จิตตุปบาท..เรื่องที่ควรรู้จักและเข้าใจ

ภญ.ธัญนันทน์ เลิศหิรัญวงศ์  เรื่องและภาพ , มาลี อาณากุล  เรียบเรียง

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^

 

สวัสดีค่ะ พบกันอีกครั้งด้วยเรื่อง “จิตตุปบาท”

เพราะเห็นว่า “จิตตุปบาท” เป็นเรื่องพื้นฐานเริ่มต้นที่จะทำให้เข้าใจความเป็นไปของจิต และสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิตได้เป็นอย่างดี    หากสามารถเรียนรู้ให้เข้าใจแจะเป็นประโยชน์มากสำหรับท่านที่กำลังศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรมมัตถสังคหะอยู่  โดยเฉพาะเรื่องเหตุในปริจเฉทที่ ๓ (บอกกล่าวจากประสบการณ์ค่ะ)

นำเสนอเรื่องนี้จากความรู้ความเข้าใจที่ได้รับการสอนสั่งมา  และตามสติปัญญาที่สามารถจะกระทำได้  หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขอกราบอภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย และขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายโปรดชี้แนะแก้ไขด้วยคะ

หากการนำเสนอเรื่องนี้ ยังประโยชน์ให้แก่ท่านผู้อ่านได้บ้าง  ก็ขออุทิศกุศลกรรมที่ได้จากธรรมทานครั้งนี้แด่ ท่านพระอาจารย์บุญมี เมธางกูร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอภิธรรมแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้ชีวิตใหม่ในบวรพระพุทธศาสนาแก่ข้าพเจ้า   ขอให้ท่านได้ร่วมอนุโมทนาในเจตนาครั้งด้วย
 

และขอจงเป็นพลวปัจจัยเสมือนยาทิพย์ช่วยเอื้อหนุนให้อาจารย์บุษกร เมธางกูร  ผู้สืบสานงานต่อ จงมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจด้วยเทอญ….

 

 

<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

 

เกี่ยวกับจิต

·       จิ เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ขณะใดจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นการรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้น จะห้ามการรู้อารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้  สภาวลักษณะของจิตเมื่อกล่าวโดยทั่วไป จึงเป็นการรู้อารมณ์อย่างเดียว 

·       แต่เมื่อกล่าวถึงลักษณะที่รู้อารมณ์พิเศษของจิตแล้ว จิตจะมีความสามารถในการรู้อารมณ์ไม่เหมือนกัน โดยอำนาจการปรุงแต่งของเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีที่อาศัยและมีอารมณ์อันเดียวกับจิต

·       และมีการเกิดขึ้นสืบกันไม่ขาดสาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า…..

·       เมื่อมีจิตเกิดขึ้น… ต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ

·       ขณะที่จิตเกิดขึ้น เรียกว่า อุปาทะขณะ

·       ขณะที่จิตตั้งอยู่  เรียกว่า ฐีติขณะ  และ

·       ขณะที่จิตดับไป เรียกว่า ภังคะขณะ

 

ภาพโดยรวมของจิตตุปบาท

จิตตุปบาท มาจาก จิต + อุปาทะ  จึงหมายถึงการเกิดขึ้นของจิต  มาดูกันสิว่าภาพจิตตุปบาทบ่งบอกให้ทราบถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับจิตอะไรบ้าง  (ดูภาพจิตตุปบาทประกอบ)

 


·       จิต (วงกลม)

·       เจตสิกที่ประกอบ (เขียนเป็นตัวเลขประกอบภายในวงกลม)

·       ขณะเกิดขึ้นของจิต (อุปาทขณะ แสดงด้วยเส้นสีเขียวเส้นแรก)

·       ขณะตั้งอยู่ของจิต (ฐีติขณะ แสดงด้วยเส้นสีน้ำตาลเส้นที่สองตรงกลาง)

·       ขณะดับไปของจิต (ภังคขณะ แสดงด้วยเส้นสีเทาเส้นที่สาม)

·       จิตตชรูป (ขีดเล็กๆ อยู่เหนืออุปาทขณะ) เป็นเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่ามีจิตตชรูป เกิดขึ้นด้วยที่อุปาทะขณะของจิต

 

มาพิจารณาเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต

สำหรับผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม คงจะทราบกันอยู่แล้ว ว่า…เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ดวง 
แต่เป็นเจตสิกที่เป็นเหตุได้เพียง ๖ ดวงเท่านั้นคือ

 

·       โลภเจตสิก  เป็น  โลภเหตุ

·       โทสเจตสิก  เป็น  โทสเหตุ

·       โมหเจตสิก  เป็น  โมหเหตุ

·       อโลภเจตสิก  เป็น  อโลภเหตุ

·       อโทสเจตสิก  เป็น  อโทสเหตุ

·       ปัญญาเจตสิก  เป็น  อโมหเหตุ

 

จิตตุปบาทจะบอกให้ทราบถึงสัมปยุตตเหตุได้อย่างไร

..เราสามารถแสดงให้ทราบถึงสัมปยุตตเหตุ ในจิตแต่ละดวงได้ด้วยภาพจิตตุปบาท

..โดยการแบ่งครึ่งวงกลมซึ่งแทนจิต แล้วเขียนจำนวนเจตสิกที่เป็นเหตุอยู่ครึ่งบน 

..โดยเขียนในลักษณะ ๑, ๑-๑, ๑-๑-๑ แทน เหตุ ๑, เหตุ ๒, เหตุ ๓ ตามลำดับ

..และเจตสิกที่เหลือ (= เจตสิกทั้งหมด ลบด้วย เจตสิกที่เป็นเหตุ) เขียนไว้ครึ่งล่าง

..(ดูภาพประกอบไปด้วยเพื่อความเข้าใจ)

 

 

·       ถ้าจิตดวงนั้นไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบ (ครึ่งบนก็ว่างไว้)  จัดเป็น อเหตุกจิต

·       ถ้าจิตดวงนั้นมีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบด้วย ๑ ดวง (๑) ก็จัดเป็น
เอกเหตุกจิต

·       ถ้าจิตดวงนั้นมีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบด้วย ๒ ดวง (๑-๑) ก็จัดเป็น
ทวิเหตุกจิต

·       ถ้าจิตดวงนั้นมีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบด้วย ๓ ดวง ก็จัดเป็น
ติเหตุกจิต

 

 

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

มารู้จักกับ ธรรมที่เป็นเหตุ  ธรรมที่มีเหตุ  และ ธรรมที่ไม่เป็นเหตุ

ธรรมที่เป็นเหตุ

·       หมายถึงเจตสิกที่เป็นเหตุ  ไม่ว่าจะมีเหตุเดียว (๑),

        เหตุสอง (๑-๑) หรือเหตุสาม (๑-๑-๑)ก็ตาม

·       ถ้ามีเหตุเดียว…เจตสิกดวงที่เป็นเหตุนั้นก็จะเป็นธรรมที่เป็นเหตุ แต่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

·       ถ้ามีเหตุสองหรือสาม…เจตสิกที่เป็นเหตุแต่ละดวง ก็จะเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย และมีเหตุเกิดร่วมด้วย

ธรรมที่มีเหตุ  และธรรมที่ไม่เป็นเหตุ

·       หมายถึง  เจตสิกที่เหลือ และจิต

 

 

...........................................................................................................

 

เอกเหตุกจิต  มี ๒ ดวง

·       ได้แก่โมหมูลจิต ๒ ดวง (วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑

      และ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑)

·       มีเจตสิกประกอบ (เท่ากันแต่ไม่เหมือนกัน) ๑๕ ดวง

·       มีโมหเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คือโมหเหตุ

·       เจตสิกที่เหลือ ๑๔ จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ แต่ไม่เป็นเหตุ

·       โมหมูลจิต จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ แต่ไม่เป็นเหตุ

 

ทวิเหตุกจิต  มี ๒๒ ดวง

·       โลภมูลจิต ๘ ดวง

·       โทสมูลจิต ๒ ดวง

·       ญาณวิปยุตตจิต ๑๒ ดวง


 

(ภาพที่แสดงคือโลภมูลจิตดวงที่๑)

 

·    โลภมูลจิต ๘ ดวง 

…โลภเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คือโลภเหตุ

…มีโมหเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คือโมหเหตุ  ดังนั้น
โลภเจตสิก จึงเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีเหตุร่วมด้วยคือ โมหะเจตสิก
ส่วนโมหะเจตสิกก็เป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีเหตุร่วมด้วยคือ โลภะเจตสิก

 …เจตสิกที่เหลือ จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ แต่ไม่เป็นเหตุ

…โลภมูลจิต จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ ๒ แต่ไม่เป็นเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกจิต

 

 



(ภาพที่แสดงคือโทสมูลจิตดวงที่ ๒)


·   โทสมูลจิต ๒ ดวง

…มีโทสเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คือโทสเหตุ

…มีโมหเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คือโมหเหตุ

…โทสเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีเหตุคือโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย

…โมหเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีเหตุคือโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

 …เจตสิกที่เหลือ จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ แต่ไม่เป็นเหตุ

…โทสมูลจิต จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ ๒ แต่ไม่เป็นเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกจิต
 

 

 


(ภาพที่แสดงคือมหากุศลดวงที่ ๓ มีเจตสิกประกอบ ๓๗ ดวง)


 

·  ญาณวิปปยุตตจิต ๑๒ ดวง

 …มีอโลภเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คืออโลภเหตุ
…มีอโทสเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คืออโทสเหตุ
…อโลภเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีอโทสเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วย

…อโทสเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีอโลภเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วย

…เจตสิกที่เหลือ จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ แต่ไม่เป็นเหตุ

…ญาณวิปยุตตจิต จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ ๒ แต่ไม่เป็นเหตุ
เรียกว่า ทวิเหตุกจิต 

 

ติเหตุกจิต  มี ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง

·       ญาณสัมปยุตตจิต ๑๒ ดวง

·       มหัคคตจิต ๒๗ ดวง

·       โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวง

 

 

 


...มีอโลภเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คืออโลภเหตุ
…มีอโทสเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คืออโทสเหตุ
…มีปัญญาเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ คืออโมหเหตุ

…อโลภเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีอโทสเจตสิกและปัญญาเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วย

…อโทสเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีอโลภเจตสิกและปัญญาเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วย

…ปัญญาเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วย

…เจตสิกที่เหลือ จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ แต่ไม่เป็นเหตุ

…ญาณสัมยุตตจิต  มหัคคตจิต  โลกุตตรจิต จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ ๓

แต่ไม่เป็นเหตุ เรียกว่า ติเหตุกจิต
 

 

ต่อไปจะแสดงตัวอย่างการแจกแจงจิตแต่ละดวง โดยเขียนจิตตุปบาทประกอบ

 

โลภมูลจิตดวงที่ ๑

 




ชื่อ        โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตํ อสงฺขาริกํ

แปล     จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดี ประกอบไปด้วยความเห็นผิด โดยไม่มีการชักชวน

เจตสิก  มีเจตสิกประกอบ  ๑๙ ดวง ได้แก่

…สัพพสาธารณเจตสิก  ๗  ดวง  (ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ)
…ปกิณณกเจตสิก  ๖  ดวง  (วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ ฉันทะ)
…โมจตุกเจตสิก  ๔  ดวง(โมหะ  อหิริกะ  อโนตตัปปะ  อุทธัจจะ)
…โลติกเจตสิก  ๒  ดวง  (โลภะ  ทิฏฐิ  )

    รวมเป็น  ๑๙  ดวง
 


เหตุ
  มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ ดวง คือ

…โลภเจตสิก เป็น โลภเหตุ

…โมหเจตสิก เป็น โมหเหตุ
 

 

 

สรุป

…ทั้งโลภเจตสิก และโมหเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุ  

…โลภเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีโมหเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วย

…โมหเจตสิก เป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วย มีโลภเจตสิกเป็นธรรมที่เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วย

…เจตสิกที่เหลือ ๑๗ ดวง เป็นธรรมที่มีเหตุ แต่ไม่เป็นเหตุ

…โลภมูลจิตดวงที่ ๑ นี้ จัดเป็นธรรมที่มีเหตุ ๒ คือ โลภเหตุ และโมหเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกจิต

 

 

ดังนั้น ถ้าอยากเข้าใจและจำได้ในเรื่องจิต เจตสิก เหตุ  ก็กรุณาลงทุนลงแรง  ด้วยการรีบไปซื้อสมุดเล่มโตๆ

แล้วเขียนจิตตุปบาทของจิตแต่ละดวงพร้อมรายละเอียด จนครบ ๑๒๑ ดวง  ดังที่แสดงให้เป็นตัวอย่างข้างต้น

 

 

๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕

 

ครูที่มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ ท่านพร่ำสอนเสมอว่า

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ยิ่งทำ ยิ่งได้ ทั้งดีและชั่ว

ทำมากได้มาก

       ...สาธุ..สาธุ..สาธุ…

 

๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕

 

Home    เวทนาและการนับจิต     การเรียกชื่อจิต    จิตตุปบาทเรื่องที่ควรรู้