ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค
หน้าที่
: 1 2
3 4 5 6 7
8 9 10 11 12
13 14 15 16 17
18 19 20 21 22
23 24 25
26 27 28 29 30 31 32
33 34 35 36 37 38 39
40 41 42 43 44 45 46
47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57
58 59 60 61 62 63 64
65 66 67 68 69 70 71
72 73 74 75
76 77 78 79 80 81
82 83 84 85 86 87 88 89
90 91 92 93 94 95 96 97 98 99 100
101 102 103 104 105 106 107 108
109 110 111 112 113 114 115 116 117
118 119 120 121 122
123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม
ลำดับของบารมี
ตอนที่กล่าวถึงเนกขัมมบารมีอันเป็นลำดับที่
๓ นั้นได้กล่าวว่าเนกขัมมบารมี
เป็นหัวใจแห่งบารมี ๑๐ ทัส
ก็น่าจะสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ยกหัวใจขึ้นมาแสดงก่อนเป็นลำดับแรก
แต่แสดงทานบารมีและสีลบารมีก่อนเป็นลำดับที่
๑ และ ๒ ที่เป็นเช่นนี้
ก็ด้วยเหตุว่า
บุคคลทั้งหลาย
ย่อมมีความตระหนี่เป็นนิสสัยสันดานด้วยกันทั้งนั้น
ต่างกันแต่ว่ามีมากหรือน้อย
การสร้างบารมีต้องทำลายความตระหนี่ให้ลดลงเสียก่อนดังนั้นจึงได้ทรงยกเอาทาน
เป็นปฐมบารมี
การบริจาคทานนี้เองทำให้จิตน้อมเข้าหาสีลธรรมจรรยา
ประพฤติปฏิบัติตนให้มีกิริยา
วาจาตามปกติ
ไม่เป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนวุ่นวาย
ดังนี้จึงได้ทรงเทสนา สีล
เป็นลำดับที่ ๒
เมื่อได้รักษาสีลไม่มีด่างพร้อยแล้ว
ก็จะเกิดความสงบ
ทำให้ตระหนักในความสับสนยุ่งยากของความเป็นอยู่ในโลก
จึงคิดใคร่จะหลีกปลีกตัวให้พ้นจากความโกลาหลนั้น
ๆ พระพุทธองค์จึงทรงแสดง
เนกขัมมะ เป็นลำดับที่ ๓
การใคร่หนีให้พ้นจากความสับสนยุ่งยาก
จะมั่นคงอยู่ได้ก็ต้องมีปัญญาเข้าไปแจ้งในความจริงนั้น
ๆ จึงทรงเทสนา ปัญญาบารมี
ในลำดับที่ ๔
ปัญญาที่เข้าไปแจ้งในความจริงนั้น
ต้องประกอบด้วยความเพียรเป็นอย่างมาก
ขนาดที่ถึงเนื้อจะเหือดเลือดจะแห้ง
จนเหลือแต่เพียงหนัง เพียงเอ็น
เพียงกระดูก
ก็ไม่ละจากความเพียรที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น
จึงได้ทรงเทสนา วิริยะ
เป็นลำดับที่ ๕
แม้จะเปี่ยมไปด้วยความพากเพียรดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
หากขาดความอดทน
ไม่ประกอบด้วยความอดทนแล้ว
ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้จึงทรงยก ขันติ
มาแสดงเป็นลำดับที่ ๖
ความอดทนจะตั้งมั่นอยู่ได้โดยไม่โยกคลอน
ในเมื่อถูกปฏิปักษ์ธรรมเข้าเบียดเบียนนั้น
ย่อมต้องอาศัยความสัตย์ซื่อ
ถือมั่นว่าจะเว้นจากความชั่ว
อันเป็นปฏิปักษ์ที่ทำให้คลายความอดทน
คลายจากคุณงามความดีทั้งหลาย
จึงทรงเทสนา สัจจะ เป็นลำดับที่ ๗
สัจจธรรม
ก็จะมั่นคงอยู่ได้ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าอย่างแน่นอน
ไม่ปรวนแปรไปเป็นอื่น
จึงทรงแสดง อธิฏฐานบารมี
เป็นลำดับที่ ๘
การตั้งความปรารถนาอันแรงกล้าแน่นอน
จะยืนยงอยู่ได้
ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่จะทำให้เกิดความวู่วามนั้น
ย่อมต้องอาศัยความไม่โกรธเป็นหลัก
จึงทรงเทสนา เมตตาเป็นลำดับที่ ๙
ความเมตตา
จะคงอยู่ได้อย่างไม่ขาดสายก็ต้องอาศัยความวางเฉยต่อเหตุการณ์ของโลกเป็นเครื่องสนับสนุน
ไม่ให้เอนเอียงไปในฝ่ายนั้นฝ่ายนี้
พระพุทธองค์จึงทรงแสดง
อุเบกขาบารมี เป็นลำดับที่ ๑๐
อันเป็นลำดับสุดท้าย
บารมีทั้ง
๑๐ ประการนี้ ย่อมต่อเนื่องกัน
ไม่ขาดจากกันไปได้
และไม่จำต้องเริ่มบำเพ็ญทานก่อน
ดังที่ท่านปรมัตถทีปนีฎีกาจารย์ได้ขยายอรรถาธิบายของท่านอรรถกถาจารย์ว่า
กุสลกรรมใดที่กระทำด้วย สมฺปชานกต
คือเกิดมีปัญญาแจ้งในผลบุญแล้ว
บารมีทั้ง ๑๐ ทัส
ย่อมบริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง
โดยไม่จำต้องคำนึงว่าต้องเริ่มด้วย
ทานบารมีก่อน และได้ยก มหากปิชาดก
คือ พญาวานรโพธิสัตว์
ที่ได้ช่วยชีวิตพราหมณ์หน่อเทวทัต
นั้นมาประกอบด้วย
ดังมีเรื่องโดยย่อว่า
ในสมัยหนึ่ง
พราหมณ์หน่อเทวทัต
ได้ตามหาโคที่หาย
จนหลงไปในป่าลึก หาทางออกไม่ได้
มีความหิวโหยเป็นกำลัง
ไปพบต้นอินทผลัมกำลังมีผลสุก
จึงปีนขึ้นไปบนต้น
เพื่อเก็บผลสุกมาแก้หิว
ด้วยความรีบร้อนจึงพลัดตกจากต้นอินทผลัมและหล่นลงไปในเหว
ขึ้นไม่ได้
พญาวานรโพธิสัตว์ผ่านไปทางนั้น
เห็นพราหมณ์ตกลงไปในเหวลึก
ก็มีความสงสาร
รับปากว่าจะช่วยให้ขึ้นมาจากเหว
และนำไปส่งให้พ้นป่าลึกจนถึงต้นทางที่จะกลับบ้าน
ก่อนที่จะนำพราหมณ์ขึ้นมาจากเหว
ด้วยปฏิภาณอันเฉียบแหลม
ได้ลองกำลังของตน
ด้วยการแบกก้อนหินที่มีน้ำหนักพอ
ๆ กับพราหมณ์กระโดดดูก่อน
เมื่อได้นำพราหมณ์ขึ้นจากเหวลึกได้แล้ว
ก็มีความอ่อนเพลีย
เพราะต้องใช้กำลังมาก
จึงขอให้พราหมณ์ช่วยพิทักษ์ตนเพื่อจักได้นอนเอาแรงสักงีบหนึ่ง
แล้วล้มตัวหลับบนตักพราหมณ์
พราหมณ์กลับคิดร้าย
หมายจะเอาเนื้อลิงไปกำนัลแก่ภรรยา
ก็คว้าก้อนหินมาทุบศีรษะพญาวานรที่กำลังหลับอยู่บนตักของตน
แต่ทุบพลาดไปไม่ถูกเหมาะ
พญาวานรจึงไม่ถึงแก่ความตาย
แต่ก็ศีรษะแตกเลือดไหลอาบไปทั่วร่าง
แม้กระนั้นพญาวานรก็มิได้มีจิตโกรธเคือง
ทั้งไม่ละเลยวาจาสัตย์ที่ได้กล่าวไว้
คงนำพราหมณ์ออกจากป่าลึกมาส่งจนถึงต้นทางที่จะกลับ
ชาดกเรื่องนี้
พึงเห็นได้ว่า
พญาวานรโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบุญบารมีครบทั้ง
๑๐ ทัส กล่าวคือ
ความเมตตาปรานีต่อพราหมณ์ที่ตกอยู่ในเหวลึกนั้น
ได้ชื่อว่า
เมตตาบารมี
ก่อนที่จะนำพราหมณ์ขึ้นมาจากเหว
พญาวานรได้ทดสอบกำลังของตนก่อนนั้น
เป็นการใช้ปัญญา
เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ
นับว่าได้สร้างสม ปัญญาบารมี
ด้วยปณิธานที่จะให้พราหมณ์ได้พ้นขึ้นมาจากเหว
ต้องใช้ความเพียรไม่ใช่น้อย
จึงเป็นการสร้าง วิริยบารมี
การถูกทำร้ายในขณะที่กำลังหลับ
และผู้ทำร้าย
ก็คือผู้ที่ตนได้ช่วยด้วยความเมตตา
และพากเพียรนั้นเอง
ถึงกระนั้นพญาวานรก็หาได้โกรธเคือง
กลับอดทนต่อความเจ็บปวดไว้ได้
ดังนี้เป็น ขันติบารมี
และยังวางเฉยต่อเหตุการณ์ที่ผ่านไปเหมือนหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ก็ได้ชื่อว่าเป็น
อุเบกขาบารมี
ได้นำพราหมณ์ออกจนพ้นจากป่า
ทั้ง ๆ ที่เลือดตกยางออกเช่นนี้
เป็นการเสียสละเป็นการให้อภัยที่ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้
ดังนี้เป็น ทานบารมี
ตลอดเวลานับแต่ถูกทำร้ายเป็นต้นมา
พญาวานรไม่ได้เอ่ยวาจาหรือแสดงกิริยาท่าทางส่อไปในทางตัดพ้อต่อว่าเลย
คงรักษากายวาจาไว้ได้อย่างปกตินับว่าเป็น
สีลบารมี
ความไม่โกรธ
ไม่ตัดพ้อต่อว่า
คงรักษากายวาจาได้เป็นปกติ
ก็เป็นอันว่าตลอดเวลานั้น
พ้นจากกิเลสกาม
อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง
จึงเป็น
เนกขัมมบารมี
ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าอย่างแน่นอน
ในอันที่จะนำส่งพราหมณ์ให้พ้นจากป่าเช่นนี้เป็น
อธิฏฐานบารมี
การกระทำที่สมกับวาจาที่ได้ลั่นไว้ว่า
จะช่วยให้ขึ้นจากเหว
พาส่งให้พ้นจากป่านั้น เรียกว่า
สัจจบารมี
จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ