ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

ทิฏฐิวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๓ ถ้ากล่าวโดยโสฬสญาณแล้ว ทิฏฐิ   วิสุทธิ ก็ได้แก่ ญาณต้น ที่มีชื่อว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ ๑ ในจำนวนญาณทั้งหมดซึ่งมี ๑๖ ญาณ มีคาถาที่ ๒๑ แสดงว่า

๒๑.  ปญฺญาย   ภาวนาโยคํ  กุรุมาโน  ตทุตฺตริ  สมฺมเทว  นามรูปํ    ปริคฺคหํ ลกฺขณาทิโต สงฺขารมตฺตโต ทิสฺวา ฐิโต ทิฏฺฐิวิสุทฺธิยํ ฯ

ประกอบความพากเพียร ในการเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น (ยิ่งไปกว่า สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ) กำหนดจนเห็นขึ้นมาเองแห่งลักษณะเป็นต้น ของรูปนามทั้งสองโดยชอบ คือเห็นสักแต่ว่าเป็นสังขารธรรมดังนี้ ได้ชื่อว่าตั้งอยู่แล้วในทิฏฐิวิสุทธิ มีความหมายว่า

. พระโยคีที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนถึง สีลวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิแล้ว ต่อจากนั้น ก็เป็นกำลังที่จะให้ถึง ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งทิฏฐิ ซึ่งเป็นลำดับที่ ๓ แห่งวิสุทธิมัคค และเป็นกำลังที่จะส่งให้ถึง นามรูปปริจเฉทญาณ คือ เห็นแจ้งในรูปและนาม ซึ่งเป็นญาณที่ ๑ แห่ง โสฬสญาณ

. ที่ว่าเห็นแจ้งในรูปและนามนั้น มีบาลีว่า ลกฺขณ รส ปจฺจุปฏฺฐาน ปทฏฺฐาน วเสน นามรูปปริคฺคโห ทิฏฺฐิวิสุทฺธินาม การกำหนดรู้รูปนามด้วยสามารถ แห่งลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน นั้นชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ คือจะต้องเห็นแจ้งในลักขณาทิจตุกะแห่งรูปนาม จึงจะได้ชื่อว่า เห็นแจ้งในรูปนาม 

ลักขณาทิจตุกะ ของรูป (ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท)

() รุปฺปนลกฺขณํ                         มีการสลาย แปรปรวน เป็นลักษณะ

() วิกิรณรสํ                   มีการแยกออกจากกันได้ (กับจิต) เป็นกิจ

() อพฺยากตปจฺจุปฏฺฐานํ           มีความเป็นอพยากตธรรม เป็นอาการปรากฏ

() วิญฺญาณปทฏฺฐานํ                 มีวิญญาณ เป็นเหตุใกล้

ลักขณาทิจตุกะของนามจิต (ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท)

() วิชฺชานนลกฺขณํ                    มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ

() ปุพฺพงฺคมรสํ                เป็นประธานแก่เจตสิกและรูป เป็นกิจ

() ปฏิสนฺธิปจฺจุปฏฺฐานํ         มีการสืบต่อระหว่างภพเก่ากับภพใหม่ เป็นอาการปรากฏ

() สงฺขารปทฏฺฐานํ                     มีสังขาร ๓ เป็นเหตุใกล้

(วา) วตฺถารมฺมณํ ปทฏฺฐานํ   หรือ มีวัตถุกับอารมณ์ เป็นเหตุใกล้

ลักขณาทิจตุกะของนามเจตสิก (ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท)

() นมนลกฺขณํ                          มีการน้อมไปสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ

() สมฺปโยครสํ                        มีการประกอบกับจิต และประกอบกันเองโดยอาการ เอกุปฺปาท เป็นต้น เป็นกิจ

() อวินิพฺโภคปจฺจุปฏฺฐานํ         มีการไม่แยกออกจากจิต เป็นอาการปรากฏ

() วิญฺญาณปทฏฺฐานํ                 มีวิญญาณ เป็นเหตุใกล้

. ที่ว่ากำหนดรู้รูปนามด้วยสามารถแห่งลักขณาทิจตุกะนั้น แม้จะรู้ไม่ครบหมดทั้ง ๔ ประการก็ตาม เพียงแต่รู้อย่างใดใน ๔ ประการนั้นสักอย่างเดียว ก็ได้ชื่อว่า รู้แล้ว

แต่ว่าในลักขณาทิจตุกะนี้ ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ หรือผลปรากฏ เป็นการที่สำคัญกว่าเพื่อน จึงเป็นประการที่ควรจักต้องรู้โดยแท้

. ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจไว้อย่างแน่นอนว่า การเจริญวิปัสสนาภาวนา นั้นต้องมี ปรมัตถอารมณ์ เป็นกัมมัฏฐาน จะมีอารมณ์เป็นบัญญัติหรือเอาบัญญัติมาเป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนา หาได้ไม่

ปรมัตถอารมณ์ ที่จะต้องพิจารณาให้เห็นแจ้งเป็นประเดิมเริ่มแรกก็คือ รูปนาม การที่จะให้เห็นแจ้งใน รูปนาม ก็ต้องดำเนินการตามนัยแห่ง สติปัฏฐาน วิธีเดียว จะดำเนินการอย่างอื่นใดให้ปรากฏรูปนาม ตามสภาพแห่งความเป็นจริงนั้น หาได้ไม่

สติปัฏฐานนั้นก็ได้จำแนกพิจารณาไว้เป็น ๔ ประการ คือ

. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งกาย อันหมายถึงที่ประชุมแห่งรูป คือ รูปขันธ์ แจกแจงได้เป็น ๑๔ บัพพะ

. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งเวทนา อันหมายถึง ความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นสุข คือ เวทนาขันธ์ แจกแจงได้เป็น ๙ บัพพะ

. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งจิต อันหมายเฉพาะความรับรู้อารมณ์ที่เป็นโลกีย คือ วิญญาณขันธ์ แจกแจงได้เป็น ๑๖ บัพพะ

. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งธรรม อันหมายรวมทั้งรูปทั้งนาม แจกแจงได้เป็น ๕ บัพพะ คือ ขันธ์ ๕ , นิวรณ์ ๕, อายตนะ ๑๒, โพชฌงค์ ๗, อริยสัจจ ๔

มีรายละเอียดพอประมาณ แจ้งอยู่แล้วในคู่มือการศึกษา ปริจเฉทที่ ๗ ตอน สติปัฏฐาน ขอให้ทบทวนดูที่นั่นด้วย

. ในชั้นต้นต้องพิจารณา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติตั้งมั่นในการพิจารณารูปก่อน กำหนดดูทั้งรูปที่เกิดจากอิริยาบถใหญ่ อันได้แก่ เดิน ยืน นั่ง นอน และอิริยาบถย่อย อันได้แก่ การเคลื่อนไหวกายทำการงานต่าง ๆ ทุกอย่างที่ให้ดูรูปเหล่านี้ก่อน ก็เพราะรูปเหล่านี้เป็นของหยาบ เห็นได้ง่ายกว่ารูปอื่น ๆ

การดูก็จะต้องดูด้วยความมีสติสัมปชัญญะ คือ ให้รู้ตัวอยู่ทุกขณะจิตว่า ขณะนี้กำลังดูรูปอะไร อย่าให้เผลอไปนึกคิดอะไรอื่นเสีย

อิริยาบถใหญ่ คือ อิริยาบถบัพพะ อิริยาบถย่อย คือ สัมปชัญญบัพพะ เหล่านี้เป็นรูปทั้งนั้น จิตที่รู้อาการต่าง ๆ แห่งอิริยาบถเหล่านี้เป็นนาม

. ในขณะที่กำลังกำหนด กำลังพิจารณาอิริยาบถต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ อาจเกิด เวทนา ปรากฏขึ้นมา เช่น นั่งนานไปหน่อยก็เมื่อย หรือมีตัวแมลงมากัดต่อยเจ็บปวด ทำให้เกิดทุกขเวทนา ก็ให้มากำหนดในเวทนาที่กำลังปรากฏอยู่ อันเป็นการพิจารณาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนาที่กำลังปรากฏอยู่นั้นเป็นนาม(นามเจตสิก), จิตที่รู้เวทนานั้นก็เป็นนาม (นามจิต), หทยวัตถุอันเป็นที่อาศัยให้จิตเจตสิกเกิดนั้นเป็นรูป ถ้าเวทนานั้นปรากฏเกิดที่กาย กายที่เวทนาเกิดนั้นก็เป็นรูป

. ในขณะที่กำหนดอิริยาบถต่าง ๆ อยู่นั้น อาจมีรูปารมณ์มาปรากฏเฉพาะหน้า ก็ให้มากำหนดในการเห็น อันเป็นการพิจารณา จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

การกำหนดการเห็นนั้น ให้รู้แค่เห็น อันเป็นปรมัตถเท่านั้น ไม่ให้คิดเลยไปว่า รูปที่เห็นนั้นเป็นอะไร อันจะเป็นบัญญัติไป เพราะการเจริญวิปัสสนาภาวนาเพื่อให้เห็นแจ้งรูปนามอันเป็นปรมัตถ ไม่ได้มีความประสงค์จะให้รู้บัญญัติ ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อ ๔ ข้างต้นนี้

สิ่งที่เห็นนั้นเป็นรูปและเป็นธรรมภายนอก มากระทบประสาทตาอันเป็นรูปเหมือนกัน แต่เป็นธรรมภายใน จึงทำให้เกิดการเห็นขึ้น การเห็น คือ จักขุวิญญาณนี้เป็นนาม จิตที่รู้ว่าเห็นก็เป็นนาม

. ถ้ามีเสียงมาปรากฏเฉพาะหน้า ก็ให้กำหนดในการได้ยิน และให้รู้แค่ได้ยินเสียงเท่านั้น ไม่ให้คิดรู้เลยไปว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร พูดเรื่องอะไร ทั้งนี้เพื่อจะได้เกิดปัญญาให้รู้ว่า เสียงเป็นรูปภายนอกมากระทบประสาทหูอันเป็นรูปภายใน จึงทำให้ได้ยิน คือ เกิดโสตวิญญาณ อันเป็นนาม จิตที่รู้ว่าได้ยินก็เป็นนาม

. ถ้ามี คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ มาปรากฏเฉพาะหน้า ก็ให้กำหนด ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ตามควรแก่กรณี ทำนองเดียวกับ รูปารมณ์ สัททารมณ์ ที่กล่าวมาแล้วนั้น

๑๐. มีข้อที่ควรกล่าวตรงนี้ เช่น การกำหนดทางกายทวารนั้น ถ้ากำหนด พิจารณา กายวิญญาณก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายวิญญาณเป็นนาม กายปสาท ที่เป็นที่ตั้งเป็นที่เกิดแห่งกายวิญญาณนั้นเป็นรูป

ถ้ากำหนดพิจารณาทุกข์สุขที่เกิดพร้อมกับกายวิญญาณนั้น ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาเป็นนาม กายปสาทอันเป็นที่อาศัยเกิดแห่งเวทนานี้ ก็เป็นรูป

ถ้ากำหนดพิจารณาสิ่งที่มากระทบ คือ โผฏฐัพพารมณ์ อันได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งเป็นรูปขันธ์ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โผฏฐัพพารมณ์ที่มา กระทบก็ดี กายปสาทที่รับกระทบก็ดี เป็นรูป จิตที่รู้กระทบนั้นเป็นนาม

ถ้ากำหนดพิจารณาการกระทบถูกต้อง คือ ผัสสะ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผัสสก็ดี จิตที่เกิดพร้อมกับผัสสะก็ดี เป็นนาม กายปสาทที่เป็นที่อาศัยที่เกิดแห่งกายวิญญาณและเจตสิกนี้เป็นรูป

๑๑. บางทีในเวลาที่กำหนดพิจารณาอิริยาบถอยู่ จิตอาจเลื่อนลอยไปคิดอะไรอื่นที่ไม่ใช่อิริยาบถที่กำหนด ซึ่งเรียกว่าฟุ้งไปก็ดี หรือว่าเกิดท้อใจน้อยใจ ที่ได้พยายามกำหนดมาเป็นหนักหนา ก็ยังไม่ได้เห็นธรรมอะไรสักอย่าง อันเป็นการเกิดโทสะขึ้นมาก็ดี หรืออยากรู้อยากเห็นธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ อันเป็นโลภะก็ดี

ถ้ากำหนด จิตที่ฟุ้ง จิตที่เป็นโทสะ จิตที่มีโลภะ ก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้ากำหนดดู ความฟุ้ง ความไม่พอใจ ความอยากได้ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตฟุ้ง โทสจิต โลภจิต เป็นนาม (นามจิต) ความฟุ้ง ความไม่พอใจ ความอยากได้เป็นนาม (นามเจตสิก) หทยวัตถุอันเป็นที่อาศัยให้เกิด จิตเจตสิก เหล่านี้นั้น เป็นรูป

๑๒. อาจกล่าวได้ว่า อันการกำหนดพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต ก็ได้ชื่อว่าพิจารณาธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไปด้วยในตัว เพราะกายหมายถึงรูป รูปก็เป็นธรรม เวทนาก็เป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งนั้น ไม่พ้นไปจากธรรมเลย

๑๓. การที่ให้รู้ตัวทุกขณะจิตว่าขณะนี้กำลังดูรูปอะไรอยู่ ดูนามอะไรอยู่ ก็เพื่อให้จิตใจจดจ่อตั้งสติอย่างมั่นคงในการพิจารณารูปนามเหล่านั้น จะได้ไม่แส่ไปคิดเรื่อง โลภ โกรธ หลง อันรวมเรียกสั้น ๆ ว่าจะได้ไม่เกิดอภิชฌา และโทมนัส เพราะการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อปิดกั้น หรือทำลาย อภิชฌา และโทมนัส นี่เอง  ดังนั้นการกำหนดดูรูปนามก็จะต้องดูด้วยความ ไม่ยินดี และไม่ยินร้ายด้วย ถ้าเกิดความยินดีมีความปรารถนาว่าคงเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้มาให้เห็นก็ดี เกิดความยินดีติดใจในรูปนามนั้นก็ดี ก็เป็นอภิชฌา แต่ถ้าเกิดความน้อยใจขึ้นมา ว่าได้กำหนดดูอยู่นานแล้ว ก็ไม่ปรากฏธรรมอะไรขึ้นมาให้เห็นเสียบ้างเลยก็ดี เกิดความไม่ชอบใจในรูปในนามนั้นก็ดี ก็เป็นโทมนัส อันไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน

๑๔. ครั้นสติตั้งมั่นในการพิจารณารูปนามดังกล่าวแล้ว ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาเองว่า รูปเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างใด และนามที่น้อมไปรู้รูปนั้นเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างใด เป็นการเห็นอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแห่งสภาพของรูปธรรมนามธรรม ว่าเป็นคนละสิ่งคนละส่วน หาใช่เป็นสิ่งเดียวกันไม่ โดยไม่ได้คิดเอา เดาเอา อนุมานเอาเอง แต่เป็นการเห็นอย่างแจ้งประจักษ์

๑๕. เมื่อเห็นประจักษ์ในรูปนาม ก็ทำให้คลายความเห็นผิดอันติดสันดานมาสิ้นเอนกอนันตชาติในสังสารวัฏฏ ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาลงได้ เห็นเช่นนี้ได้ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นความเห็นอันบริสุทธิถูกต้อง จัดเป็นญาณต้น คือ นามรูปปริจเฉทญาณ แห่งโสฬสญาณ

๑๖. ที่เห็นได้ถึงเช่นนี้ไม่ใช่ง่ายเลย เพราะจิตใจที่ยังไม่ได้ฝึกอบรมนั้น มักจะมีอาการ ๓ อย่าง คือ

. ประเปรียว ชอบเที่ยว ไม่อยู่นิ่ง

. เบื่ออารมณ์ง่าย ใคร่แต่อารมณ์ใหม่ ๆ เสมอ

. บังคับไม่ได้ ยิ่งบังคับยิ่งฝ่าฝืน

แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าได้ตั้งใจฝึกฝนอบรมจริง ขนาดเนื้อจะเหือด เลือดจะแห้ง เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ไม่ยอมท้อถอย

อนึ่ง ทิฏฐิวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญา ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เพราะเป็นปัญญาที่เกิดจาก วิปัสสนาภาวนา ซึ่งสามารถละ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตนเสียได้


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...