Search To-reminisce
พระครูศรีโชติญาณ
Article

 วิสุทธิ ๗

 วิสุทธิ หมายถึง ความบริสุทธิ์ หรือความหมดจดจากกิเลส ที่เป็นไปทางกาย ทางจิต และทางปัญญา คือ หมดจดจากกิเลส ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด

วิสุทธิมี ๗ ขั้น ได้แก่ ศีลวิสุทธิ, จิตตวิสุทธิ, ทิฏฐิวิสุทธิ, กังขาวิตรณวิสุทธิ, มัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธิ, ปฏิปทาญาณทัสสนะวิสุทธิ, ญาณทัสสนะวิสุทธิ ในวิสุทธิทั้ง ๗ ที่จัดเป็นปัญญาวิสุทธิมี ๕ ระดับ คือ ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิ จนถึงญาณทัสสนวิสุทธิ

 ในแต่ละวิสุทธิ เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน จะเจริญเพียงอย่างเดียวหรือจะข้ามขั้นกันไม่ได้ ต้องเจริญอย่างต่อเนื่องกัน และไม่อาจเกิดขึ้นเองโดยลำพัง กล่าวคือ ศีลวิสุทธิ ต้องเป็นปัจจัยแก่ จิตตวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิก็เป็นปัจจัยแก่ปัญญาวิสุทธิ การที่จะเป็นวิสุทธิหรือไม่เป็นวิสุทธินั้นขึ้นอยู่กับการโยนิโสมนสิการ

๑. ศีลวิสุทธิ


 

หมายถึง ศีลเพื่อละกิเลส มิใช่ศีลเพื่อกิเลส ศีลแต่ละข้อล้วนมาจากอำนาจจิตใจ  ไม่ใช่มาจากร่างกาย 
หรือจากอำนาจภายนอก ศีลมีทั้งที่บริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ที่ไม่บริสุทธิ์ คือ ศีลที่รักษา เพราะต้องการได้บุญ    อยากร่ำรวยทรัพย์สิน ปรารถนาไปเกิดอีกในที่ดี ๆ เป็นต้น ส่วนศีลที่เป็นวิสุทธินั้ต้องเป็นศีลที่ถือ  เพื่อปรารถนาพระนิพพานเท่านั้น ศีลที่จัดเป็นศีลวิสุทธิมี 4 อย่าง คือ ปาติโมกข์สังวรศีล, อินทรียสังวรศีล, อาชีวะปาริสุทธิศีล และ ปัจจยสันนิสิตศีล

 

ปาติโมกข์สังวรศีล เป็นความบริสุทธิ์ในการประพฤติตามธรรมวินัยที่พระพุทธองค์บัญญัติไวพระภิกษุที่มาบวชในพระพุทธศาสนา  มิใช่บวชเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ให้พ้นจากทุกข์ พ้นจากสังสารวัฏของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เท่านั้น ปาฏิโมกข์สังวรศีลนี้จะบริสุทธิ์ได้ ก็ด้วยกำลังของศรัทธาที่จะพ้นทุกข์จริง ๆ จึงจะรักษาได้ เป็นศีลของพระภิกษุโดยตรง ส่วนฆราวาสจะใช้เพียงศีล ๕ หรืออุโบสถศีลเท่านั้น

อินทรีย์สังวรศีล คือ ความบริสุทธิ์ในการสำรวมทวารทั้ง 6 ในขณะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้อง ใจรู้ธรรมารมณ์ โดยการสำรวมไม่ให้อภิชฌาและโทมนัสเข้าอาศัยได้ กิเลส คือ ความรัก ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำไม่ได้ อินทรีย์สังวรนี้จะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยกำลังของสติ

อาชีวะปาริสุทธิศีล คือ ความบริสุทธิ์ในการเลี้ยงชีพ สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องด้วยพระธรรมวินัย จะไม่ก้าวล่วงเด็ดขาด ถึงแม้ชีวิตต้องตกต่ำหรือตายไปก็ยอม แต่ไม่ยอมผิดศีล โดยส่วนมากแล้วคนเรามักจะผิดศีลเพราะเห็นแก่ลาภ เห็นแก่ยศ เห็นแก่ญาติ และเห็นแก่ชีวิต แต่อาชีวปาริสุทธิศีลนี้ไม่ยอมมีที่สุด แม้เพราะลาภ ยศ หรือญาติ หรือเพราะชีวิต เพราะชีวิตเป็นไปเพื่อทุกข์ จึงรักษาพระธรรมวินัยดีกว่า เพราะพระธรรมวินัยช่วยสงเคราะห์แก่สัตว์โลก ให้ถึงความพ้นทุกข์ อาชีวปาริสุทธิศีลนี้จะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยกำลังของวิริยะ

ปัจจยสันนิสิตศีล คือ ความบริสุทธิ์ในการรับปัจจัย ขณะที่พระภิกษุจะรับปัจจัย ๔ ต้องพิจารณาเสียก่อนว่า ควรแก่สมณะหรือไม ถ้าไม่ควรก็ไม่รับ การใช้เครื่องนุ่งห่มก็เช่นกันต้องพิจารณาก่อนว่า นุ่งห่มเพื่ออะไร มิใช่เพื่อความสวยงาม แต่เพื่อกันความหนาว ความร้อน แมลงต่าง ๆ เป็นต้น อันเป็นเหตุไม่สะดวก แก่การเจริญสมณะธรรม ปัจจยสันนิสิตศีลจะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยกำลังของปัญญา

๒. จิตตวิสุทธิ



หมายถึง จิตที่มีความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส จิตตวิสุทธิว่าโดยอรรถ ได้แก่ สมาธิวิสุทธิ  จิตตวิสุทธิหรือสมาธิวิสุทธิ ต้องเป็นไปเพื่ออานิสงส์ที่เป็นปัจจัยแก่การพ้นทุกข์เท่านั้น สมาธินี้จึงชื่อว่าบริสุทธิ์ ถ้าทำสมาธิเพื่อจะได้มีความสุข ต้องการให้จิตสงบ ความเข้าใจเช่นนี้ สมาธินั้นก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะไม่ต้องการพ้นทุกข์
                                                                                                             (ขุ. ปฏิ. ญาณกถา ๓ /๗๒)

 

หน้าที่ของสมาธิในสติปัฏฐานนั้น คือ การทำลายอภิชฌาและโทมนัส หรือทำลายความยินดียินร้ายที่อยู่ในจิตใจ ซึ่งศีลไม่สามารถทำลายความรู้สึกนึกคิดได้ ศีลเพียงแต่กันไม่ให้แสดงออกทางกาย ทางวาจาเท่านั้น นิวรณ์ธรรมเกิดขึ้นในระดับจิตใจขณะที่คิดนึกถึงเรื่องราวที่เป็นอดีตหรืออนาคต ถ้าขณะใดจิตตั้งมั่นในอารมณ์ปัจจุบันแล้ว นิวรณ์จะเกิดไม่ได้เลย

สมาธิมีอยู่ ๓ ขั้น คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ขณิกสมาธิเป็นได้ทั่วไปในอารมณ์ทั้ง ๖ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ขณะย้ายอารมณ์ไปตามทวารทั้ง ๖ ด้วยเหตุใดก็ตาม ขณิกสมาธิจะติดตามไปด้วยเสมอ ขณิกสมาธิดังกล่าวนี้จึงเป็นปัจจัยหรือเป็นบาทฐานให้แก่วิปัสสนา เพราะการเปลี่ยนอารมณ์ที่เป็นไปตามเหตุผลนั้นเอง ที่เป็นเหตุให้เห็นถึงความเกิดขึ้นและดับไปของอารมณ์และของจิตได้ถ้าหากไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์แล้ว ยากที่จะเข้าใจถึงสภาวะของความเกิด ความดับ ของจิตได้                                             

(วิสุทธิ. อ. ภาค ๒ / ๒๙) 

ความเกิดของจิตในอารมณ์หนึ่ง ๆ นั้น รวดเร็วมากจนไม่ทันเห็นความดับของจิตได้ จึงคิดว่าอารมณ์มีอยู่ ดังนั้น สมาธิที่แน่วแน่จึงไม่เป็นบาทแก่วิปัสสนา และไม่เป็นเหตุให้เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของจิตและอารมณ์ ความสามารถในการรู้ทุกข์ในจิตหรือในอารมณ์นั้น ไม่อาจรู้ได้ด้วยสมาธิ แต่จะรู้ได้ด้วยปัญญา จิตที่ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐาน จึงเป็นบาทให้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของอารมณ์ได้ ผู้บำเพ็ญเพียรจะโดยสมถะก็ดี หรือวิปัสสนาก็ดี สิ่งสำคัญอยู่ที่อารมณ์ที่ใช้ในการพิจารณา จึงต้องศึกษาเรื่องอารมณ์ว่าอารมณ์อย่างไร จึงจะเป็นปัจจัยแก่วิปัสสนา และอารมณ์อย่างไรเป็นปัจจัยแก่สมถะ

สมาธิที่เป็นจิตตวิสุทธิ จะต้องเป็นไปในอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะทำลายกิเลส คือ อภิชฌาและโทมนัส ถ้าสมาธิไม่มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์แล้ว จะทำให้เกิดความสงบ มีความสุข มีความพอใจในความสงบหรือความสุขนั้น ความพอใจเป็นกิเลสอย่างหนึ่งอาศัยสมาธิเกิดขึ้น สมาธิเช่นนี้จึงไม่สามารถทำลายอารมณ์วิปลาสได้

สำหรับการเจริญวิปัสสนาของผู้ที่ได้ฌานแล้ว มีวิธีทำอย่างไร (อัฏฐสาลินี อ. ๑ / ๓๕๕) ที่เรามักได้ยินกันว่า ยกองค์ฌานขึ้นสู่วิปัสสนา นั้นหมายความว่า ในองค์ฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข และเอกัคคตา ผู้ที่ได้ฌานมักจะติดในสุข และเพลิดเพลินในสุข ความสุขนี้เกิดจากปิติเป็นเหตุ ฉะนั้น การยกองค์ฌานจึงอาศัยการเพ่งปิติซึ่งเป็นองค์ฌานและเป็นนามธรรมนั่นเอง ธรรมชาติของปิตินั้นจะเพ่งหรือไม่เพ่งก็มีการเกิดดับ แม้จิตที่เป็นสมาธิก็มีการเกิดดับ  ปิติซึ่งอาศัยจิตที่ได้ฌานแล้ว ยิ่งเกิดดับรวดเร็วมาก ปิตินั่นแหละจะแสดงความเกิดดับให้ปรากฏแก่ผู้เพ่งพิจารณา เมื่อเห็นว่าปิติมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว จิตก็จะดำเนินไปในอารมณ์ของวิปัสสนาด้วยอำนาจของการเพ่งลักษณะของปิติ (ไม่ใช่เพ่งอารมณ์บัญญัติ) วิปลาสก็จับในอารมณ์นั้นไม่ได้

ดังนั้น ถ้าฌานใดที่เพ่งลักษณะ หรือสมาธิใดที่พิจารณาลักษณะที่กำลังเปลี่ยนแปลง
(ลักขณูปนิชฌาน)
สมาธินั้นชื่อว่าเป็นบาทของวิปัสสนา และเรียกสมาธินั้นว่า จิตตวิสุทธิ ส่วนสมาธิใดที่เพ่งอารมณ์บัญญัติ (อารัมมณูปนิชฌาน) ไม่เพ่งลักษณะ ไม่จัดว่าเป็นจิตตวิสุทธิ

๓. ทิฏฐิวิสุทธ
 


หมายถึง ปัญญาที่มีความเห็นถูก หรือรู้ถูกตามความเป็นจริงโดยปราศจากกิเลส คือ เห็นนามและรูปว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจใด ได้แก่ นาม-รูปปริจเฉทญาณ การเห็นเช่นนี้เป็นภาวนาปัญญา ถ้าเพียงแต่คาดคะแนคิดนึก
(สุตามยปัญญ) หรือการวิพากษ์วิจารณ์ (จินตามยปัญญา) จะเข้าถึงวิสุทธิไม่ได้เลย ทิฏฐิวิสุทธิเป็นผลซึ่งเกิดจากการทำเหตุได้ถูกต้อง 

 จึงควรศึกษาถึงเงื่อนไขการกำหนดนาม-รูปอันเป็นตัวกรรมฐานว่าจะพิจารณาอย่างไร จะโยนิโสมนสิการอย่างไร จึงจะถูกต้อง ถ้าทำเหตุถูกต้องตามควรแก่ผลแล้ว ผลนั้นก็จะเกิดขึ้นได้ การพิจารณานามรูปจะถูกต้อง ก็เนื่องมาจากการศึกษาปริยัติมาอย่างถูกต้องตามปัญญาบารมีของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ จึงจะผ่านอุปสรรค คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่เป็นศัตรูสำคัญที่ กีดขวางมิให้พบเหตุหรือทำเหตุที่ถูกได้

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ

 

เป็นปัญญาที่ต่อเนื่องมาจากทิฏฐิวิสุทธิ มีความเชื่ออย่างแน่นอนแล้วว่า ในอดีตมีการเวียนว่ายตายเกิด มาแล้ว และในอนาคตก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกถ้ายังทำเหตุของการเกิดอยู่  ผู้ปฏิบัติจะ หมดความสงสัยในเรื่องภพชาติ ทั้งชาติที่แล้วมา ชาตินี้ หรือชาติหน้า จากทิฏฐิวิสุทธิที่เกิดด้วย  นาม-รูปริจเฉทญาณที่รู้เพียงความแตกต่างของนามและรูป แต่ไม่รู้ว่านามและรูปเหล่านั้นมาจากไหน 

ในกังขาวิตรณวิสุทธิที่หมดความสงสัยได้ เพราะเมื่อกำหนดนาม-รูปจนเข้าใจมากขึ้นแล้ว ก็จะรู้ว่านาม-รูปเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุปัจจัย (ปัจจยปริคหญาณ) คือ รูปอันใดเกิดขึ้น (อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน) ก็รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด (เพราะมีจิตเป็นตัวรู้และสั่งงาน) นามอันใดเกิดขึ้น (ความคิด ความรู้สึก ชอบ หรือชัง) ก็รู้ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร (เพราะมีการกระทบอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖ เป็นต้น) ไม่เกี่ยวกับการสร้างหรือการดลบันดาลให้เกิดขึ้น สามารถตัดสินได้ว่าแม้ชาติก่อนตนก็เกิดด้วยเหตุ ปัจจัย ปัจจุบันก็เกิดมาได้ด้วยเหตุ ปัจจัย และความสันทัดที่มีอยู่ก็กำลังสร้างเหตุเพื่อการเกิดในชาติหน้า อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ชาติหน้าจึงมีเหตุปัจจัยที่กำลังรอส่งผลเช่นกัน แม้คนอื่นหรือสัตว์อื่น ก็ไม่พ้นไปจาก เหตุปัจจัยเช่นนี้เหมือนกัน

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ


 คือ ปัญญาที่รู้โดยถูกต้องแน่นอนแล้วว่า วิธีการใดใช่ทาง หรือวิธีการใดไม่ใช่ทาง ที่จะดำเนินไปสู่การดับภพชาติของตน หรือพระนิพพาน ความรู้ ความเข้าใจที่สามารถตัดสิน วิธีการต่าง ๆ ได้นี้ ชื่อว่าปัญญานั้นบริสุทธิ์แล้ว จากความเข้าใจผิดด้วยอำนาจตัณหาและทิฎฐิ เมื่อกำจัดความเข้าใจผิดได้ เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นับตั้งแต่ อุทยัพพยญาณ อันเป็นวิปัสสนาญาณที่แท้จริงเป็นต้นไป 

ปัญญาในอุทยัพพยญาณเป็นปัญญาอันเป็นปฏิปทาที่ถูกต้อง แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์พอที่จะรู้เท่าทัน ในอารมณ์ของกิเลส คือ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง มีโอภาสเป็นต้นที่เกิดจากกำลังของสมาธิ ถ้าอารมณ์ของสมาธิมีมากกว่าก็จะดึงจิตให้ตกจากอารมณ์วิปัสสนา ทำให้เห็นแสงสว่าง หรือรู้สึกสงบ เยือกเย็น เป็นต้น ทำให้เข้าใจผิดว่าตนเองเข้าถึงธรรมที่ไม่มีกิเลสแล้ว ตนเข้าถึงนิพพานแล้ว ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา อาจจะเข้าอาศัยได้ ความรู้สึกนี้เป็นข้าศึกแก่อารมณ์วิปัสสนาที่ถือว่าไม่ใช่เรา เหตุนี้ความรู้สึกเป็นตัวเราจึงเป็นกิเลสของวิปัสสนา ทำให้วิปัสสนาเศร้าหมองตกไปจากวิสุทธิ และมักทำให้หลงทาง ถ้ารู้เท่าทันวิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้น จะด้วยการศึกษา หรือครูอาจารย์บอกเหตุผล
ให้ก็ตาม ความรู้สึกในอารมณ์ที่ถูกของอุทยัพพยญาณจึงจะเกิดขึ้น ความรู้สึกที่ถูกต้องจะกันจิต มิให้ตกไปในอารมณ์ที่ผิดอีก ความเข้าใจนี้เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ


คือ ปัญญาที่เข้าถึงความรู้สึกในทางที่ถูก ตรงสู่พระนิพพานโดยถูกต้องแล้ว ทางในที่นี้หมายถึง อารมณ์อันเป็นปฏิปทาที่ถูกต้อง ตัณหาแลทิฎฐิไม่สามารถเข้าไปในอารมณ์นั้นได้ อารมณ์ของ วิปัสสนา คือ ไตรลักษณ์ในนาม-รูป เป็นตัวถูกรู้   ส่วนปัญญาเป็นตัวรู้อารมณ์ไตรลักษณ์นั้น ความรู้เช่นนี้เป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาญาณเบื้องสูงต่อเนื่องไปถึงโคตรภูญาณ

 วิปัสสนาปัญญาตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลสจนถึงโคตรภูญาณจัดเข้าอยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ดังนั้น วิสุทธิขั้นนี้จึงประกอบด้วยวิปัสสนาญาณลักษณะต่าง ๆ รวม ๑๐ ญาณ ได้แก่ อุทยัพพยญาณที่ปราศจาก วิปัสสนูปกิเลส ภังคญาณ ภยญาน อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ และโคตรภูญาณ

อานิสงส์ที่จัดอยู่ในวิสุทธิข้อนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านวิปัสสนาปัญญาขั้นภังคญาณหรือภังคานุปัสสนาญาณแล้ว จะได้รับอานิสง ๘ ประการ คือ

๑. ละความใคร่ในภพต่าง ๆ เพราะรู้แล้วว่าไม่ใช่ความสุข   

๒. ละความใคร่ในชีวิต เพราะเห็นแล้วว่าชีวิตเป็นไปเพื่อทุกข์และการแก้ไขเท่านั้น

๓. หมั่นประกอบความเพียร เพื่อจะได้พ้นจากทุกข์

๔ เลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์ ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

๕. ไม่ขวนขวายในทางที่ผิด ให้ผิดไปจากพระธรรมวินัย

๖. มีความกล้าหาญ ไม่ยอมผิดศีล ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งที่จะทำให้เสียศีลธรรม

๗. มีขันติอดทน ไม่เป็นไปกับกิเลสของคนอื่น เป็นคนสอนง่าย เลี้ยงง่าย ไม่ดื้อรั้น

๘. อดกลั้นต่อความยินดียินร้ายไม่ตอบสนองกิเลสของตนเองในอารมณ์ต่างๆ โดยผิดทาง

คุณธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ เป็นอานิสงส์อันเนื่องมาจากปัญญาของผู้ปฏิบัติที่เข้าถึง  ภังคานุปัสสนาญาณดังกล่าว อาศัยคุณธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยให้บรรลุถึงธรรมที่ดับทุกข์ ถ้าผู้ใดยังไม่ได้รับอานิสงส์นี้แล้ว ก็ยากจะดำเนิน ถึงพระนิพพานได้ อานิสงดังกล่าวมิใช่เกิดจากทาน หรือจากศีล หรือจากสมาธิ แต่จะต้องได้มาจากเหตุโดยตรง คือ จากวิปัสสนาเท่านั้น

จะเห็นว่า วิปัสสนาญาณแต่ละลักษณะทำให้เกิดวิสุทธิได้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ก็เพราะญาณปัญญาแต่ละข้อมีอำนาจไม่เท่ากันนั่นเอง วิปัสสนาบางข้อก็มีอำนาจให้เกิดวิสุทธิได้เต็มข้อ เช่น นาม-รูปปริจเฉทญาณ ทำให้เกิดทิฎฐิวิสุทธิเต็ม ปัจจยปริคหญาณ ทำให้เกิดกังขาวิตรณวิสุทธิ  ส่วนอุทยัพพยญาณที่ยังมีวิปัสสนูปกิเลสจัดอยู่ในขั้นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ถ้าปราศจากวิปัสสนูปกิเลสจะจัดอยู่ในขั้นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นต้น แต่วิปัสสนาบางข้อต้องรวมกันหลายข้อ จึงจะสามารถ ทำให้เกิดวิสุทธิได้เพียงข้อเดียว เช่น อุทยัพพยญาณส่วนหลัง จนถึงโคตรภูญาณ รวม ๑๐ ญาณ ทำให้เกิดปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิ เพียงข้อเดียว

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ 


คือ ปัญญาในมัคคญาณที่เห็นแจ้งพระนิพพนาน เป็นปัญญาขั้นสูงสุดของการเจริญวิปัสสนา หรือเจริญมหาสติปัฏฐาน จนเห็นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ครบถ้วน   ตั้งแต่วิสุทธิที่ ๑ ถึงวิสุทธิที่  ๖ นั้น 
รู้อริยสัจจ์เพียง ๒ สัจจะ
คือ รู้ทุกข์สัจจ์กับสมุทัยสัจจ์  ส่วนญาณทัสสนวิสุทธิเป็นโลกุตตรวิสุทธิ เพราะรู้แจ้งอริยสัจจ์ครบทั้ง ๔  ทั้งนี้วิสุทธิแต่ละวิสุทธิจะเป็นปัจจัยแก่กันและกันตามลำดับ ไม่มีการข้ามขั้นตั้งแต่วิสุทธิที่๑ ถึงวิสุทธิที่ ๗

 คำสอนในพระพุทธศาสนานั้นมีพระพุทธประสงค์ก็เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงปัญญาที่เชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิเท่านั้น และธรรมทั้งหลายในคำสอนก็สงเคราะห์อยู่ในอริยสัจจ์ทั้งหมด

TOP

 

 

การสงเคราะห์ ญาณ ๑๖  วิสุทธิ ๕ และปริญญา ๓

 


ญาณ ๑๖

 


วิสุทธิ ๕ (ปัญญาวิสุทธิ)

 


ปริญญา ๓

 

    ๑.นามรูปปริจเฉทญาณ

ทิฏฐิวิสุทธิ ญาตปริญญา
รอบรู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุ
สิ่งใดเป็นปัจจัย
สิ่งใดเป็นผล

    ๒.ปัจจยปริคหญาณ

กังขาวิตรณวิสุทธิ

    ๓.สัมมสนญาณ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ตีรณปริญญา
สามารถไตร่ตรองถึงเงื่อนเกิดและเงื่อนดับของการรับรู้อารมณ์

 

 

    ๔.อุทยัพพยญาณ
     ตรุณอุทยัพพยญาณ

    ๔.อุทยัพพยญาณ
     พลวอุทยยัพพยญาณ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
    ๕.ภังคญาณ ปหานปริญญา
    ๖.ภยญาณ
    ๗.อาทีนวญาณ
    ๘.นิพพิทาญาณ
    ๙.มุญจิตุกัมยตาญาณ
    ๑๐.ปฏฺสังขารณญาณ
    ๑๑.สังขารุเปกขาญาณ
    ๑๒.อนุโลมญาณ
    ๑๓.โคตรภูญาณ
   ๑๔.มัคคญาณ ญาณทัสสนวิสุทธิ
    ๑๕.ผลญาณ
    ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ