6.4     ข้อมูลจากการสัมภาษณ์

 

                    เป็นการสอบถามความคิดเห็นใน 3 ประเด็น คือ หลักการและวิธีการที่ใช้สอน ความเกี่ยวข้องกับคัมภร์ และประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัติ

 

                    ดร.พระมหาพิธูร  วิธุโร  ท่านบวชเป็นพระเมื่อปี 2513 และเข้าเป็นนิสิตของมหาจุฬา-ลงกรณราชวิทยาลัย ได้ปฏิบัติกรรมฐานตามหลักสูตรของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโท และจบปริญญาเอก 2 สาขา คือ สาขาสังคมศาสตร์ และสาขาบาลีพระพุทธศาสนา ที่ประเทศอินเดีย ในทางธรรมนั้นจบประโยค ปธ.6 กล่าวถึงวิธีการสอนและผลจากการนำไปใช้ว่า

                    “ขณะเป็นนิสิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เรียนบาลีและฝึกปฏิบัติกับพระธรรมธีรราชมหามุนี ตั้งแต่เริ่มบวช เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาขอฝึกกรรมฐานมากขึ้น อาจารย์ก็ให้ช่วยเป็นล่ามแปลภาษาให้ ก็เลยเป็นผู้อบรมกรรมฐานโดยปริยาย เวลาพระอาจารย์ไม่อยู่ ส่วนใหญ่จะให้ผู้ปฏิบัติลงมือปฏิบัติจริง ๆ มากกว่าให้อ่านหนังสือ หรือเรียนแบบลัดไม่อิงตำรา คือ ให้เริ่มสมาทานศีล สมาทานกรรมฐาน แล้วแนะนำวิธีปฏิบัติอิริยาบถ 4 ไปเลย คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีสติกำหนดรู้ตัวอยู่ทุกขณะ อย่าให้จิตหนีออกไปไกลตัว พูดเป็นภาษาธรรม คือ ให้มีสติกำหนดรู้อารมณ์ปัจจุบัน ให้ภาวนาด้วย ถ้าไม่ภาวนา จิตจะหนีได้ง่าย

 

                    เทคนิคการเปลี่ยนจากสมถเป็นวิปัสสนานั้น ขึ้นกับสติปัญญาของผู้ปฏิบัติ และอาจารย์ผู้สอนเป็นสำคัญ ถ้าเอาสติจ้องอารมณ์เดียว พองก็เห็น ยุบก็เห็น อย่างนี้เป็นสมถ แต่ถ้าสติกำหนดรู้ตามความเป็นจริง กำหนดสภาวธรรมเป็นวิปัสสนา เราไม่ต้องการความสงบจนไม่รู้เรื่อง หรือความฟุ้งซ่านคิดนึกเรื่องไกลตัว ให้การคิดอยู่ในตัวเราไม่ถือว่าฟุ้งซ่าน วิธีนี้ดีคือ สามารถลดความเจ้าอารมณ์ของตนเองลง ความวิตกกังวลก็ลดลงด้วย เพราะจิตมีงานระลึกรู้เป็นสำคัญ

 

                    ปัญหาสำคัญในโลกนี้คือ ความทุกข์ใจ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความทุกข์ใจ   วิปัสสนา-ก็ยังมีความจำเป็นมาก  ปัญหาเกิดเพราะการเอาใจไปผูกพัน เรียกว่า อุปาทาน เป็นกิเลสสร้างภพชาติ
ถ้าจิตภาวนาจนเกิดปัญญา ภพชาติก็ดับ ต้องปฏิบัติให้ถึงที่กิเลสดับ ภพชาติจึงดับ

 

                    สำหรับเนื้อหาในพระอภิธัมมัตถสังคหะนั้น ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะใช้วิสุทธิมรรคอธิบายในภาคของการปฏิบัติ จะเข้าใจและใช้ความรู้ในวิสุทธิมรรคมากกว่า เพราะชี้แนะชัดเจนอยู่แล้วว่าจะทำได้อย่างไรทั้งสมถและวิปัสสนา”

 

                    พระชำนาญ  กำปั่นทอง พรรษา 48 ปี เป็นข้าราชการกองทัพอากาศ ลาบวช มาปฏิบัติธรรม การศึกษาทางธรรม จบนักธรรมเอก ชอบศึกษาธรรมตั้งแต่เด็ก เคยเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่บุดดา สอนให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ใช้คำภาวนาพุทโธ ก็ได้ความสงบระดับหนึ่ง ต่อมาเข้ารับราชการ ทางกองทัพบกนิมนต์ท่านเจ้าคุณโชดก ญาณสิทฺธิ ไปสอนกรรมฐานอยู่ประจำ ก็เลยได้เรียนในฐานะวิปัสสนาหมู่ใหญ่ เคยกำหนดลมหายใจมากก่อน  เมื่อมากำหนดพองหนอ- ยุบหนอ รู้สึกว่าง่ายและได้ลิ้มรสการปฏิบัติอย่างแท้จริง  

 

"หนอ" เป็นคำที่เตือนไม่ให้ประมาท กระแสจิตไม่ฟุ้งซ่านไปไกล จิตใจคนเราเหมือนกระแสน้ำ ที่มักไหลลงต่ำเสมอ จำต้องมีทำนบกั้นหมายถึง การฝึกสมาธินั่นเอง

 

เมื่อจิตเป็นสมาธิ ปัญญาจะเกิดได้ง่าย กรรมฐานจะให้ประโยชน์ 2 ลักษณะ คือ สมถ ให้ประโยชน์ด้านความสงบระงับ ส่วนวิปัสสนาให้ประโยชน์ด้านปัญญา ทำให้พลังจิตใจของเรามีน้ำหนัก นำไปใช้ประโยชน์ได้ การปฏิบัติมีจุดมุ่งหมาย คือ การพ้นจากวัฏสงสารไม่อุปาทาน ควรจะเรียนก่อน เพื่อให้รู้ลักษณะของศีล หิริโอตตัปปะ คือ ให้รู้บาปบุญคุณโทษก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ

 

ส่วนใหญ่จะศึกษาจากพระไตรปิฎก สำหรับพระอภิธัมมัตถสังคหะนั้น คิดว่าเป็นข้อธรรมที่ละเอียดอ่อน ต้องการความไตร่ตรองที่ค่อนข้างประณีต  จึงยากสำหรับคนทั่วไป

 

 

 

                    กล่าวโดยสรุปแล้ว สำนักวิปัสสนา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นสถาบันเก่าแก่ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยพระเถรานุเถระที่มีบารมี มีสมณศักดิ์ และมีบทบาทในการบริหารคณะสงฆ์ยุคนั้น คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ  อาสภเถระ) ทั้งนี้โดยมีพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก  ญาณสิทฺธิ) เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่านได้นำแบบอย่างแนวคิดและวิธีการปฏิบัติกรรมฐาน พอง-ยุบ ของท่านมหาสี สะยาดอ จากสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในประเทศพม่า มาเผยแผ่อบรมในประเทศไทย งานเผยแผ่เป็นไปอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว

 

                    เนื้อหาการสอนของสำนักวัดมหาธาตุ ฯ ประยุกต์มาจากมหาสติปัฏฐานสูตร คือ การพิจารณาการเคลื่อนไหวของหน้าท้องขณะหายใจ วิธีการมีลักษณะเด่น คือ คำภาวนา หนอ ต่อท้ายในทุกอิริยาบถ ซึ่งไม่มีในมหาสติปัฏฐานสูตร เช่น พองหนอ ยุบหนอ

 

การสอนค่อนข้างเป็นระบบ มีท่าทางเป็นขั้นตอน คือ ต้องเริ่มด้วยการเดินจงกรมจังหวะต่าง ๆ เป็นเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ต่อด้วยการนั่งสมาธิพิจารณา พองหนอ ยุบหนอ เป็นเวลา 30 นาที ถึง 1ชม. เช่นกัน  สังเกตความเจ็บปวด ความเมื่อย (เวทนา) สังเกตความนึกคิด (จิต) และการเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ละขั้นตอนของอิริยาบถให้กำหนดประมาณ 3 ครั้ง จึงเปลี่ยน เน้นการภาวนาให้ทันกับอาการที่เกิดขึ้น 

 

ผลของวิธีการดังกล่าวในด้านหนึ่ง คือ ผู้ปฏิบัติใหม่จะรู้ได้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง มีพระอาจารย์นำในการปฏิบัติทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ระบบขั้นตอนดังกล่าว อาจมีส่วนปิดกั้นความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติ จากการยึดระบบและยึดบุคคลโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเหตุผลของสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เพราะมัวกังวลอยู่ว่าต้องทำให้ถูกระบบ  ให้ตรงกับที่อาจารย์สอน

 

                    นอกจากความรู้ในมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว  จะใช้-คัมภีร์วิสุทธิมรรคในการกล่าวถึง ลำดับญาณต่าง ๆ ด้วย  ไม่มีการเน้นถึงเนื้อหาหลักในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ สภาวธรรมต่าง ๆ เช่น ภูมิของวิปัสสนา ใช้ความรู้จากคัมภีร์วิสุทธิมรรคในการอธิบายมากกว่า

 

                    ประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัติธรรม คือ เป็นการพัฒนาจิตใจตนเองโดยตรง มีผลถึงสังคมส่วนรวมด้วย ควบคุมอารมณ์ได้นานขึ้น เบียดเบียนคนอื่นน้อยลง ความวิตกกกังวลก็ลดลงด้วย เรียกว่า สติจะควบคุมให้ครบวงจรทุกแง่มุม


  เรื่องการส่งอารมณ์    :   ข้อมูลจากการสัมภาษณ์   :   กลับหน้าสารบัญ