การอธิบายวิธีปฏิบัติกรรมฐานของสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย

 เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ อาจารย์บุญมี เมธางกูรจัดให้มีสัมมนาการปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยผู้ร่วมสัมมนาที่สำคัญในครั้งนั้นคือ อาจารย์ แนบ มหานีรานนท์ พระอาจารย์สุนทร ฐิตกาโม พระอาจารย์ประสาท สุขเถื่อน อาจารย์เต็ม สุวิกรม และพระนิติเกษตรสุนทรทั้งนี้เป็นการสนทนาถาม-ตอบเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนาสงเคราะห์เข้ากับวิปัสสนาญาณ๑๖ มีพระอาจารย์สุนทร ฐิตกาโมกับ พระอาจารย์ประสาทสุขเถื่อน เป็นผู้ถาม และอาจารย์แนบมหานีรานนท์ เป็นผู้ตอบ

ผลการสัมมนาถาม-ตอบในครั้งนั้นทางพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยได้รวบรวมเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้๑๕ ข้อและถือเป็นการประยุกต์หลักสติปัฏฐานเพื่อการปฏิบัติแนวทางหนึ่งซึ่งสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อยได้ใช้หลักปฏิบัติดังกล่าวมาจนทุกวันนี้

           หลักปฏิบัติ ๑๕ ข้อ         


๑.ผู้จะเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต้องศึกษาถึงภูมิของวิปัสสนาก่อน

ภูมิของวิปัสสนา กล่าวโดยย่อได้แก่ นามและรูปอย่างเพราะนามและรูปนี้จะต้องเป็นวัตถุที่ ถูกพิจารณา คือ ถูกเพ่ง นามและรูปนี้จะเป็นตัวกรรมฐานของวิปัสสนา จึงจำเป็นต้องเข้าใจ ลักษณะที่แตกต่างกัน ของนามและรูปให้ถูกต้อง

๒. กำหนดนาม-รูปในขณะปัจจุบันเสมอ

 


นาม-รูปที่ยกขึ้นสู่การพิจารณา หรือเป็นตัวกำหนดของวิปัสสนานั้น คือ
นาม-รูปที่ปรากฏอยู่ที่ ตัวเราเอง ต้องรู้สภาวะ คือ ความจริงที่ปรากฏอยู่ที่ตัวเอง แล้วกำหนดนาม-รูปในขณะปัจจุบัน ใช้คำว่าดูหรือกำหนดก็ได้

๓.ต้องรู้สึกตัวอยู่ว่าขณะนั้นกำหนดนามอะไร หรือกำหนดรูปอะไร

 


ผู้ปฏิบัติต้องมีนาม-รูปรองรับ ความรู้สึกอยู่เสมอความรู้สึกที่ปรากฏขณะเจริญกรรมฐานจะต้องมี
นามหรือรูปเป็นตัวถูกรู้จะเป็นนามอะไร รูปอะไรก็ได้ถ้าขณะใดมิได้กำหนดนามหรือรูปแม้จะมีสติรู้อยู่ กำหนดอยู่ก็ตามพึงทราบขณะนั้น  ว่าจิตได้ตกออกจากทางวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานเสียแล้ว ต้องยกนามหรือรูปกลับขึ้นสู่ความรู้สึกใหม่ต้องระลึกว่า การกำหนดตามหลักสติปัฏฐานแล้ว ต้องมีนาม-รูปเป็นอารมณ์อยู่เสมอ

๔. ห้ามมีความต้องการ

 


ขณะกำหนดหรือดูนาม-รูปอยู่ ผู้ปฏิบัติต้องระวัง
มิให้เกิดความรู้สึกต้องการ หรือมิให้เกิดความรู้สึกว่า กำหนดเพื่ออะไร เช่น ต้องการเห็นนาม-รูป หรือต้องการเห็นนาม-รูปเกิดดับ หรือต้องการให้เกิด วิปัสสนาญาณ  เช่นนี้เป็นความรู้สึกที่ไม่ถูกต้อง

๕.ไม่ให้กำหนดรูปและนามไปพร้อมกัน

ขณะใดกำหนดรูปอยู่ ก็ต้องกำหนดเฉพาะรูป ขณะใดกำหนดหรือดูนามอยู่ ก็ต้องกำหนดเฉพาะนาม จะกำหนดนามและรูปพร้อมกัน ในขณะเดียวกันหรือในอารมณ์เดียวกันไม่ได้

๖.ไม่ควรใช้อิริยาบถโดยไม่จำเป็น

 

ผู้ปฏิบัติไม่ควรใช้อิริยาบถย่อยเช่น เคลื่อนไหว เหยียด คู้ก้ม เงย เหลียวซ้าย-ขวา เป็นต้นหรืออิริยาบถใหญ่เช่น ยืน เดิน นั่ง นอนโดยไม่จำเป็นจะเปลี่ยนอิริยาบถก็ต่อเมื่อเกิดทุกข์เช่น ปวดเมื่อยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น

๗.ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนหรือต้องใช้อิริยาบถต้องรู้เหตุนั้นก่อนว่าเปลี่ยนเพราะเหตุอะไร
 

 
เหตุผลในการเปลี่ยนอิริยาบถนี้มีความสำคัญมาก   ผู้ปฏิบัติที่ต้องใช้หรือต้องเปลี่ยนอิริยาบถย่อยหรือใหญ่ก็ตาม ให้รู้เหตุที่จำเป็นนั้นก่อน จึงค่อยเปลี่ยนหรือใช้อิริยาบถนั้น 

๘. อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ

 

 


เราเคยนั่งอย่างไร เคยเดินอย่างไร เคยนอนอย่างไร
เมื่อเข้ากรรมฐาน ก็นั่งอย่างนั้น ไม่ต้องเดิน ให้ผิดปกติ ไม่ต้องนั่งให้ผิดปกติ ส่วนมากผู้เข้ากรรมฐานมักเข้าใจว่าต้องนั่งขัดสมาธิก่อน แล้วจึงกำหนด สำหรับวิปัสสนาไม่จำเป็น นั่งอย่างไรก็ได้เปลี่ยนอิริยาบถตามสะดวก นั่งอย่างไรทำอย่างไรก็ได้ตามปกติ แต่ขอให้รู้อยู่ในท่านั้น คือในรูปนั้น ๆ เท่านั้นจะเป็นท่านั่ง หรือท่านอนก็ตาม ขณะกำหนดท่านั่งหรือท่านอนจะต้องรู้สึกตัวด้วยสติสัมปชัญญะเสมอว่า กำลังกำหนดหรือดูรูปอะไรอยู่ ถ้ากำหนดท่านั่ง คือ ดูท่าที่นั่งก็ให้รู้สึกว่าขณะนี้กำลังดูรูปนั่ง ถ้ากำหนดท่านอน คือ ดูท่าที่นอนก็ให้รู้สึกว่าขณะนี้กำลังดูรูปนอนอยู่ ทำนองเดียวกัน ในการดูรูปยืนหรือรูปเดินก็ตาม ต้องรู้สึกเสมอว่าขณะนี้กำลังดูรูปอะไร หรือกำลังดูนามอะไรอยู่

๙. ไม่ให้ประคองอิริยาบถมากจนผิดปกติ

 


ผู้ปฏิบัติบางท่านขณะเดินก็พยายามประคองอิริยาบถมาก
ค่อย ๆ ยกเท้า ก้าวเท้าอย่างช้า ๆคล้ายหุ่นยนต์ขณะยกมือหรือใช้อิริยาบถอื่นๆ  ก็รู้สึกว่าจะประคองมากจนผิดปกติ     ความระวังอิริยาบถจนผิดปกติเช่นนี้เป็นการทำเพื่อความต้องการ  ความต้องการจะแฝงอยู่ในความรู้สึกนั้นความต้องการเป็นโลภะ เป็นกิเลส จึงสร้างท่าทางและอิริยาบถที่ผิดธรรมชาติขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้แทนที่การปฏิบัตินี้จะเป็นไปเพื่อละกิเลส จะกลายเป็นการพอกพูนกิเลสที่แฝงอยู่ในการใช้ อิริยาบถต่าง ๆ ฉะนั้น ความรู้สึกเช่นนี้จึงไม่ถูกต้อง ผู้ปฏิบัติต้องคอยสังเกตเจตนาแฝงเร้น ของตนเองอยู่เสมอ

๑๐. ขณะเข้ากรรมฐาน ห้ามทำสิ่งที่ไม่จำเป็น

 


หากไม่จำเป็นแล้ว
ไม่ให้ทำการงานใดทั้งสิ้น   การพูดถ้าไม่จำเป็นไม่ให้พูดคุยกันระหว่างผู้ปฏิบัติด้วยกันการนั่ง นอน ยืน เดินอ่านหนังสือ ก็ไม่ควรทำถ้าไม่มีเหตุให้ต้องทำ แม้กระทั่ง
การรับประทานการดื่ม ในเวลาที่ไม่หิวไม่กระหาย เป็นต้น

๑๑. ก่อนทำสิ่งใดต้องรู้เหตุจำเป็นก่อน

 

 


ก่อนจะใช้อิริยาบถ หรือก่อนจะทำสิ่งใด เช่น กินข้าว อาบน้ำ ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ หรือนั่ง นอน ยืน เดิน ต้องรู้ว่าที่ทำ
เพราะมีความจำเป็น หรือมีเหตุให้ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เป็นต้น ผู้ปฏิบัติที่ไม่ได้สังเกต บางขณะอาจลุกขึ้นเดินโดยไม่ทราบเหตุผลที่ลุกขึ้นว่าจะลุกขึ้นไปเดินเพราะอะไร บางครั้งมีความตั้งใจจะเดินกรรมฐาน การตั้งใจเช่นนี้ก็ไม่ถูกต้อง หรือบางครั้งกำลังเดินอยู่ นึกอยากจะเลิกก็เลิก อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ เวลาจะเลิกจากการเดินก็ต้องรู้ว่าจำเป็นต้องเลิกจึงจะค่อยเลิก และจะต้องรู้เหตุของความจำเป็นด้วยว่า ที่ต้องเลิกนั้นเพราะเหตุใด เช่น เพราะเหตุรู้สึกเมื่อยล้า ความเมื่อยล้าบีบคั้นให้ต้องเลิกเดิน เป็นต้น ไม่ใช่เราอยากเลิก ความหมายของความจำเป็นนั้น ค่อนข้างลึกซึ้ง และต้องใช้ไหวพริบในการพิจารณาพอสมควร จึงจะสามารถกันความต้องการ และความไม่รู้ได้

 

สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ระวังให้ดีความต้องการที่จะทำย่อมแฝงอาศัยอยู่ในความรู้สึกนั้นได้เมื่อกิเลสเข้า อาศัยแล้วจิตของผู้นั้นก็จะเข้าไม่ถึงวิสุทธิได้ในสติปัฏฐาน พระบาลีกล่าวว่า
อนิสฺสิโต จ วิหรติหมายถึงว่า ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว(จึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้)

 
 ๑๒.
อย่าทำความรู้สึกว่าที่ทำเพราะจะทำกรรมฐาน

 


เวลาจะเดิน จะนั่ง จะนอน จะยืน
ไม่ให้รู้สึกว่าจะเดินกรรมฐาน จะนั่งกรรมฐาน หรือจะนอนกรรมฐาน ไม่ให้รู้สึกว่าที่ทำเพราะจะทำกรรมฐาน ทั้งนี้ เพราะความรู้สึกที่ว่าตนกำลังทำกรรมฐานนั้น จะสร้างท่าทางที่ผิดปกติไปจากธรรมชาติที่ตนเคยเป็นอยู่โดยไม่รู้ตัว อิริยาบถที่สร้างขึ้นไม่ใช่ของจริง แต่เกิดขึ้นจากอำนาจกิเลสความต้องการ เป็นพื้นฐานของการมีอัตตาบังคับท่าทางต่าง ๆ ตามมา

๑๓. อย่าทำความรู้สึกในเวลาที่กำหนดว่า จะกำหนดเพื่อให้จิตสงบ

 


อย่าทำความรู้สึกในขณะที่กำหนดนาม-รูปว่าจะกำหนดเพื่อให้จิตสงบ
เพื่อให้ได้สมาธิหรือตั้งใจว่าจะกำหนดเพื่อให้จิตอยู่ตรงนี้ ไม่ให้จิตเคลื่อนย้ายไปที่อื่นการมีความรู้สึกเช่นนี้ ไม่ถูกต้องหรือบางครั้ง ขณะตั้งใจดูนาม-รูป มีความปรารถนาเพื่อให้เกิดปัญญา จะได้เห็นธรรม หรือดูเพื่อให้ธรรมเกิดขึ้น ในระหว่างที่ดูนั้น หรือดูเพื่อต้องการให้ธรรมที่เราไม่ชอบนั้นหายไป อย่างนี้ก็ยังไม่ถูกต้อง ผู้ปฏิบัติต้องไม่ให้ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ดูที่กำหนด


 ๑๔.เวลาทำกรรมฐานต้อง
ทำใจให้เหมือนดูละคร    อย่าไปร่วมเล่นละคร

 

เช่น บังคับจะทำอย่างนั้น บังคับจะทำอย่างนี้ เป็นต้น เช่นนี้ใช้ไม่ได้สำหรับวิปัสสนา ต้องทำความรู้สึก ให้เหมือนกับเราดูละคร อย่างนี้จิตจึงจะเข้าเป็นมัชฌิมา  มิฉะนั้น จิตมักตกไปในอภิชฌา และโทมนัส เสมอ  เมื่ออภิชฌาและโทมนัสเกิดแล้ว ก็ยากที่ปัญญาจะเกิดได้

๑๕.ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาอย่าตั้งใจจนเกินกว่าเหตุ


เช่น ตั้งใจจะทำเพื่อให้จิต
สงบหรือเป็นสมาธิ เป็นต้น

หลักการทั้ง๑๕ ข้อ เป็นอุบายให้ผู้ปฏิบัติใหม่ทุกคนพึงระลึกถึงอยู่เสมอในขณะกำหนดว่าตนกำลังออกนอกหลักการ

ข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ให้ดีก่อนการปฏิบัติจึงจะได้ผล

Home   จดหมายเหตุ ฯ ประวัติหลวงพ่อใหญ่  ระเบียบปฏิบัติ  ความรู้ก่อนการปฏิบัติ   หลักปฏิบัติ ๑๕ ข้อ