ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

กัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริต

ผู้เจริญภาวนา จะต้องเลือกกัมมัฏฐานให้ถูกแก่จริตของตน จึงจะเป็นที่สบาย รู้ง่าย ได้ผลเร็ว ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค แสดงไว้ว่า

เริ่มต้นก็กล่าวถึง เสนาสนะที่อยู่อาศัยในการเจริญกัมมัฏฐานของผู้ที่มีราคจริตว่า เตียงตั่งที่นั่งที่นอน ต้องไม่สวย ไม่น่าดู ไม่เป็นที่สบาย ให้รกรุงรังสักหน่อยก็ได้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ควรใช้ของเก่า ๆ สีซีด ๆ มีขาดมีปะบ้างก็ยิ่งดี อาหารการกินก็จัดให้อย่างชนิดที่สีสรรไม่ชวนดู กลิ่นและรสก็เป็นอย่างที่ไม่นิยมยินดี สักแต่ว่าให้กินพอให้หนักท้องไปเท่านั้นเอง กัมมัฏฐานก็ต้องเป็นชนิดที่ไม่ให้เกิดความเพลิด เพลินยินดี ทั้งนี้เพราะเหตุว่าผู้ที่มีราคจริตย่อมชอบสิ่งที่สวยงามเป็นที่เจริญตาเจริญใจ เมื่อได้พบเห็นสิ่งที่สวยสิ่งที่งาม อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเพลิดเพลินแล้ว ราคะย่อมไหลไปตามอารมณ์นั้น ๆ ได้โดยง่าย จึงต้องให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม กามฉันทะจะได้ไม่เกิดมาทำให้เป็นเครื่องขัดขวางแก่การเจริญภาวนา

เสนาสนะของผู้เจริญกัมมัฏฐานที่มีโทสจริต ต้องเรียบร้อย สะอาด สวยงาม ประดับด้วยดอกไม้ของหอมด้วยก็ยิ่งดี ทุกสิ่งทุกอย่างต้องล้วนแล้วแต่สิ่งที่น่าดู น่าฟัง น่าสูดดม น่ารับประทาน น่าสัมผัสถูกต้อง จะได้ข่มไม่ให้โทสะเกิดขึ้นมาทำลายสมาธิเสีย

เสนาสนะของผู้ที่มีโมหจริต ควรให้เป็นสถานที่กว้างขวาง มีอากาศโปร่ง ได้รับแสงสว่างมาก ถ้าสถานที่แคบ อากาศทึบ แสงสว่างน้อย ก็จะทำให้ซึมเซา เหงาง่วง ไม่อยากพินิจพิจารณาอะไร ทำให้ขาดวิจารในการประหาณวิจิกิจฉา

เสนาสนะของผู้ที่มีวิตกจริต ไม่ต้องกว้างขวางใหญ่โต แม้จะกระเดียดไปข้างเล็กสักหน่อย ก็ไม่เป็นไร และให้เรียบๆ ไม่ต้องตกแต่งให้มีสิ่งที่ชวนชมชวนพิศ  มิฉะนั้นวิตกจะพล่านหนักขึ้น เมื่อไม่พล่านไปอื่น ก็จะวิตกอยู่แต่ในอารมณ์กัมมัฏฐาน

เสนาสนะของผู้ที่มีสัทธาจริต ก็เพียงขนาดกลาง ไม่ต้องกว้างใหญ่นัก แต่ก็อย่าให้เล็กจนเกินไป ทุกอย่างให้เป็นแต่เพียงกลาง ๆ แม้จะไม่น่าดู แต่ก็อย่าให้ถึงกับน่าเกลียด แม้จะไม่น่าฟัง แต่ก็อย่าให้ถึงกับหยาบคายร้ายกาจจนฟังไม่ได้ แม้แต่จะไม่หอม แต่ก็อย่าให้ถึงกับเหม็น เหล่านี้เป็นต้น ก็จะไม่ทำให้ถึงกับฟุ้งซ่านหรือก่อให้เกิดความรำคาญ คงมีสุขสบายพอควรแก่การเจริญภาวนาไปได้

โดยเฉพาะผู้ที่มีพุทธิจริตหรือปัญญาจริตนั้น มิได้เป็นที่ติดใจหรือห่วงใยในเสนาสนะใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากป่าและโคนไม้ อันเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ

ส่วนกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตนั้น เป็นดังนี้

. อสุภะ ๑๐ และโกฏฐาส คืออาการ ๓๒ ที่เรียกว่า กายคตาสติ ๑ รวมกัมมัฏฐาน ๑๑ นี้เหมาะสมแก่บุคคลผู้ที่มี ราคจริต

. วัณณกสิณ ๔ และ อัปปมัญญา ๔ รวมกัมมัฏฐาน ๘ นี้ เหมาะสมแก่ผู้มี โทสจริต

. อานาปาณสติ ๑ ย่อมเหมาะสมแก่ผู้ที่มี โมหจริต และ วิตกจริต

. อนุสติ ๖ มี พุทธานุสติ เป็นต้นจนถึง เทวตานุสติ เหมาะสมแก่ผู้ที่มี สัทธาจริต

. มรณานุสสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ จตุธาตุ ววัตถาน ๑ รวมกัมมัฏฐาน ๔ นี้ เหมาะสมแก่ผู้ที่มี   พุทธิจริต

. ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ ภูตกสิณ ๔ อากาสกสิณ ๑  อโลก กสิณ ๑ และอรูปกัมมัฏฐาน ๔ รวมกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่างนี้ ย่อมเหมาะสมแก่บุคคลทั่วไป และแก่ทุกจริต

ในบรรดาสมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ นั้น เฉพาะกสิณ ๑๐ องค์กสิณ คือ ดวงกสิณสำหรับผู้ที่มีโมหจริต ต้องมีขนาดกว้างประมาณเท่าลานข้าว แต่สำหรับผู้ที่มีวิตกจริตมีขนาดเล็กเพียงเท่ากระด้งก็พอ

อนึ่ง ใน อภิธัมมาวตารอรรถกถา แสดงว่า

อสุภานิ ทสาหาร สญฺญา กายคตาสติ เทเวสุ นปวตฺตนฺติ ทฺวาทเสตานิ สพฺพทาฯ

กัมมัฏฐาน ๑๒ คือ อสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ กายคตาสติ ๑ ย่อมเจริญไม่ได้โดยประการใด ๆ ในเทวภูมิ ๖ ชั้น

หมายความว่า เทวดาทั้ง ๖ ชั้น เจริญกัมมัฏฐานได้เพียง ๒๘ เว้นอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ และ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ ทั้งนี้เพราะ

เทวดาเป็นส่วนมาก เมื่อจุติแล้วไม่มีซากศพเหลืออยู่ ร่างกายสูญหายไปเหมือนหนึ่งดับไฟ

เทวดาที่ยังไม่จุติ ส่วนของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ เป็นต้น ก็สวยสดงดงาม ไม่เป็นปฏิกูล

อาหารก็เป็นทิพย์ เป็นสุทธาโภชน์ บริโภคแล้วก็ไม่มีกาก

กัมมัฏฐาน ๒๘ ที่เทวดาพึงเจริญภาวนาได้นั้น คือ กสิณ ๑๐, อนุสสติ ๙ (เว้นกายคตาสติ), จตุธาตุววัตถานะ ๑, อัปปมัญญา ๔, และอรูปกัมมัฏฐาน ๔

ตานิ ทฺวาทสเจตานิ อานาปาณสฺสติ ปิจ เตรส จ ปเนตานิ พฺรหฺมโลเก นวิชฺชาเร ฯ

กัมมัฏฐาน ๑๓ คือ กัมมัฏฐาน ๑๒ ที่เจริญไม่ได้ในเทวภูมิ และอานาปาณสติ ๑ ย่อมไม่มีในรูปภูมิ

มีความหมายว่า ในรูปพรหม ๑๕ ชั้น (เว้นอสัญญสัตตา) เจริญกัมมัฏฐานได้เพียง ๒๗ เพราะอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ อานาปาณสติ ๑ รวม ๑๓ อย่างนี้ ไม่มีในรูปพรหม ๑๕ ชั้นนั้น ด้วยเหตุว่าส่วนของร่างกายแห่งพรหมทั้งหลายนั้น ไม่เป็นปฏิกูล และเมื่อจุติแล้วก็ไม่มีซากศพเหลืออยู่เช่นเดียวกับเทวดา นอกจากนั้น พรหมก็มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องบริโภคข้าวปลาอาหาร และไม่มีลมหายใจด้วย

ฐเปตฺวา จตุรารุปฺเป นตฺถิ กิญฺจิ อรูปิสุ มนุสฺสโลเก สพฺพานิ ปวตฺตนฺติ น สํสโย ฯ

ในอรูปภูมินั้น นอกจากอรูปกัมมัฏฐาน ๔ แล้ว กัมมัฏฐานอื่น ๆ อย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมไม่มีทั้งนั้น

ส่วนในมนุษย์ภูมิ ย่อมเจริญกัมมัฏฐาน ๔๐ ได้ โดยไม่ต้องสงสัยเลย



จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...