ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

หมวดที่ ๗ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

อรูปกัมมัฏฐาน หมายความว่า กัมมัฏฐานที่ไม่ใช่รูป ที่ไม่มีรูป ซึ่งเป็นกัมมัฏฐาน ที่เป็นวิสัยของผู้ที่ได้ถึงรูปาวจรปัญจมฌานแล้ว จึงจะพึงกระทำให้เป็นอารมณ์ เพื่อเจริญให้ถึงอรูปฌานต่อไป อรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ได้แก่

. อรูปกัมมัฏฐานเบื้องต้น ชื่อ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ เพ่งอากาศความว่างเปล่าเวิ้งว้างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า อากาโส อนนฺโต ความว่างไม่มีที่สุด ซึ่งสามารถให้เกิด อากาสานัญจายตนฌานจิตได้

. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๒ ชื่อ อากาสานัญจายตนฌาน คือเพ่งวิญญาณความรู้ที่รู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า วิญฺญานํ อนนฺตํ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสามารถให้เกิด วิญญาณัญจายตนฌานจิตได้

. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๓ ชื่อ นัตถิภาวบัญญัติ คือเพ่งความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี ซึ่งสามารถให้เกิด อากิญจัญญายตนฌานจิตได้

. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๔ ชื่อ อากิญจัญญายตนฌาน คือเพ่งความรู้ที่รู้ว่านิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มีนั้นเป็นอารมณ์ ความรู้ถึงขั้นนี้เป็นความรู้ที่ละเอียดอ่อนมากเหลือเกิน จึงบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ สงบหนอ ประณีตหนอ ซึ่งสามารถให้เกิด เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตได้

จริต หรือ จริยะ

จริต เรียกว่า จริยะ ก็ได้นั้น คือความประพฤติจนชินเป็นนิสัย ซึ่งมีต่าง ๆ กัน ๖ อย่าง ดังคาถาที่ ๕ แสดงว่า

. ราโค โทโส จ โมโห จ สทฺธา วิตกฺก พุทฺธิโย อิเมสํ ฉนฺนํ ธมฺมานํ วสา จริต สงฺคโห ฯ

สงเคราะห์จริต ตามอำนาจแห่งธรรมนั้น มี ๖ คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต สัทธาจริต และพุทธิจริต

มีอธิบายว่า ที่มนุษย์มีจริตต่าง ๆ กัน ก็เนื่องมาจากการบำเพ็ญบุญกุสลแต่ชาติปางก่อนนั้น ได้กระทำไปไม่เหมือนกัน จึงได้รับผลไม่เหมือนกัน กล่าวคือ

. ในขณะที่กำลังบริจาคทาน รักษาสีล หรือเจริญภาวนาอยู่นั้น จิตใจปรารภไปในการมีหน้ามีตา ได้ชื่อเสียง ได้เสวยมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติเหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวตัณหาราคะ ครุ่นคิดไปในการถือเนื้อถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อันเป็นตัวมานะหรือน้อมใจไปในการถือว่าเป็นตัวตน เราเขา อันเป็นตัวทิฏฐิ กุสลที่เจือปนด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีราคจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่จุติมาจากสวรรค์ หรือ จุติมาจากเปรต จากอสุรกายนั้น โดยมากเป็นผู้ที่มีราคจริต

ผู้ที่มีราคจริตนั้น ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ นั้นมีกำลังเสมอทัดเทียมกัน

. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้นเกิดมีความขุ่นเคือง เสียใจ เสียดาย อิสสา ริษยา รำคาญ เกิดขึ้นในจิตใจด้วยกุสลที่เจือปนกับ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้น มีโทสจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมมากไปด้วยการฆ่า การทำลาย การจองจำมาในชาติก่อน หรือว่า จุติมาจากนรกนั้น โดยมากเป็นผู้ที่มีโทสจริต

ผู้ที่มีโทสจริตนั้น เตโชธาตุและวาโยธาตุ มีกำลังมาก

. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น ทำไปโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลในการกระทำ เพียงแต่ทำไปตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมา ทำไปตามสมัยนิยม หรือเกิดสงสัยในผลของกุสลนั้นขึ้นมา บางทีก็คิดฟุ้งไปในเรื่องอื่น จิตใจไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ในการกุสลที่กำลังทำนั้นเลย กุสลที่เจือปนด้วยโมหะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี โมหจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่ชาติก่อนเพลิดเพลินในการดื่มน้ำเมาเป็นนิจ ไม่ชอบศึกษา ไม่ไต่ถามสนทนากับบัณฑิต หรือจุติมาจากสัตว์ดิรัจฉานนั้น โดยมากมักเป็นผู้ที่มี โมหจริต

ผู้ที่มีโมหจริตนั้น ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ มีกำลังมาก

. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น มัวแต่ไปนึกถึงความสนุกสนานเพลิด เพลินในเรื่องกามคุณอารมณ์ อันเป็นกามวิตก, คิดไปในการเกลียดชัง ปองร้ายผู้อื่น อันเป็น พยาบาทวิตก หรือ คิดไปในทางเบียดเบียนทำลายความสุขผู้อื่นให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ อันเป็น วิหิงสาวิตก กุสลที่เจือปนด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี วิตกจริต

. ในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น ยิ่งด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ตลอดจนความเลื่อมใสที่เกิดจาก เพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม (รูปปมาณ), เพราะเห็นความประพฤติเรียบร้อย เคร่งในธรรมวินัย (ลูขปฺปมาณ), เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ (โฆสปฺปมาณ), เพราะได้สดับตรับฟังธรรมที่ฉลาดในการแสดง (ธมฺมปฺปมาณ) เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสัทธาทั้งนั้น กุสลที่มั่นในสัทธาเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี สัทธาจริต

. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลอยู่นั้น ได้ระลึกนึกคิดด้วยว่า การทำดีย่อมได้รับผลดี การทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว จะต้องได้รับผลไปตามกรรมนั้น ๆ อันเป็น กัมมัสสกตาปัญญา, สัตว์ทั้งหลายตลอดจนตัวเราเอง สักแต่ว่าเป็นรูปเป็นนาม มีความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องแตกดับไป ไม่มีตัวมีตนที่จะบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจนั้นได้ อันเป็นวิปัสสนาปัญญา หรือแม้แต่เพียงตั้งใจปรารถนาว่า ด้วยอำนาจแห่งกุสลผลบุญนี้ ขอจงได้เป็นปัจจัยให้ได้เกิดเป็นคนมีปัญญาต่อไป เหล่านี้เป็นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี พุทธิจริต

พุทธิจริตนี้บ้างก็เรียกว่า ปัญญาจริต

. ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จริตของมนุษย์แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และแต่ละบุคคลก็อาจมีจริตได้หลายอย่างคลุกเคล้าปะปนกันมา แต่ว่าจริตใดจะมีมากออกหน้า เป็นประธาน เป็นประจำ เป็นตัวนำ เป็นเด่นกว่าจริตอื่น ก็เรียกว่าเป็นผู้มีจริตนั้น

. ในจริตทั้ง ๖ อย่างท่านสงเคราะห์ด้วยความเสมอภาคกันได้เป็น ๓ คู่ คือ

ราคจริต  กับ       สัทธาจริต

โทสจริต  กับ       ปัญญาจริต

โมหจริต  กับ       วิตกจริต

. ราคจริต กับสัทธาจริต ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ ราคะ เป็นหัวหน้าในฝ่ายอกุสล  สัทธา ก็เป็นหัวหน้าเหมือนกัน แต่เป็นหัวหน้าทางฝ่ายกุสล

ราคะ ย่อมแสวงหากามในกามคุณ สัทธา ก็แสวงหาเหมือนกัน แต่แสวงหาบุญ คือ กุสลธรรม มีสีล เป็นต้น

ราคะ นั้นติดใจในสิ่งที่ไร้สาระไร้ประโยชน์ฉันใด สัทธาก็เลื่อมใสในสิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์ฉันนั้น

๑๐. โทสจริตกับพุทธิจริต (หรือปัญญาจริต) ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ

โทสะ มีการเบื่อหน่าย แต่เป็นการเบื่อหน่ายในสิ่งที่ไม่ชอบ ถ้าสิ่งใดยังชอบอยู่ก็ไม่เบื่อหน่ายในสิ่งนั้น ส่วน ปัญญาก็มีการเบื่อหน่ายเหมือนกัน คือเบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ว่าเลือกเบื่อหน่ายบ้างไม่เบื่อหน่ายบ้าง เหมือนอย่างโทสะ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โทสจริตนั้นเบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งโมหะ ซึ่งเป็นทางให้ถึงอบาย ส่วนพุทธิจริตนั้นก็เบื่อหน่ายเหมือนกัน แต่ว่าเบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งปัญญา ซึ่งเป็นทางให้ถึงสวรรค์ ตลอดจนถึงพระนิพพานก็ได้ นี่เป็นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง โทสะเป็นธรรมที่เกิดเร็ว ดุจไฟไหม้ฟางลุกโพลงขึ้นในทันใด ฝ่ายปัญญาก็เป็นธรรมที่เกิดเร็วเหมือนโทสะ คือเกิดสว่างจ้ารู้แจ้งขึ้นมาในทันใดนั้นเหมือนกัน

๑๑. โมหจริต กับ วิตกจริต ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ โมหะมีอาการสงสัยลังเลใจอยู่ ส่วนวิตกก็คิดแล้วคิดอีก อันเป็นอาการที่คล้ายกับลังเลไม่แน่ใจเช่นเดียวกัน

อีกประการหนึ่ง โมหะ มีอาการฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ส่วน วิตกก็คิดอย่างนี้ คิดอย่างนั้น แล้วก็คิดอย่างโน้น อันเป็นอาการคิดพล่านไปเช่นเดียวกัน ดังนี้จึงว่า มีความเสมอภาคกัน

๑๒. ผู้ใดมีจริตอย่างใด มีลักษณะที่พอจะอาศัยใช้เป็นเครื่องสังเกตอยู่ ๕ ประการ คือ

อิริยาบถ ได้แก่ การเดิน ยืน นั่ง นอน และอาการที่เคลื่อนไหวทำกิจการงานต่าง ๆ

กิจจะ ได้แก่ การงานที่ทำ

โภชนะ ได้แก่ อาหารที่บริโภค

ทัสสนะ ได้แก่ การดู การฟัง การดม การกิน การลูบไล้แต่งเนื้อแต่งตัว

ธัมมปวัตติ ได้แก่ ความเป็นไปต่าง ๆ เป็นต้นว่า ความประพฤติดีหรือเลว

ได้เขียนเป็นแบบบัญชีดังต่อไปนี้ เป็นการเปรียบเทียบกันไปในตัว เพื่อให้เห็นความแตกต่างกันได้ชัดกว่าเขียนอย่างธรรมดา และได้แสดงกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตนั้น ๆ ไว้ในช่องสุดท้ายด้วย

 ราคจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี แดง 

โทสจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี ดำ

โมหจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี หม่นเหมือนน้ำล้างเนื้อ 

วิตกจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี เหมือนน้ำเยื่อถั่วพู

สัทธาจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี เหลืองอ่อน คล้ายสีดอกกัณณิกา

พุทธิจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี ขาว เหมือนสีแก้วเจียรนัย


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...