ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

ปฏิจจสมุปปาทธรรมนัยที่ ๑ ตโยอัทธา

อัทธา คือกาลเวลาอันยาวนาน ไม่มีที่สิ้นสุดแห่งปฏิจจสมุปปาทธรรมนั้น จำแนกออกเป็น ๓ กาล กาลใดได้ปฏิจจสมุปปาทธรรมองค์ใดบ้างนั้น มีดังนี้

ในอัทธา ๓ นั้น อวิชชาและสังขาร ชื่อว่าอดีตอัทธา ชาติและชรามรณะ ชื่อว่า อนาคตอัทธา

ธรรมที่เหลือท่ามกลาง ๘ องค์ ชื่อว่า ปัจจุบันอัทธา ส่วนธรรมที่ประกอบ ด้วยอัทธาทั้ง ๓ นั้น จัดเป็นองค์ ๑๒ องค์

หมายความว่า อัทธานั้นมี ๓ ได้แก่ อดีตอัทธา ปัจจุบันอัทธา และอนาคต อัทธา

ั๑. อดีตอัทธา หรือ อดีตกาล หมายถึง กาลเวลาที่ล่วงไปแล้ว จะเป็นกาลที่ ล่วงไปแล้วในภพก่อนก็ตาม ในภพนี้ก็ตาม เรียกว่า อดีตทั้งนั้น อดีตอัทธาแห่ง ปฏิจจสมุปปาทนี้ได้แก่ อวิชชา และสังขาร

สัตว์ทั้งหลาย (เว้นพระอรหันต์) ย่อมมีโมหะนอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดาน เป็นประจำ ด้วยอำนาจแห่งโมหะจึงปิดบังไม่ให้เห็นโทษในการทำบาปอกุสล และ ปิดบังไม่ให้เห็นวัฏฏทุกข์ในการทำกุสลชนิดที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ที่เรียกว่า วัฏฏกุสล คือ โลกียกุสล โมหะนี้ก็คือ อวิชชา นี่เอง

การทำอกุสลก็ดี การบำเพ็ญเพียงวัฏฏกุสลก็ดี ย่อมสำเร็จได้ด้วย เจตนา คือ ความจงใจกระทำ เจตนาที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความจงใจกระทำที่เรียกว่า บุพพ เจตนา นี่แหละ คือ สังขารเป็นตัวปรุงแต่งให้จงใจกระทำกรรมสำเร็จเป็นบาปเป็น บุญ

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้ชื่อว่า อวิชชา และสังขาร เป็นอดีตอัทธา

. ปัจจุบันอัทธา หรือ ปัจจุบันกาล หมายถึงกาลเวลาที่กำลังดำรงคง อยู่ในเวลานี้ ปรากฏอยู่ในขณะนี้ กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ได้แก่ ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๘ องค์ที่อยู่ในท่ามกลาง คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน และภพ

เมื่อมีอวิชชา คือ โมหะนอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดานเป็นประจำ และมีสังขาร คือ เจตนาเป็นแรงสำคัญปรุงแต่งให้จงใจกระทำกรรม อันเป็นกุสลและอกุสลนั้น จะกระทำกรรมเหล่านั้นได้เพราะมี วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน และภพ ๘ องค์นี้ ถ้าไม่มีธรรม ๘ องค์นี้แล้ว การกระทำต่าง ๆ เหล่านั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย ด้วยเหตุว่า ธรรม ๘ องค์นี้กำลังมีอยู่ในขณะนี้นั้น จึงกระทำกรรมได้ดังนี้ จึงได้ชื่อว่า ธรรม ๘ องค์นี้เป็นปัจจุบัน

. อนาคตอัทธา หรืออนาคตกาล หมายถึงกาลเวลาที่ยังไม่มาถึง แต่จะมี มาข้างหน้า ปฏิจจสมุปปาทธรรมที่จะมีมาข้างหน้านั้น ได้แก่ ชาติ และชรา มรณะ

เมื่อลงได้กระทำกรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุสลกรรมหรืออกุสลกรรมที่เรียกว่า กัมมภพแล้วย่อมจะบังเกิดผลในอนาคต กล่าวคือ เมื่อตายจากภพนี้แล้วก็ไปปฏิสนธิ ในภพใหม่ ถ้าทำกรรมชั่วก็ปฏิสนธิเป็นสัตว์ในอบาย ถ้าประกอบกรรมดี ก็ปฏิสนธิ เป็นมนุษย์ เทวดา พรหม ตามควรแก่กรรมที่ได้บำเพ็ญมา การได้ปฏิสนธิในภพ ใหม่นี่แหละเรียกว่า ชาติ หรือ อุปปัตติภพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อได้ทำ กัมมภพแล้ว ย่อมได้อุปปัตติภพคือชาติ เมื่อมีชาติก็จะต้องมีชรามรณะเป็นสิ่งที่ แน่นอน ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า ชาติและชรา มรณะเป็นอนาคตอัทธา

อัทธาทั้ง ๓ นี้ เมื่อรวมองค์แห่งปฏิจจสมุปปาทธรรมก็ได้ ๑๒ องค์ธรรม ทั้ง ๑๒ องค์นี้แหละที่เรียกว่า ทฺวาทสงฺคานิ ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้

ปฏิจจสมุปปาทธรรมนัยที่ ๒ ทวาทสังคานิ

ทวาทสังคานิ คือ องค์ ๑๒ มีอวิชชาเป็นต้น ชรามรณะเป็นที่สุด แต่ถ้ากล่าว โดยความเป็นปัจจัยแล้ว ก็มีเพียง ๑๑ ปัจจัย เพราะชรามรณะซึ่งเป็นองค์ที่ ๑๒ นั้น ไม่นับว่าเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาทนี้ ด้วยว่า การที่จะปรากฏปฏิสนธิวิญญาณขึ้นก็เพราะมีสังขาร คือ เจตนาในการกระทำกรรม

มีข้อที่ควรกล่าวในที่นี้อีกประการหนึ่งก็คือ ตามบาลีแสดงว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ซึ่งแปลกันว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารนั้น ในทางธรรม หมายความว่า สังขารปรากฏขึ้นก็เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย อันเป็นการกล่าวถึง ผล (คือสังขาร) ก่อน แล้วจึงแสดง เหตุ (คืออวิชชา) ที่อุปการะให้เกิดผลนั้น ก็แสดงเช่นนี้ ก็เพราะถือว่า ผลเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายกว่าเหตุ จึงกล่าวถึงผลก่อน แล้วจึงย้อนกลับ ไปแสดงถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดผลนั้น


สอบถาม ปัญหาธรรมะ ได้ที่ลานธรรมมูลนิธิ ค่ะ...
จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...