ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

ที่เกิดวิปลาส คือ มีความเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิดขึ้นก็เพราะไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ที่ไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ก็เพราะมีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์อยู่ สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ คือ

.  สันตติ ปิดบัง อนิจจัง สันตติ คือ ความสืบต่อของรูปนามที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน จึงทำให้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของนามและของรูป ทำนองเดียวกับที่เห็นแสงไฟที่ธูป ซึ่งแกว่งหมุนเป็นวงกลมอย่างเร็ว ๆ ในที่มืด ๆ จึงทำให้เห็นไปว่าแสงไฟนั้นติดกันเป็นพืด เป็นวงกลมไปเลย ฉะนั้น เมื่อไม่เห็นความเกิดดับ ก็ทำให้เข้าใจผิดไปว่ารูปนามนี้ไม่มีการเกิดดับ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนเราเขา เป็นของสวยงามน่าชื่นชมยินดี ต่อเมื่อได้กำหนดจนเกิดปัญญาเห็นความดับไปของนามของรูปอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว จึงจะทำลายความวิปลาสที่เห็นว่าเที่ยงว่ายั่งยืน และประหาณ มานะได้

. อิริยาบถ ปิดบังทุกข์ อันความทุกขเวทนาทั้งหลาย ตามปกติเป็นส่วนมากนั้นเกิดจากอิริยาบถ เช่น นั่งมากก็เมื่อยเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแล้วทนอยู่ไม่ได้ เดินมากก็เมื่อยทนไม่ได้ ยืนมากก็ทนไม่ไหว แม้แต่นอนมากก็ลำบากทนอยู่ไม่ได้นานเหมือนกัน อิริยาบถเก่าเป็นทุกข์นั้นย่อมรู้เห็นกันทั่วไปได้โดยง่าย เมื่อนั่งนานก็เมื่อยทนไม่ได้จึงลุกเดิน ก็นึกว่าการเดินนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเมื่อย เดินนานหน่อยก็เหนื่อยทนไม่ได้อีกจึงนอน ก็นึกว่าการนอนนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเหนื่อย คือเห็นว่าอิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่นั้นเป็นสุข เพราะขณะที่เปลี่ยนใหม่ ๆ นี้ ทุกขเวทนายังไม่ทันเกิด แท้จริงอิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่ก็จะเป็นทุกข์อีกเหมือนกัน รวมความว่า หนีทุกข์เก่าไปสู่ทุกข์ใหม่นั้นเอง อิริยาบถเก่านั้นเห็นทุกข์ได้ง่าย เพราะทุกขเวทนากำลังมีอยู่ แต่อิริยาบถใหม่ก็ไม่สามารถพ้นทุกข์ไปได้ จะต้องสำแดงให้ทุกข์ปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอนไม่เร็วก็ช้า

อิริยาบถเก่าที่กำลังมีทุกข์เวทนาอยู่ เป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส อิริยาบถใหม่ที่นึกว่าเป็นสุขนั้นก็เป็นที่ตั้งแห่ง ตัณหา คือ อภิชฌา แต่ว่าการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เพื่อกำจัดอภิชฌา และโทมนัส ทั้งสองอย่าง

ที่กล่าวมานี้ เป็นการกล่าวถึงการเห็นทุกขเวทนา ซึ่งผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานย่อมจะเห็นทุกขเวทนาก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะทุกขเวทนาเป็นของหยาบ เห็นได้ง่าย ขั้นที่สอง จึงจะเห็นสังขารทุกข์ที่จะต้องถูกเบียดเบียนโดยความเกิดดับอยู่เป็นนิจ ต่อไปก็เห็น ทุกขลักษณะ คือ ความเกิดดับเป็นขั้นที่สาม และจะปรากฏทุกขสัจจ เป็นขั้นสุดท้าย

ทุกขเวทนา เห็นได้ในอิริยาบถเก่า เห็นสังขารทุกขได้ในอิริยาบถใหม่  เห็นทุกขลักษณะได้เมื่อกำหนดนามรูปจนสันตติขาด และจะเห็นทุกขสัจจ ได้ในสังขารุ เบกขาญาณที่แก่กล้า มีกำลังพอที่จะอนุโลมให้เห็น อริยสัจจ ทั้ง ๔ ได้

เมื่อเห็นทุกข์ ก็ทำลายวิปัลลาสธรรมที่เห็นว่าสุขว่าสบายนั้นได้ และประหาณตัณหาลงได้

. ฆนสัญญา ปิดบังอนัตตา ฆนสัญญา คือ ความสำคัญว่าเป็นก้อน เป็นแท่ง ความสำคัญว่าเป็นก้อนเป็นแท่งนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์ ที่ว่าเป็นคนก็สำคัญเอาหมดทั้งก้อนหมดทั้งแท่งนี้ว่าเป็นคน ถ้าย่อยก้อนนี้แท่งนี้ออกไปแล้ว ก็จะมีแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้นเอง หาสิ่งที่เป็นคนเป็นตนเป็นตัวนั้นไม่มีเลย ถ้ายังถือทั้งก้อนทั้งแท่งว่าเป็นคนอยู่ ก็ย่อมจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นของเที่ยง เพราะยั่งยืนอยู่นับสิบ ๆ ปี เป็นสุข เป็นสาระ สวยงามน่ารักน่าใคร่

เมื่อเห็นอนัตตา ก็ทำลายวิปลาสว่า เป็นตัวเป็นตนบังคับบัญชานั้นได้  และประหาณทิฏฐิลงได้

การทำลายสิ่งที่ปกปิดไตรลักษณ์ เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์นั้น มีวิธีเดียว คือ การกำหนดเพ่งรูปนามตามวิธีที่เรียกว่า เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่กำลังศึกษาอยู่บัดนี้


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...