข้ามาสู่จิตใจ ส่วน พละ เป็นพลังที่เสริมให้อินทรีย์มีกำลังในการต่อต้านอกุศลได้อย่างต่อเนื่องไม่ย่อท้อเสียในระหว่าง อินทรีย์และพละจึงมีลักษณะอย่างเดียวกัน ต่างแต่พยัญชนะและหน้าที่
อินทรีย์ 5 |
พละ 5 |
1. สัทธินทรีย์ 2. วิริยินทรีย์ 3. สตินทรีย์ 4. สมาธินทรีย์ 5. ปัญญินทรีย์ |
1. สัทธาพละ 2. วิริยพละ 3. สติพละ 4. สมาธิพละ 5. ปัญญาพละ |
สัทธา ต่อต้านกำจัด ตัณหา ความดิ้นรนอยากได้
วิริยะ ต่อต้านกำจัด โกสัชชะ ความเกียจคร้าน
สติ ต่อต้านกำจัด มุฏฐะสัจจะ ความหลงลืม
สมาธิ ต่อต้านกำจัด วิกเขปะ ความฟุ้งซ่าน
ปัญญา ต่อต้านกำจัด สัมโมหะ ความลุ่มหลง
โดยเหตุที่ธรรมทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศลเหล่านี้เป็นเรื่องเกิดกับจิตใจ กุศลเป็นธรรมที่ต้องกระตุ้นและเพาะให้เกิดภายในตน ส่วนอกุศลเป็นธรรมที่ต้องละภายในตน
ขณะใดกำลังเจริญฝ่ายกุศลขณะนั้นอกุศลจะถูกละด้วย ในการพัฒนาอินทรีย์ 5 และพละ 5 นี้ จะต้องพัฒนาไปโดยสม่ำเสมอสมดุลย์กัน มิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่น มีศรัทธาเสมอกับปัญญาคู่หนึ่ง และวิริยะเสมอกับสมาธิคู่หนึ่ง หากศรัทธามากกว่าปัญญาก็จะเชื่องมงายไร้เหตุผล ถ้าใช่แต่ปัญญาหาเหตุผลเรื่อยไป ก็จะเป็นคนเชื่อยากทำให้ขาดศรัทธา ถ้าความเพียรมากจะทำให้ฟุ้งซ่าน ไม่เป็นอุปการะแก่สมาธิ ถ้าบำเพ็ญแต่สมาธิก็จะเซื่องซึมขาดความเพียร ส่วนสติเป็นธรรมที่ยิ่งเจริญมากยิ่งดี เพราะเป็นธรรมที่ปรารถนาในกิจทั้งปวง
การปฏิบัติธรรมจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นกับอุปนิสัยของผู้ปฏิบัติ และคุณสมบัติของผู้เป็นอาจารย์เป็นส่วนสำคัญ
ปธานิยังคะ คือ องค์แห่งความเพียรของผู้ปฏิบัติ 5 ประการ ที่ควรรู้คือ
1. เป็นผู้ศรัทธาในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
2. เป็นผู้มีโรคภัยน้อย ไฟธาตุอยู่ในระดับปานกลาง เหมาะแก่การทำความเพียร
3. ไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนเองตามเป็นจริงต่อผู้รู้
4. พยายามทำความเพียรในการละอกุศลธรรมทั้งหลาย และในการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย มีความเข้มแข็ง บากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญธรรมที่เป็นกุศล
5. เป็นผู้มีปัญญา รู้ความเกิดและความดับ รู้ความสิ้นทุกข์
(อํ. ปัญจกนิบาต 22/74)
ส่วนองค์คุณ ของพระวิปัสสนาจารย์ 5 ประการ ได้แก่
1. เป็นพระภิกษุอยู่ในชั้นเถรภูมิ คือ มีพรรษาตั้งแต่ 10 พรรษาขึ้นไป
2. ได้เรียนรู้และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ผ่านญาณปัญญามาโดยบริบูรย์แล้ว
3. มีความรู้ทางปริยัติดีพอสมควร สามารถชี้แนะแบบแผนที่ถูกต้องตามพระพุทธพจน์ได้
4. มีอินทรีย์สังวร
5. สามารถเทศนาเรื่องวิปัสสนากรรมฐานให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้
6.2.2 แนวคิดกรรมฐานของท่านมหาสี สะยาดอ
หลักการพื้นฐานของสติปัฏฐานตามแนวคิดของท่านมหาสี สะยาดอ (พระโสภณมหาเถระ) คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องยึดเอาประสบการณ์ของตนเองเป็นหลักตั้งแต่เริ่มปฏิบัติไปทีเดียว ผู้ปฏิบัติควรเรียนรู้ให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็น และควรเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยตนเอง มิใช่เห็นจากการแนะนำชักจูงของผู้อื่น ดังนั้น จึงมีเฉพาะคำแนะนำง่าย ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่ห้ามกระทำในระยะเริ่มแรกของการปฏิบัติเท่านั้น
สติปัฏฐานเป็นกิจกรรมทางจิต มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นใจในตนเอง แต่การมั่นใจตนเองจะต้องค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา มนุษย์ส่วนมากยังไม่รู้จักวิธีใช้เครื่องมือ คือ จิต และเคยชินต่อการพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น หรือไม่ก็พึ่งพาความเคยชินจนขาดการเอาใจใส่จิตใจตนเอง เครื่องมืออันวิเศษนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ไว้ใจไม่ได้ไปเสีย ดังนั้น หนทางไปสู่การเป็นนายตนเอง เริ่มจากงานที่เป็นพื้นฐานที่สุดของจิต คือ การใส่ใจนั่นเอง (พระญาณโปนิกเถระ 2534 : 90)
สำหรับสิ่งที่ต้องใส่ใจนั้น ท่านมหาสี สะยาดอ แบ่งอารมณ์กรรมฐานที่ต้องใส่ใจเป็น 2 อย่าง คือ อารมณ์หลัก และอารมณ์รอง
อารมณ์หลัก คือ การเคลื่อนไหวขึ้น-ลง (พอง-ยุบ) ของหน้าท้อง อันเป็นผลมาจากการหายใจ ความตั้งใจกำหนดมุ่งไปที่ความรู้สึกแผ่วเบาจากแรงกดดันอันเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวนั้น ควรเข้าใจว่าวิธีนี้ไม่ใช่การคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหน้าท้อง แต่เป็นการกำหนดที่กระบวนการทางกายที่เกิดขึ้น โดยรู้ถึงการขึ้นและลง (พองและยุบ) อย่างสม่ำเสมอทุกขั้นตอน รักษาความรู้นั้นไว้โดยมิให้ขาดตอนและไม่ตึงเครียดเกินไป และถึงแม้การหายใจจะเป็นต้นเหตุของการเคลื่อนไหวที่หน้าท้อง แต่ไม่ถือว่าเป็นการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก (อานาปานสติ) เพราะอารมณ์ที่สติกำหนดมิได้กำหนดลมหายใจ แต่กำหนดที่อาการพองและยุบของหน้าท้องอันเกิดจากแรงกดดันขณะหายใจเท่านั้น (พระญาณโปนิกะเถระ 2534 : 109)
อารมณ์รอง เมื่อใดก็ตาม ถ้าความรู้ในการเคลื่อนไหวของหน้าท้องหยุดหายไปหรือไม่ชัดเจน ควรเปลี่ยนความสนใจไปอยู่ที่การสัมผัสและการนั่ง
ความรู้ในการสัมผัสและการนั่งนี้เป็นความรู้สำรองจากความรู้ในการเคลื่อนไหวหน้าท้อง และถือเป็นอารมณ์ขั้นรองอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ มุ่งความสนใจไปยังจุดต่าง ๆ ที่รู้สึกสัมผัสต่อเนื่องกันไปตามลำดับ ความรู้สึกสัมผัสในท่านั่ง เช่น ความรู้สึกที่ก้น เข่า ขา ไหล่ ฯลฯ โดยจบลงที่ความรู้ในท่านั่ง ควรกำหนดความรู้สึกทีละส่วนโดยใช้ความยาวของอักษร 2 พยางค์ เช่น ถูกหนอ (เข่าสัมผัส) ถูกหนอ (ขาสัมผัส) นั่งหนอ (รู้ในรูปนั่ง) ในที่นี้ต้องเข้าใจว่าอารมณ์ของสติปัฎฐาน คือ ความรู้ (สึก) ที่เกิดขึ้นจริงตามลำดับ ไม่ใช่สถานที่ที่ถูกกระทบ และไม่ใช่ที่คำว่า ถูกหนอ นั่งหนอ ฯลฯ
ขณะกำหนดความรู้อารมณ์สำรอง เช่น ถูกหนอ นั่งหนอ เมื่อรู้สึกตัวว่าการเคลื่อนไหวของหน้าท้องสามารถกลับมารู้สึกได้ชัดเจนอีก ก็ควรกลับมากำหนดที่หน้าท้องเป็นอารมณ์หลักต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากเกิดความรู้สึกไม่สบายจากการนั่งนาน ๆ เช่น ปวดขา ชา เมื่อย และความไม่สบายดังกล่าวรบกวนการปฏิบัติ ก็ควรเปลี่ยนอิริยาบถ (กำหนดที่ความตั้งใจและการเปลี่ยนท่า) อาจเป็นการเดินไปและกลับอย่างมีสติ (จงกรม) โดยกำหนดรู้ในอาการก้าวของแต่ละก้าว 2 หรือ 3 จังหวะ เช่น ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เป็นต้น นอกจากนี้ความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น การพลาดจากการกำหนดย่างก้าว (ขณะเดินจงกรม) หรือการเผลอสติในการกำหนดระยะต่าง ๆ รวมทั้งการพลาดจากการกำหนดการเคลื่อนไหวหน้าท้อง ความเผลอสติที่เกิดขึ้นเหล่านี้ควรนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดด้วย โดยตั้งความมุ่งหมายไว้ให้สามารถกำหนดความขาดตอนดังกล่าวได้โดยทันที แล้วกลับมากำหนดอารมณ์เดิมโดยเร็วที่สุด วิธีนี้ถือได้ว่าเป็นการวัดความเจริญงอกงามของความรู้สึกตัว เพิ่มขีดความสามารถในการรู้สึกตัวได้ทันท่วงทีที่สติขาดไป และช่วยเพิ่มพลังให้กับการควบคุมตนเอง การตรวจสอบ และการระงับกิเลสได้ในทันทีที่เกิดขึ้นเช่นกัน
สำหรับเจตนารมณ์ในการแนะนำของท่านวิปัสสนาจารย์นั้น ผู้ปฏิบัติธรรมในพม่าท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า
การปฏิบัติแบบนี้มิได้ประดิษฐขึ้นโดยท่านวิปัสสนาจารย์ (อู โสภณมหาเถระ) ไม่ใช่ท่านคิดขึ้นเองโดยพลการหรือด้วยความจงใจ แต่เนื่องจากกระบวนการทางกายที่ว่านี้ไม่หลุดรอดไปจากการกำหนดของท่านนั่นเอง เมื่อท่านพบว่าการกำหนดพองยุบของท้องเป็นประโยชน์ จึงพัฒนาวิธีการดังกล่าวขึ้นมาแนะนำแก่ผู้อื่นด้วย ไม่ใช่สิ่งที่มีความลึกลับมหัศจรรย์อันใด
การปฏิบัติแบบนี้มีประโยชน์เด่นชัดหลายประการ กล่าวคือ
1. การเคลื่อนไหวของหน้าท้องเป็นกระบวนการอัตโนมัติ และเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องจงใจทำให้เกิดขึ้น มีโอกาสสังเกตได้ง่ายตลอดเวลา
2. เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหว จึงเปิดโอกาสให้พิจารณาได้หลายอย่าง เช่น การเกิดขึ้นและดับไปตลอดเวลา ความเกิดและความตาย เช่นเดียวกับการมีสติกำหนดลมหายใจ
3. การเคลื่อนไหวหน้าท้องเป็นการกระทบที่ค่อนข้างหยาบ ง่ายต่อการกำหนดเพื่อนำไปสู่วิปัสสนา
คุณประโยชน์ 3 ประการนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่า การพิจารณาการเคลื่อนไหวของหน้าท้องเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
แนวกรรมฐานของวัดมหาธาตุ ฯ : เรื่องการส่งอารมณ์ : ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ : กลับหน้าสารบัญ