ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

นิพพิทาญาณ

นิพพิทาญาณ เป็นญาณที่ ๘ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๕ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

เมื่อเห็นรูปนามเป็นภัยและเป็นโทษด้วยประการต่าง ๆ ทั้งพิจารณาเห็นซ้ำเห็นซากอยู่อย่างนี้ ก็ยิ่งเห็นภัย เห็นโทษชัดขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดความเบื่อหน่ายต่อรูปนามทั้งปวง

การเบื่อหน่ายต่อรูปนาม มีชื่อว่า นิพพิทาญาณ นี้เป็นการเบื่อหน่ายอันเกิดจากปัญญาที่เห็นแจ้งถึงภัยและโทษ ของสังขารรูปนามทั้งปวง มิใช่เบื่อหน่ายในอารมณ์อันไม่เป็นที่น่ารักที่น่าชื่นชมยินดี หรืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจ อันเนื่องด้วยโทสะ เพราะความเบื่อหน่ายอันเนื่องจากโทสะนั้นเป็นการเลือกเบื่อหน่าย สิ่งใดที่ไม่ชอบก็เบื่อหน่าย แต่สิ่งใดที่ยังชอบอยู่ก็ไม่เบื่อหน่าย เวลาอิ่มก็เบื่อหน่าย แต่เวลาหิวก็ไม่เบื่อหน่าย เช่นนี้เป็นต้น แต่ว่าการเบื่อหน่ายด้วยปัญญา เป็นการเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง ไม่ใช่เลือกเบื่อบ้างไม่เบื่อบ้าง เหมือนอย่างเนื่องด้วยโทสะ นิพพิทาญาณนี้เบื่อหน่ายต่อสังขารรูปนามในทุก ๆ ภูมิ ไม่ใช่เลือกเบื่อหน่ายเฉพาะอบายภูมิ แต่ภูมิในสวรรค์ไม่เบื่อหน่าย ที่เบื่อหน่ายสังขารรูปนามในทุก ๆ ภูมิ ก็เพราะสังขารรูปนามไม่ว่าจะอยู่ในภูมิไหน ก็เป็นภัย เป็นโทษทั้งนั้น

เมื่อเบื่อหน่ายในรูปนาม จึงปลงใจขะมักเขม้นในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นเครื่องนำออกจากสังสารทุกข์ มุ่งไปสู่สันติสุข คือพระนิพพาน

นิพพิทาญาณ ปัญญาที่เบื่อหน่ายต่อสังขารรูปนามนี้ สามารถละ อภิรติสัญญา สัญญาที่เพลิดเพลินเสียได้

อนึ่ง ภยญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นภัย อาทีนวญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นโทษ และนิพพิทาญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย รวม ๓ ญาณนี้ เป็นสภาพเดียวกัน เป็นอรรถอันเดียวกัน คือ

เป็นภัย                ก็เพราะไม่ดี             ชั่ว       มีโทษ      ควรเบื่อหน่าย

เป็นโทษ               ก็เพราะไม่ดี             ชั่ว       มีภัย       ควรเบื่อหน่าย

ที่เบื่อหน่าย             ก็เพราะไม่ดี             ชั่ว       มีภัย       มีโทษ

ดังมีบาลีว่า ยาจ ภย ตุปฏฺฐานปญฺญา ยญฺจ อาทีนวญาณํ ยาจ นิพฺพิทา อิเม ธมฺมา เอกตฺถา พยญฺชนเมวนามํ

ภยญาณที่ได้เห็นเป็นภัยก็ดี อาทีนวญาณที่ได้เห็นเป็นโทษก็ดี นิพพิทาญาณที่เบื่อหน่ายก็ดี รวม ๓ ประการนี้ เป็นสภาพเดียวกัน เป็นอรรถเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อพยัญชนะเท่านั้น


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...