ความเกี่ยวพันเป็นลำดับของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

 ในหนังสือความรู้ก่อนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อยกล่าวถึงแนวคิดการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ว่ามีความเกี่ยวพันกัน เป็นลำดับ จากพื้นฐานความรู้สึกร่วมของมนุษยชาติพัฒนาไปสู่ความรู้สึกด้วยปัญญาขั้นสูงที่พาชีวิตให้พ้นทุกข์ได้ลำดับความเกี่ยวพันทั้ง ๑๐ ประการนั้น ได้แก่

   ๑.


ชีวิตมีเรื่องของความทุกข์อย่างเดียวเท่านั้นนั่นคือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ 
ทุกชีวิตต่างมุ่งแสวงหาหนทางที่จะพ้นไปจากความทุกข์ใหญ่น้อยทั้งหลาย

๒. 


การที่จะให้ความทุกข์พ้นไปได้จริงก็มีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

๓. 


การปฏิบัติวิปัสสนาในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้
๔. 


ในวิปัสสนาต้องมีโยนิโสมนสิการ
คือการทำความรู้สึกให้ตรงต่อความจริงที่เกิดขึ้น
โยนิโสมนสิการนี้จะก่อให้เกิดปัญญาพาชีวิตให้หลุดรอดได้

๕ . 


โยนิโสมนสิการ จำต้องอาศัยความเข้าใจในเหตุผลของชีวิต
คือความแตกต่างและการอิงอาศัยกันเกิดขึ้นของรูป-นาม

๖. 


ความเข้าใจในเหตุผลของชีวิตในแนวปัจจยาการเท่านั้น
ที่รู้ว่าชีวิตเป็นเพียงการแสดงอาการเป็นไปที่เป็นเหตุเป็นผลโดยต่อเนื่องกันหรือปฏิจจสมุปบาท  ความเข้าใจนี้จึงจะก่อให้เกิดปัญญาเข้าถึงไตรลักษณ์ของรูป-นาม

   ๗. 


การเห็นรูป-นามโดยความเป็นไตรลักษณ์เท่านั้น
จึงจะพัฒนาปัญญาขั้นที่สูงขึ้นเป็นลำดับ

๘ .


ปัญญาขั้นสูงเท่านั้น
ที่จะมีกำลังส่งไปจนถึงฟากฝั่งพระนิพพาน

๙. 


เมื่อถึงฟากฝั่งพระนิพพาน
กิเลสทั้งหลายจึงจะถูกทำลายเด็ดขาดได้

๑๐.


เมื่อกิเลสถูกทำลายเด็ดขาดเท่านั้น
จึงจะทำให้พ้นทุกข์ได้สิ้นเชิงตามที่ปรารถนาไว้

 

เจตนาของผู้เข้าปฏิบัติ

 การตั้งเจตนาที่จะเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น ส่วนมากผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจที่ ต่างไปจากแนวคิดกรรมฐาน ๑๐ ประการข้างต้น กล่าวคือ
มีความเข้าใจว่า

๑. 

   ต้องการบุญกุศล เพราะมีผู้กล่าวกันต่อ ๆ มาว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นกุศลอย่างยิ่งได้บุญมาก ซึ่งหากุศลใด มาเปรียบเทียบไม่ได้

๒. 

  ต้องการความสงบ คือมีความเดือดร้อนทางครอบครัวหรือความวุ่นวายใจ จึงมีความคิดว่าเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แล้วจิตใจจะสงบ

๓.

   ผู้ที่เชื่อการพยากรณ์ ถูกทายทักว่าจะเคราะห์ร้ายเมื่อเวลานั้นเวลานี้ก็เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อที่จะได้พ้นเคราะห์ร้าย ที่ทำนายไว้

๔.

   เกิดโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเป็นโรคที่ยากแก่การรักษาก็ไปเข้าปฏิบัติ เพื่อที่จะได้อารมณ์ที่ดี ๆเมื่อตายจะได้ไปสู่สุคติ

๕.

   ต้องการชื่อเสียง เมื่อเข้าปฏิบัติ บำเพ็ญตนเป็นคนเคร่งครัด แล้วทึกทักเอาว่าได้พบธรรมวิเศษ เมื่อออกจากการปฏิบัติ ก็ตั้งตนเป็นอาจารย์
   สั่งสอนเพื่อลาภผลต่าง ๆ

๖.

   เมื่อเกิดความไม่สามัคคีภายในครอบครัว ก็จะไปเข้าปฏิบัติเพื่อประท้วงคนในครอบครัวสามีประท้วงภรรยา บุตรประท้วง บิดามารดา เช่น 
   หนีการแต่งงาน เป็นต้น

๗. 

   บางครั้งชายหรือหญิงที่ผิดหวังจากความรักคิดฟุ้งซ่านอยากฆ่าตัวตายมีผู้แนะนำให้ปฏิบัติกรรมฐาน ก็เข้าปฏิบัติโดยไม่มี ความรู้มาก่อน

๘.

   บางครั้งพลาดหวังจากอาชีพ ทำการค้าขาดทุนประสบความล้มเหลวจากการงานที่ตั้งใจไว้ มีหนี้สินมากมายยากแก่การที่จะ แก้ไข 
   คิดจะฆ่าตัว ตายให้พ้นทุกข์มีผู้แนะนำให้เข้าปฏิบัติ จึงปฏิบัติเพื่อจะได้บรรเทาจากโชคร้าย

๙.

   บางท่านเข้าใจว่า เมื่อเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้วจะเห็นนรกสวรรค์หรือญาติที่ตายไปว่าได้รับความลำบากหรือมีสุขอย่างไร 
   ตลอดจนเห็นเลขเสี่ยงทายสามารถทำนายความเจ็บไข้หรือโชคชะตาต่างๆ เป็นต้น

 เราต้องยอมรับก่อนว่าการแสดงเจตนาดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงเจตนาเบื้องต้นที่ต้องการหนีไปจากสิ่งที่ทำให้ไม่พอใจหรือต้องการผลประโยชน์บางอย่างมิได้เกิดจากความเลื่อมใสในการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงและยังห่างไกลจากจุดประสงค์ของการปฏิบัติวิปัสสนาอยู่มากเปรียบเหมือนกับเราจะเดินทางไปที่หนึ่งแต่ตั้งต้นผิดเสียแล้วการถึงที่หมายคงไม่ประสบ
ผลสำเร็จแน่ครูผู้สอนจำเป็นต้องค่อย ๆปรับเปลี่ยนเจตนาของผู้ปฏิบัติให้ตรงกับเหตุผลในการปฏิบัติมากขึ้น

ในทางที่ถูกต้องแล้วการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็เพื่อให้พ้นจากทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย มีความสามารถให้เกิดปัญญาทำลายวิปลาสธรรม ๔ ประการ คือ

๑. สำคัญผิดคิดว่าชีวิตมความสวยงาม

๒. สำคัญผิดว่าชีวิตเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน

๓. สำคัญผิดคิดว่าชีวิตเป็นความสุข

๔. สำคัญผิดว่าชีวิตเป็นตัวตน

และอีกประการหนึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อพิจารณาความจริงตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่า ความจริงนั้นหมายถึงสิ่งที่ไม่วิปริต หรือสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่มีใครที่สามารถจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอยู่อย่างไรก็ต้องเป็นอยู่อย่างนั้นเสมอตั้งแต่โลกเกิดขึ้นจนโลกถูกทำลายไปเรียกว่า ความจริงหรือของจริงธรรมชาติเหล่านั้น ได้แก่ธรรมชาติของคนและสัตว์ซึ่งต้องประกอบด้วย ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อรับรู้ 
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์

๑. ตามีไว้สำหรับเห็นรูป และมีรูปสำหรับตาเห็น เป็นของคู่กัน
๒. หูสำหรับได้ยินเสียง และมีเสียงสำหรับการได้ยินทางหู
๓. จมูกสำหรับรู้กลิ่น และมีกลิ่นสำหรับรู้ด้วยจมูกคู่หนึ่ง
๔. มีลิ้นสำหรับรู้รส และมีรสสำหรับลิ้นรับรู้อีกคู่หนึ่ง
๕. มีกายสำหรับรู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และความร้อน อ่อน แข็งมีไว้สำหรับให้กายถูกต้องเท่านั้น
๖. มีใจสำหรับนึกคิดและรู้สึก ถึงเรื่องราวทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต   
    ความนึกคิดและความรู้สึกมีไว้สำหรับใจรู้เท่านั้น

ธรรมชาติอันเป็นของคู่กันทั้ง๖ คู่ ถึงจะอยู่ในระดับสามัญสำนึกก็จริงแต่เรามักจะมองข้ามความสำคัญของลักษณะธรรมดาเช่นนี้ไปและให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่เกิดตามมาภายหลังการเห็นการได้ยิน ฯลฯธรรมชาติของการเห็นการได้ยิน อันเป็นความจริงผ่านไปแล้วเหลือแต่เรื่องราวในความนึกคิดและสร้างความรู้สึกขึ้นหลอกตนเองที่สำคัญคือ การจับภาพลักษณ์เหล่านั้นมาเป็นความจริงแทน ภาพลักษณ์ในความรู้สึกทุกวันนี้จึงมีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของเราเป็นอย่างมากหากไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บอกและสอนให้แยกความจริงออกจากสิ่งสมมุติทั้งหลายให้เราเรียนรู้แล้วเราจะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยการที่จะรู้ความจริงของธรรมชาติดังกล่าวก็โดยการพิสูจน์ตามจนได้เหตุผลแล้วจึงยอมรับเท่านั้น

สำหรับการพิสูจน์ตามดังกล่าวสามารถทำได้ ๒ ระดับ คือ 
 

พิสูจนโดยการเรียนรู้ถึงลักษณะของความจริงจากนั้นจึงนำลักษณะนั้นไป สังเกตที่ตนเองเป็นการพิสูจน์ความจริงด้วยการปฏิบัติการเรียนเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะถ้าเรียน อภิธรรมแล้วเป็นการเรียนความจริงในตัวเราเราจะรู้จักจิตใจของตนเองดีขณะใดจิตใจมีความโลภเกิดขึ้นขณะใดมีโทสะเกิดขึ้นก็จะรู้หรืออย่างเรื่องลักษณะของรูปอธิบายว่าสิ่งที่ถูกเห็นได้นั่นคือ สีต่าง ๆที่แสดงรูปพรรณสัณฐานไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลวัตถุเป็นเพียงสีที่ฉาบทาไว้เป็นรูปจริงๆ ไม่รู้อะไรเลยตัววัตถุเองไม่รู้สึกอะไรแต่เราคิดเลยไปเองต่างหากเสียง กลิ่น รสอื่น ๆก็เช่นกันเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับชีวิตจริงแล้วก็ต้องยอมจำนนในเหตุผลเป็นข้อธรรมที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยฟังมาก่อนถ้าไม่มีการเรียนแล้วจะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยหรือถ้ารู้ก็รู้แบบผิด ๆการเรียนสิ่งภายนอกอาจจะโกหกเราได้แต่ที่เกิดขึ้นกับเราจริง ๆไม่ใช่การโกหก อย่างไรก็ดีการปฏิบัติจะได้เหตุผลที่หนักแน่นกว่า

ผู้ประสงค์จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานควรมีความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า

๑. วิปัสสนาคืออะไร
๒. อารมณ์ของวิปัสสนาได้แก่อะไรบ้าง
๓. ประโยชน์ของวิปัสสนามีอย่างไร
๔. ธรรมะที่เป็นอุปการะแก่วิปัสสนามีอะไรบ้าง

โดยหลักการแล้ววิปัสสนาเป็นชื่อของปัญญา และปัญญานี้จะต้องรู้หรือเห็นรูป-นามไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนเท่านั้นถ้าปัญญารู้อย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้แล้วเช่น เห็นพระพุทธเจ้าเห็นสวรรค์ เห็นนรกหรือเห็นอื่น ๆ อะไรก็ตามการรู้เห็นเช่นนั้นไม่ชื่อว่าวิปัสสนา

เมื่อหลักการของวิปัสสนากล่าวว่าเป็นปัญญาที่เห็นสภาวะรูป-นาม หรือขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์แล้วการเจริญวิปัสสนาจะต้องดูหรือจะต้องพิจารณาอะไรจึงจะเห็นไตรลักษณ์ก็ต้องดูหรือต้องเพ่ง รูป-นามเป็นอารมณ์ถ้าดูอย่างอื่นก็จะไม่มีเหตุผลพอที่จะรู้หรือเห็นสภาวะของชีวิตตามความเป็นจริง

ประโยชน์ของวิปัสสนามีอย่างไรประโยชน์เบื้องต้น คือทำลายความเห็นผิดที่เห็นรูป-นามว่างามเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนและประโยชน์ในที่สุดทำให้ถึงสันติสุขคือพระนิพพาน

ในการเจริญวิปัสสนานั้นอาศัยหลักการในสติปัฏฐาน๔  และมี ธรรมอันเป็นอุปการะที่ต้องเข้าร่วมประกอบกับวิปัสสนาคือ วิปัสสนาภูมิ ๖ ญาณ ๑๖วิปัสสนาญาณ ๙  และวิสุทธิ ๗ เป็นต้น

ฉะนั้นการทำความเข้าใจในหัวข้อทั้ง๔ ประการข้างต้นจึงเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติที่จะใช้ตรวจสอบแรงจูงใจของตนเองว่า ดำเนินไปถูกทาง หรือไม่ผู้ปฏิบัติควรจะต้องรู้ต้องเข้าใจในหลักการเหตุผลโดยแน่นอนเสียก่อนมิฉะนั้นอาจทำไปอย่างผิด ๆเพราะไม่เข้าใจหรือหลงผิดได้มีภาษิตโบราณว่า

นกการเวกสำคัญที่ เสียง
สตรีสำคัญที่  รูป
บุรุษสำคัญที่ วิทยาคุณ
นักพรตสำคัญที่ การอบรม
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาฯ สำคัญที่ ความเข้าใจ   

 

Home   จดหมายเหตุ ฯ ประวัติหลวงพ่อใหญ่  ระเบียบปฏิบัติ  ความรู้ก่อนการปฏิบัติ   หลักปฏิบัติ ๑๕ ข้อ