6.3.5 การส่งอารมณ์
เมื่อผู้ปฏิบัติได้ฝึกเดินจงกรมระยะที่หนึ่ง ได้นั่งสมาธิตามที่กำหนดไว้ และได้เจริญสติให้ทันอารมณ์ปัจจุบัน ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถหลังจากนั่งสมาธิแล้ว ครูผู้ฝึกจะเป็นผู้ติดตามผลที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติ ให้ผู้ปฏิบัติเล่าถึงผลการปฏิบัติที่ทำไปแล้วให้กันและกันฟัง เมื่อครูผู้ฝึกได้ทราบแล้วจะได้ชี้สิ่งที่ควรแก้ไข หรือสั่งที่ควรจะทำต่อไป
วิธีรายงานอารมณ์ (โดยย่อ)
เพื่อเป็นการทดสอบผลของผู้ปฏิบัติ อาจารย์ผู้สอนจะสอบอารมณ์ในประเด็นต่อไปนี้
- สามารถกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยทั้งวันที่ผ่านมาได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
- จับสภาวะอาการ พอง-ยุบ อาการเดินได้หรือไม่
- รักษาทวารทางตาได้หรือไม่
- กำหนดสภาวะทางจิตและความนึกคิดได้หรือไม่
- กำหนดเวทนาได้อย่างไร
- กำหนดอาการทางทวารทั้ง 6 ได้ทันหรือไม่ และได้ประสบการณ์อะไรจากการกำหนด
- ให้รายงานประสบการณ์ตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดเดาขึ้น รายงานอารมณ์เท่าที่จำได้และปรากฎชัด พระอาจารย์จะได้ช่วยเหลือได้ตรงจุด
- การส่งอารมณ์ควรพูดเฉพาะเนื้อหาสาระประเด็นสำคัญ ๆ เท่านั้น เพื่อจะได้มีเวลาชี้แนะข้อควรปฏิบัติขั้นต่อไป
ในเทปบันทึก* เทศน์ลำดับญาณ ของ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) กล่าวถึง การสอบอารมณ์ระหว่างพระอาจารย์ กับผู้ปฏิบัติไว้ดังนี้
พระอาจารย์ เมื่อนิมิตมา วิธีถูกต้องให้กำหนดเห็นหนอ ๆ ๆ ถ้า 3 หนหาย แสดงว่าสติสมาธิดีขึ้น ถ้ากำหนดเห็นหนอ ๆ ๆ นิมิตหายช้า แสดงว่าสติสมาธิอ่อนใช้ไม่ได้ จะแก้อย่างไร ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม ใหม่ สมาธิไม่พอ เพราะฉะนั้นมันเตือนบอกให้รู้ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์
หลวงพ่อทำมากี่ปี
หลวงพ่อ 43 ปี
พระอาจารย์ ไปถึงไหน
หลวงพ่อ ถึงธรรมกาย
พระอาจารย์ ดี ดีแล้ว หลวงพ่อ ต่อไปให้เดิน 30 นั่ง 30 (นาที)
เมื่อไปสอบอารมณ์ใหม่
พระอาจารย์ เป็นอย่างไรบ้างหลวงพ่อ นั่งเห็นอะไรบ้าง
หลวงพ่อ เห็นพระพุทธเจ้า จับมือถือแขนกันได้ พูดคุยกันได้
นี่ญาณ 3 (สัมมสนญาณ) เราก็รู้แล้วท่านตอบไปตามเรื่อง นั่นเป็นอารมณ์ของสมถะ
พระอาจารย์ ดีหลวงพ่อให้หลวงพ่อกำหนด เห็นหนอ ๆ ๆ นี้จะยกขึ้นสู่วิปัสสนา เห็นหนอ ๆ ๆ 8 หนหายนี้สมาธิอ่อนใช้ไม่ได้ ต้องเพิ่มให้เดิน 40 นั่ง 40 (นาที)
พอเดิน 40 นั่ง 40 เวลาสอบอารมณ์วันหลัง
พระอาจารย์ เป็นอย่างไรหลวงพ่อ
หลวงพ่อ เห็นพระสงฆ์เยอะ
พระอาจารย์ หลวงพ่ออยู่ที่ไหน
หลวงพ่อ ผมก็นั่งอยู่กับท่าน นี่กรรมฐานรั่ว เราก็ไม่ว่า
พระอาจารย์ ดีหลวงพ่อ แต่ให้กำหนด เห็นหนอ ๆ ๆ
6 หนหายดีขึ้นกว่าวานนี้หน่วยหนึ่ง แต่ยังใช้ไม่ได้ สมาธิยังไม่พอ ให้เดิน 50 นั่ง 50 (นาที
พระอาจารย์ เป็นอย่างไรหลวงพ่อ (เดิน 50 นั่ง 50)
หลวงพ่อ ธรรมกายมาบ่อย ๆ
พระอาจารย์ ดี ในประเทศไทยหลวงพ่อทำได้ดีมาก แต่ให้หลวงพ่อกำหนดครับ เห็นหนอ ๆ
หลวงพ่อ เวลากำหนดเห็นหนอ ๆ พอเห็นหนอหนที่ 3 นี่ ขาดวับ ตกใจเลย จึงคิดได้ว่า โอ เรานี้เป็นขี้ข้าคนมาหลายสิบปีแล้ว ไม่เท่าไหร่ก็จะตาย
พระอาจารย์ ตรงที่มันขาดวับ ก็คือ ญาณที่ 4 นั่นแหละ อุทยัพพยญาณ เห็นรูปนามเกิดดับเกิดดับจริง ๆ ที่พิจารณาว่า โอ เรานี้เป็นขี้ข้าของคนมาหลายสิบปีนี้ เป็นญาณที่ 3 ใช่จินตาญาณ ส่วนที่มันขาดวับ (นิมิตหายไป) นั่นญาณ 4 เวลาเกิดมันเกิดอย่างนี้ สภาวธรรมที่หลงทาง ก็หลงทางอยู่ตรงนี้
* พระมหาอุเทน (ปธ.9) แห่งวัดชนะสงคราม กล่าวไว้ในหนังสือพุทธวิทยาที่น่ารู้เล่ม 3 หน้า 190
-
พระอาจารย์ หมายถึง พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
- หลวงพ่อ หมายถึง พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)
การที่ผู้ปฏิบัติกล่าวว่า ตนได้เห็นพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกสถิตมั่นอยู่ในอายตนะนิพพาน หรือที่กล่าวว่าตนได้เห็น กายหยาบ กายละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายพระอริยบุคคล มีพระอรหันต์เป็นต้นก็ดี จึงเป็นเพียงนิมิตที่เกิดจากสมาธิ ด้วยการนึกไปโน้มไป เป็นเพียงอารมณ์ของสมถะ มิใช่อารมณ์ของวิปัสสนา
เพราะในวิปัสสนาญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณอย่างแก่ จนถึงปัจจเวกขณญาณไม่มีนิมิต มีแต่รูป-นามล้วน ๆ เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ มิใช่อารมณ์บัญญัติ จึงเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างอารมณ์ของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ในสมถกรรมฐานมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ในวิปัสสนากรรมฐานมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เรื่องของนิมิตเป็นเพียงผลระดับขั้นพื้นฐานของการเจริญทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุปกิเลสที่เกิดขึ้น หากไม่มนสิการให้ดีจะเกิดการชื่นชมหลงใหลหลงทาง เข้าใจว่าถึงเป้าหมายแล้ว แต่แท้ที่จริงยังห่างไกลนัก (พระมหาอุเทน (ปธ.9) วัดชนะสงคราม พระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ใน พุทธวิทยาที่น่ารู้ เล่ม 3 หน้า 191-192)
การประเมินผล
การประเมินผลนั้นจะประเมินตามวัตถุประสงค์ของพฤติกรรม เป็นการตรวจสอบสภาวะญาณ และเป็นการแก้ความเข้าใจผิดไปในตัว มีวิธีการคือ
- ให้ผู้ปฏิบัติรายงานการทำกิจกรรมตามความเป็นจริง
- สังเกตการณ์
- การตรวจสอบตามวัตถุประสงค์
- การสอบสวนทวนความ
- ให้สอบถามปัญหาตามบทเรียน
ข้อดีของการปฏิบัติสายวัดมหาธาตุ ฯ นี้ ก็คือ พระอาจารย์และผู้ฝึกได้มีความใกล้ชิด และสามารถต่อบทเรียน สอบอารมณ์ ทำให้มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันในการฝึกแต่ละครั้ง พระอาจารย์จะนำในการฝึกหลายอิริยาบถ เช่น พาเดินจงกรม แล้วนำในการท่องคำภาวนาไปด้วย ทำให้ผู้ฝึกติดตามได้ไม่เบื่อง่าย (วริยา ชินวรรโณ และคณะ 2537 : 247)
เรื่องการส่งอารมณ์ : ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ : กลับหน้าสารบัญ