Moonlanithi OnlineStudy
thai    english

หลักสูตร อบรมวิปัสสนา
Article

การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างคัมภีร์พระไตรปิฎกกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค

จะเปรียบเทียบใน 3 ลักษณะ คือ ด้านโครงสร้าง ด้านเนื้อหา และหลักวิชาการของแต่ละคัมภีร์

 

4.4.1 โครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

 

คัมภีร์วิสุทธิมรรคแต่งขึ้นโดยพระพุทธโฆสะ ท่านเป็นผู้ประมวลธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎก อันได้แก่ พระวินัยปิฎกพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก มาเรียบเรียงใหม่ในลักษณะของไตรสิกขา โดยนำไตรสิกขามาตั้งเป็นบทกระทู้ แล้วอธิบายขยายความบทกระทู้ดังกล่าว แสดงหมวดหมู่ของไตรสิกขาเป็นรูปคำถาม-คำตอบ แบ่งเป็น 3 ภาคใหญ่ ๆ ถือแนววิสุทธิ 7 ประการเป็นหลัก โดยขยายสีลวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่งต่างหาก เรียกว่า สีลนิเทศ แยกจิตวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่ง เรียกว่า สมาธินิเทศ และแยกปัญญาวิสุทธิทั้ง 5 มีทิฏฐิวิสุทธิ เป็นต้น ออกเป็นอีกนิเทศหนึ่ง เรียกว่า ปัญญานิเทศ รวมทั้ง 3 ภาค มี 23 นิเทศ

โครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค จึงต่างจากคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ใหญ่ และมีการแบ่งหมวดหมู่ในลักษณะของนิกายรวม 5 นิกาย ซึ่งกว้างขวางและลุ่มลึกกว่าหลายเท่านัก

 

4.4.2 เนื้อหาของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

 

ใน 3 ภาคใหญ่ ๆ นั้น แต่ละภาคจะชี้ให้เห็นถึงกระบวนความรู้ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันตั้งแต่ความรู้อย่างหยาบ ๆ จนถึงความรู้ขั้นละเอียดลึกซึ้ง

ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ว่า ขั้นตอนการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นทำอย่างไร จะต้องมีความรู้อะไรบ้าง ความรู้เหล่านั้นมีหลักการอย่างไร ต้องเรียนรู้อะไรก่อน อะไรหลัง กล่าวคือ แต่ละภาคจะเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความหมาย ลักษณะ กิจ ผลปรากฏ เหตุใกล้ คุณประโยชน์ต่อชีวิต อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนวิธีการเจริญไปตามขั้นตอนทั้งของศีล สมาธิ และปัญญา เป็นภาพรวมของวิถีชีวิตที่ดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์โดยตรง

ซึ่งต่างจากมหาสติปัฏฐานสูตรในพระไตรปิฎก คือ มหาสติปัฏฐานสูตร จะกล่าวถึงเรื่องการเจริญสติโดยตรง ไม่มีการกล่าวถึงลำดับของการเจริญศีล สมาธิ และปัญญาอย่างในวิสุทธิมรรค

เนื้อหาโดยรวมในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จะเน้นการดำเนินชีวิตเยี่ยงพระสงฆ์มากกว่าการดำเนินชีวิตอย่างคฤหัสถ์ เพราะชีวิตของพระเป็นชีวิตแห่งไตรสิกขาโดยตรง วิสุทธิมรรคจึงเปรียบเสมือนคู่มือของนักปฏิบัติธรรมฝ่ายเถรวาท เพื่อใช้เป็นฐานที่จะก้าวลงสู่มหาสมุทรของพระพุทธศาสนา (คือคัมภีร์พระไตรปิฎก) แต่ไม่ควรสรุปว่าวิสุทธิมรรคคือทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เป็นเพียงภาคของการปฏิบัติที่จะทำให้ชีวิตถึงจุดหมายสูงสุด คือ ความบริสุทธิหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย (พระธรรมปิฎก, สากัจฉา วิมุตติมรรค 21 ก.ย.38)

 

4.4.3 หลักวิชาการของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

 

คัมภีร์วิสุทธิมรรคจัดเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ซึ่งแต่งขึ้นในภายหลังโดยพระพุทธโฆสะ ในวงวิชาการทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นคัมภีร์หลักขั้นปฐมภูมิ เช่นเดียวกับคัมภีร์พระไตรปิฎก B.C.Law (1946 : 80) กล่าวว่า คัมภีร์นี้มิได้เพิ่มอะไรให้แก่ตัวคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นแต่มุ่งหมายในการจัดสารบัญของพระไตรปิฎกในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : จ) นอกจากนี้ทางการคณะสงฆ์ไทยยังจัดคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วิชาการแปลมคธเป็นไทย ประโยค ปธ.8-9 นับว่าเป็นปกรณ์สำคัญปกรณ์หนึ่งที่นิยมศึกษากันมาก ประวัติแห่งการแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความแตกฉานในคัมภีร์พระไตรปิฎกของท่านพระพุทธโฆสะ จนเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารแห่งประเทศลังกาในยุคนั้นเช่นกัน

คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นคัมภีร์ ที่แสดงการประมวลความรู้ความเข้าใจในพุทธธรรมของฝ่ายเถรวาทอย่างสมบูรณ์ ทั้งการอุปมาอุปไมยและตัวอย่างประกอบมากมาย (สุภาพรรณ ณ บางช้าง 2526 : 292) สามารถรวบรวมเนื้อหาสาระเกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญา และหมวดธรรมต่าง ๆ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมาอธิบายขยายความไว้อย่างเป็นระบบให้รายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของธรรมที่พึงทราบเหล่านั้น เค้าโครงทั่วไปของการปฏิบัติถือตามหลักการของไตรสิกขาแล้วขยายออกตามแนววิสุทธิ 7 นอกจากแสดงลำดับขั้นตอนและแบบแผนการฝึกด้านกิจกรรมภายนอกแล้ว (เช่น ศีล สมาธิ) ยังแสดงลำดับขั้นของความเจริญก้าวหน้าภายใน คือ การที่ปัญญาแก่กล้าขึ้นเป็นระดับ ๆ จนถึงการตรัสรู้ (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) 2525 : 359)

 

ไตรสิกขาหรือศีล สมาธิ ปัญญานั้น แต่ละส่วนมีหลักเกณฑ์เฉพาะของตนเอง นอกจากนี้วิธีการ ตลอดจนผลที่เกิดขึ้นก็ไม่เหมือนกัน แต่ในความแตกต่างเหล่านั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเป็นเอกเทศ การเจริญไตรสิกขาไปสู่ความวิสุทธินั้น หมายเอาศีล สมาธิ ปัญญาที่กำลังเกิด พร้อมในอารมณ์เดียวกัน ขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น คนทุกคนสามารถสร้างนิสัยในเจริญวิปัสสนาได้ และเป็นสิ่งที่ควรสั่งสมอบรม แต่มิใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงเหตุผลและญาณปัญญา ทั้งนี้มีเงื่อนไขบางอย่างของญาณปัญญา โดยเฉพาะคือต้องเป็นผู้ที่เกิดมาพร้อมด้วยไตรเหตุ (อโลภะเหตุ อโทสะเหตุ อโมหะเหตุ)

นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ฉลาดรอบคอบในการนำกิจของพระกรรมฐานทุกอย่าง เริ่มต้นด้วย การเรียน การถาม และการเจริญ เป็นต้น เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเหตุของวิปัสสนาญาณในระดับต่าง ๆ เท่าที่ตนเคยสั่งสมไว้ วิปัสสนาญาณแต่ละระดับก็มีความสามารถปหานกิเลสชนิดต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดวิสุทธิได้ไม่เท่ากันด้วย กฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่กล่าวมาเป็นการยืนยันถึงหลักอนัตตาอย่างหนึ่งว่า ญาณปัญญาและวิสุทธิที่มีอยู่หลายระดับนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจการจัดสรรของผู้ใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่บังคับให้เกิดกับใครโดยไม่สร้างเหตุที่ถูกต้องก็ไม่ได้ ความบริสุทธิ์มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความเชื่อ หรือการอ้อนวอน แต่เกิดขึ้นจากการพิสูจน์หรือจากการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยตนเองเท่านั้น

ดังได้กล่าวในบทที่ 2 แล้วว่า การพัฒนาสติ สัมปชัญญะ และความเพียรนั้น จำเป็นต้องศึกษาถึงอุปสรรคหรือสิ่งที่จะขัดขวางการพัฒนาตนเอง เช่น ความเป็นผู้ชอบการงาน การพูดคุย การนอน การคลุกคลีกับหมู่คณะ ความไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคดังกล่าว ในยุคสมัยต่อ ๆ มาจึงพัฒนามาเป็นห้องกรรมฐาน กฎระเบียบ และสำนักปฏิบัติธรรม กรณีศึกษาเกี่ยวกับสำนักปฏิบัติธรรมดังกล่าวจะกล่าวถึงใน 2 บทต่อจากนี้ไป


Back to Menu

ศีล สมาธิ ปัญญา : แนวคิดและความสัมพันธ์ :: ปัญญานิเทศ :: เปรียบเทียบคัมภีร์พระไตรปิฎกกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค